Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ให้ความเห็นต่อการสร้างทางจักรยานใต้ทางด่วน

ชมรมฯ ให้ความเห็นต่อการสร้างทางจักรยานใต้ทางด่วน

     เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้จัดการประชุมหารือขึ้นที่สำนักงาน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา “โครงการทางจักรยานในเขตทางพิเศษ” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้การเดินทางของประชาชนและช่วยลดปัญหาการจราจร และได้เชิญผู้แทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับทางจักรยานมาร่วมให้ข้อคิดเห็น (ผู้เข้าประชุมประมาณ ๑๕ คน) โดยมีนายพิภพ ฟู่เจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการ กทพ. ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงการฯ เป็นประธานในที่ประชุม  ชมรมฯ มีนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ เป็นผู้แทน และ กทม.ส่งคณะผู้แทนนำโดยนายบรรจง เหลืองรัตนมาศ ผอ. สำนักจราจรและขนส่ง (สจส.)

    ประธานที่ประชุมชี้แจงว่า กทพ.ต้องการใช้พื้นที่ใต้ทางด่วนที่ยังรกร้างว่างเปล่าให้เป็นประโยชน์และเห็นความสำคัญของการใช้จักรยานในการเดินทางจึงจะสร้างทางจักรยานขึ้น ขั้นแรกเป็นการทดลอง-นำร่อง จะสร้างเป็นระยะทาง ๔.๗ กิโลเมตร ใต้ทางพิเศษศรีรัช-ทางด่วนขั้นที่ ๒ จากถนนงามวงศ์วานถึงถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต.บางเขน และ ต.ท่าทราย อ.เมือง และ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยตั้งใจจะทำให้ดีให้เป็นแบบอย่างได้ กะให้เสร็จในห้าเดือนครึ่ง และได้ถามความเห็นผู้แทนชมรมฯ และ กทม.

    ผู้แทนชมรมฯ เสนอว่าควรทำเป็นทางจักรยานที่แยกต่างหากจากทางเท้าและถนนสำหรับยานยนต์ กว้างอย่างน้อย ๒.๕๐ เมตรสำหรับทางคู่ให้จักรยานแล่นสวนกันได้สะดวกปลอดภัย มีสัญญาณไฟแบบกดตรงจุดที่ตัดกับถนนและป้ายเตือนยานยนต์สำหรับถนนซอยย่อย  สะพานมีทางลาดที่เหมาะสม ไม่ชันเกินไป และมีป้ายจราจรตามที่สมควร  ประธานที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอ และเนื่องจากเขตทางกว้างถึง ๔๐ เมตร จึงจะให้มีทางเท้ากว้าง ๑.๕๐ เมตร และทางจักรยานยนต์กว้าง ๒.๕๐ เมตร คู่ขนานกันไปด้วย ห่างกัน ๕๐-๑๐๐ ซม.  ทางจักรยานจะมีพื้นผิวเป็นยางแอสฟัลท์ ยกสูงขึ้นหรือมีร่องด้านข้าง และมีราวเหล็กที่กว้างพอให้จักรยานผ่านได้เท่านั้น กั้นตรงปากทางเข้า-ออกถนนทุกแห่ง เพื่อไม่ให้จักรยานยนต์เข้ามาใช้

    ทางเจ้าหน้าที่ กทพ.ให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ ๑๕ ก.ค. ที่ผ่านมา เพิ่งมีบริษัทสองรายมาเสนอขอเช่าพื้นที่ใต้ทางด่วนบริเวณใกล้วัดบัวขวัญ ทำการค้า และจะสร้างสวนออกกำลังกาย พื้นที่จอดรถ และทางจักรยานด้วย  ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ทั้งสองบริษัทเสนอรายละเอียดมา

    อนึ่ง กทพ.ได้ยกพื้นที่ใต้ทางพิเศษศรีรัช-ทางด่วนขั้นที่ ๒ ช่วงซอยศาสนา ถนนพระรามที่ ๖ ถึงถนนพหลโยธิน ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ในเขตพญาไท ให้ กทม.ใช้ประโยชน์ไปตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ แล้ว จึงขอให้ กทม.ทำทางจักรยานด้วย

ภาพบรรยากาศการประชุม

รายงานโดย กวิน ชุติมา

25 กรกฎาคม 2556

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น