Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน-รักการเดิน จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก

ประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน-รักการเดิน จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ประจำจังหวัด ครั้งที่ 6 สำหรับจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกขึ้นที่ห้องประชุมโรงเรียนธรรมโชติศึกษาลัย อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมจาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขนส่งจังหวัด ตำรวจจราจร สภาทนายความ สถาบันการศึกษา สมัชชาสุขภาพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชมรมและสมาคมผู้ใช้จักรยานจังหวัดต่างๆ (ภาคกลางและภาคตะวันออก) เครือข่ายชมรมจักรยานฯ และทีมงานของชมรมฯ รวมทั้งสิ้น 124 คน

ผู้เข้าร่วมประชุมจากที่ต่างๆมาลงทะเบียนหน้างาน

เครือข่ายจักรยาน อปท. ตำรวจจราจรก็มาร่วม ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจในการประชุมเครือข่าย

               นายยุทธดนัย แจ่มศรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระอ.เดิมบางนางบวช ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมและแสดงความรู้สึกว่าเป็นเกียรติที่ชมรมฯ เลือกเขาพระเป็นที่จัดการประชุมครั้งนี้  จากนั้นศาสตราจารย์กิติคุณ ธงชัย พรรณสวัสดิ์  ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแนะนำชมรมฯ และโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยโดยอธิบายว่า ที่ชมรมฯ ส่งเสริมทั้งการเดินและการใช้จักรยานเนื่องจากแยกจากกันไม่ออก และการที่คนสามารถเดินและใช้จักรยานได้สะดวกและปลอดภัยทำให้เมืองน่าอยู่ โดยชมรมฯ มียุทธศาสตร์ 4 ประการคือ (1) สร้างชุมชนจักรยาน (2) ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเดินและการใช้จักรยาน (3) สร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน และ (4) สื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง  และได้อธิบายต่อถึงวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการประชุมเครือข่ายฯ ที่ผ่านมา องค์ประกอบของเครือข่าย และการผลักดันให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติผ่านมติเรื่อง “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ซึ่งต่อมาผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีรับทราบและมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ

นายยุทธดนัย แจ่มศรี นายกเทศมนตรีตำบลเขาพระอ.เดิมบางนางบวช ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม อ. ธงชัย พรรณสวัสดิ์  ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมฯ ได้กล่าวแนะนำชมรมฯ และโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย

ในการส่งเสริมการใช้จักรยานและการเดินนั้น ชมรมฯ มีทุนสนับสนุนสำหรับการร่วมสร้างเครือข่ายฯ การสร้างชุมชนจักรยาน และการศึกษาวิจัย  นอกจากนั้นชมรมฯ ยังเป็นผู้บริหารโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้ให้ทุนโดยตรงด้วย

จากนั้นก็ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งความเห็นหลายประการที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปฏิบัติ เช่น การซ่อมจักรยานเป็นประเด็นที่ผู้เข้าประชุมหลายคนพูดถึง โดยมีข้อเสนอให้เทศบาลและ อบต.ต่างๆ มีศูนย์ให้บริการซ่อมจักรยานทดแทนร้านซ่อมจักรยานที่หายไป, ให้ชมรมคนพิการที่ซ่อมรถเข็นได้ให้บริการซ่อมจักรยานด้วย, สอนให้ผู้ใช้จักรยานทุกคนดูแลและซ่อมจักรยานเป็นโดยพื้นฐาน เป็นต้น  ส่วนการสอนการใช้จักรยานในโรงเรียนควรเน้นไปที่ระดับประถมศึกษาซึ่งเด็กนักเรียนยังใช้จักรยานอยู่เพื่อปลูกฝังให้รักการใช้จักรยาน เพราะเมื่อขึ้นถึงระดับมัธยมแล้ว เด็กจะใช้จักรยานยนต์กันมาก การมาเริ่มสอนที่ชั้นนี้จะได้ผลน้อย  ชมรมฯ ควรส่งเสริมการใช้จักรยานในโรงเรียนด้วยการให้ทุนคล้ายรางวัลกับโรงเรียนที่มีนักเรียนใช้มากอยู่แล้ว และให้โรงเรียนต่างๆ ที่สนใจส่งเสริมการใช้จักรยานทำโครงการมาเสนอขอรับทุนได้

ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่ทางโครงการฯ กลุ่มที่ 3 สุพรรณบุรี/อยุธยา นำเสนอหลังจากระดมความคิดเห็นจากกลุ่ม องค์ประกอบ แนวทางการทำงานร่วมกัน ช่วงเวลานำเสนอ แต่ละกลุ่ม 3 นาที (ไม่มีทดเวลาบาดเจ็บ) อ.แชล่ม ใช้เวลาไปเพียงนาทีครึ่ง แต่ครบถ้วนเนื้อหา

ผู้เข้าประชุมเสนอว่า การแนะนำการใช้จักรยานควรจะใช้จักรยานธรรมดาๆ ที่เด็กและคนทั่วไปสามารถหาซื้อได้ ไม่ใช่เอาดารานักร้องที่ใช้จักรยานราคาแพงมาเป็นผู้นำเสนอ เพราะคนทั่วไปจะเห็นว่าไม่อาจทำตามได้ (ซึ่งอาจารย์ธงชัยได้เสริมว่าควรทำให้เห็นว่าจักรยานเป็นอุปกรณ์ธรรมดาที่สามารถดูแลและซ่อมแซมได้ง่าย), การสร้าง “ทางจักรยาน” ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม สร้างความร่วมมือของคนกลุ่มต่างๆ ตามเส้นทางที่ผ่านไป จึงจะใช้ได้จริง และควรขับเคลื่อนให้เป็นส่วนหนึ่งของ “ผังเมืองเพื่อสุขภาวะ” มีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การจำกัดความเร็ว การให้ความรู้

ในขณะที่เครือข่ายผู้ใช้จักรยานจังหวัดสุพรรณบุรีได้สรุปแนวทางการสร้างเครือข่ายฯ จากประสบการณ์ว่า ควรมีศูนย์กลางการติดต่อประสานงาน, มีภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ อปท. และ อสม., มีคณะกรรมการ, มีการจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนในพื้นที่, มีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย, มีหน่วยซ่อมเคลื่อนที่ไปตามหมู่บ้าน, และมีการสอนการใช้จักรยานให้เด็กนักเรียน

จากนั้นมีการแบ่งผู้เข้าประชุมเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่มตามพื้นที่กลุ่มจังหวัดที่อยู่ติดกัน ได้แก่ สุพรรณบุรี, สุพรรณบุรี-อยุธยา, สิงห์บุรี-สระบุรี-อ่างทอง, อุทัยธานี-ชัยนาท-ลพบุรี, นครปฐม-สมุทรสงคราม-ราชบุรี และกาญจนบุรี-เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นแนวทางการสร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน

ถ่ายรูปหมู่หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม

กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมฯ

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น