Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / Bikesiness เปิดขุมทรัพย์ธุรกิจสองล้อ

Bikesiness เปิดขุมทรัพย์ธุรกิจสองล้อ

Bikesiness เปิดขุมทรัพย์ธุรกิจสองล้อ

โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว

ใช้เวลาเพียง 3 ปี มูลค่าธุรกิจจักรยานขยับจาก 3 พันล้าน เป็นกว่า 5 พันล้าน โอกาสธุรกิจที่ไม่ใช่แค่กระแส แต่คือ Global Trend ที่มาแรงสุดๆ

มีอะไรน่าสนใจในตลาดจักรยาน ?

         ที่ผ่านมาเลยมีมวลมหาชนให้ความสนใจพวกมันอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นปรากฏการณ์ จักรยานฟีเวอร์ที่ทั้ง “ผู้ใช้” “ผู้ซื้อ” กระทั่ง “ผู้เล่น” ในตลาด เพิ่มขึ้น “เท่าทวี”“ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล”กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้จัดงาน BANGKOK BIKE 2014 ครั้งที่ 3 บอกเราว่า กระแสนิยมการปั่นจักรยานได้กลายเป็น “Global Trend” ที่มาแรงในปัจจุบัน เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “จักรยาน” เป็นตัวตอบโจทย์ ที่ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และไม่สร้างมลภาวะให้กับโลกที่มาของกระแสการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน จนมาสู่การปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ที่กำลังบูมสุดๆ ณ วันนี้ “เราทำการศึกษาภาพรวมตลาดจักรยานตั้งแต่ปี 2554-2556 พบว่า ธุรกิจโตขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 15-20% โดยปี 2556 มีมูลค่าตลาดรวม อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท”เขาบอกเค้กก้อนโต ที่แบ่งเป็น จักรยานระดับบนประมาณ 25% ที่เหลือคือตลาดแมส โดยในไทยมีผู้ใช้จักรยานมากถึง 2.25 ล้านคน ไม่ใช่แค่ครอบครัวละคัน แต่ตัวเลข ณ วันนี้ คือ แต่ละบ้านมีจักรยานในครอบครองถึง 2-3 คัน ต่อครอบครัว

         ขณะที่ภาพรวมตลาดจักรยานบ้านเรา พบว่า ไทยเป็นแหล่งผลิตจักรยานเพื่อการส่งออก ทั้งรับจ้างผลิตและผลิตในแบรนด์ตัวเอง เป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยานนำเข้าหลายแบรนด์ดัง รวมถึง จักรยานมือสองจากต่างประเทศ กระแสนิยมในจักรยาน ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวข้องตามมามากมาย ตั้งแต่ อะไหล่ อุปกรณ์เสริมตกแต่งรถจักรยาน (Accessories) เสื้อผ้า ธุรกิจและบริการที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสาวกจักรยานโดยเฉพาะ ฯลฯและที่ดูจะหอมหวานเอามากๆ ในยุคนี้ก็ต้องยกให้ “ท่องเที่ยวจักรยาน

ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวประมาณ 2.6 แสนคน (ปี พ.ศ. 2556) นิยมปั่นแบบไปเช้า-เย็นกลับ และแบบพัก 2 วัน 1 คืน มากที่สุด มีอัตราการออกทริปเฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 500-1,000 บาท/คน/วัน ซึ่งประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวโดยจักรยานในปีที่ผ่านมามูลค่าราว 900 ล้านบาท”

         “วิไลวรรณ ทวิชศรี” รองผู้ว่าการฝ่ายสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บอกตัวเลขการเติบโตของทัวร์สองล้อเมืองไทย ที่ไม่ธรรมดา และที่ต้องจับตาเอามากๆ ก็นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวในไทย

โดยปีที่ผ่านมา มีทั้งสิ้นกว่า 28,000 คน เบาะๆ เบาๆ ทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท!

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เลยเป็นอะไรที่ “หวาน” โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยวรูปแบบ “Exclusive Trip” ซึ่งเป็นที่นิยมของนักปั่นกระเป๋าหนักชาวต่างชาติ ที่แม้จะมีเพียง 10% แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของคนกลุ่มนี้ มากกว่า 5,000 บาท/คน/วัน นี่คือตลาดที่ไม่แค่น่าสนใจธรรมดา แต่ต้องบอกว่า น่าสนใจ “เอามากๆ”ใครจะคิดว่าทัวร์สองล้อบางทริป จะราคาสูงถึงหลักล้านบาท! ต่อคน “ผมเคยทำทัวร์ที่แพงสุด คือ คนละ 1.7 ล้านบาท”

ค่าบริการสุดตะลึง ! จากคำบอกเล่าของ “ธานินทร์ ฤตวิรุฬห์” เจ้าของธุรกิจท่องเที่ยวจักรยานแบบ “Exclusive Trip” และแบรนด์จักรยานท่องเที่ยวไทยแท้ “ฤ ไบซิเคิล” (Rit Bicycle) ที่ให้บริการนำเที่ยวจักรยานมาเกือบ 20 ปี เขาเปิดเผย ทริปฉบับ “เลอค่า” ที่เคยทำให้กับมหาเศรษฐีต่างชาติจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นลูกค้าที่เอเยนซีจากแคนาดาส่งมาให้ โดยจัดเป็น ทริป 15 วัน สำหรับทัวร์จักรยานไฮโซในเมืองไทย

“เขานั่งเครื่องบินเจ็ทส่วนตัวมาเลยนะ เอาจักรยานขึ้นเครื่องมาด้วย ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ได้เยอะมาก หรือมีมาบ่อยๆ แต่มีอยู่จริง และน่าสนใจมาก ซึ่งหัวใจของการดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ต้องบอกว่า ‘การจัดการ’ สำคัญที่สุด”เป็นระดับมหาเศรษฐี แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็ไม่ได้เรียกร้องการดูแลที่เป็นพิเศษ แต่เขาบอกว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องเลือกที่พักดีๆ และมีการจัดการที่ดี เช่น จากทัวร์ทั่วไปอาจใช้วิธีแค่โทรไปสั่งอาหาร แต่กับบริการระดับนี้ ต้องเลือกไปที่ร้านอาหารล่วงหน้า เพื่อจัดโต๊ะ จัดที่นั่ง เซ็ตอัพทุกอย่างให้พร้อม ก่อนการมาถึงของลูกค้าคนพิเศษ “ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องเทคแคร์เขามาก แต่ต้องเตรียมการ” เขาบอก

ชื่อของ “ธานินทร์” เป็นที่รู้จักดีของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากการเข้ามาใช้บริการแล้ว “ประทับใจ” ก็ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาไปในสื่อต่างประเทศ ทำให้เป็นที่รู้จักของเอเยนซีในหลายประเทศ นำมาสู่การป้อนลูกค้าให้ต่อเนื่อง ตลอด 2 ทศวรรษ โดยอัตราค่าบริการลูกค้าทั่วไปอยู่ตั้งแต่ 5 พัน – 3 หมื่นบาท ต่อคน ต่อวัน รับตั้งแต่ทริปละ 1 คน ไปจนถึง 30 คน ระยะเวลา 1 วัน ไปจนถึง 1 เดือน แล้วแต่ความต้องการของลูกค้า

ทำธุรกิจให้สำเร็จได้ เขาบอกว่าต้องมีจุดต่าง และความต่างของเขา ก็คือ

“หนึ่ง ผมเป็นเจ้าของ นำทัวร์เอง สอง ผมไม่ได้ทำงานแบบรูทีน โปรแกรมผมเปลี่ยนได้ตลอด ยืดหยุ่น คุณขี่เก่ง ผมแถมให้ คุณขี่ช้า ผมหาทางลัดให้ นั่นคือ ความพิเศษ ฝรั่งโดยเฉพาะกลุ่มบน เวลาจ่ายเงิน เขาไม่ได้ซีเรียสนะว่าจ่ายแล้วต้องได้หมด บางมื้อบอกไม่หิว ขอข้าวผัดพอ ซึ่งพอเงินเหลือ ผมก็ไม่เอาเปรียบลูกค้า วันจบทริป ผมสั่งกุ้งมังกร เปิดไวน์ให้เลยนะ”

เขาบอกวิธีทำงาน บนพื้นฐานของการ “ให้” และ “ไม่เอาเปรียบ” และนั่นดูจะเป็นอาวุธมัดใจลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่วันที่ตัดสินใจมาผลิตจักรยานท่องเที่ยวในแบรนด์ตัวเอง ชื่อ “ฤ ไบซิเคิล” (Rit Bicycle) และเพิ่งเปิดตัวสู่ตลาดไปเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา ก็เลือกจัดเต็มแต่ของดีให้กับลูกค้า และใช้ตัวเองเป็นประหนึ่ง Brand Ambassador ออกแบบเอง ทดสอบเอง และใช้เอง เป้าหมายคือ ปั่นจักรยานไปทั่วโลก เพื่อประกาศความเจ๋งของจักรยานท่องเที่ยวสายพันธุ์ไทยให้โลกรู้ ราคาจักรยานอยู่ที่คันละกว่า 4 หมื่นบาท แต่ใครจะคิดว่า เวลาเพียงปีเดียว เขาสามารถขายไปได้แล้วถึง 300 คัน!ธุรกิจจักรยานส่วนใหญ่ เกิดจากคนที่ “อินจัด” ในจักรยาน แล้วผันความชอบมาเป็นธุรกิจ เช่นเดียวกับ กระเป๋าดีไซน์เท่ๆ แบรนด์ “เย็นนดีไซน์” (yenndesign) ของ “วรรัตน์ พัวไพโรจน์” ดีไซเนอร์และผู้ร่วมก่อตั้ง เย็นนดีไซน์ (yenndesign) ธุรกิจที่เริ่มเมื่อ 8 ปี ที่ผ่านมา จากผลงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระดับมือรางวัล จนมาประมาณ 3 ปี ก่อน เริ่มมาขี่จักรยาน จนเกิดอาการ “อิน” ชนิดในหัวมีแต่เรื่อง “จักรยาน” จึงตัดสินใจเปิดร้านจักรยานของตัวเองขึ้น แล้วนำเข้าแบรนด์จากอิตาลีมาขาย “พอไปขี่จักรยาน เจอสังคมคนปั่นจักรยาน ทำให้มองเห็นว่า กระเป๋าสำหรับจักรยานที่อยู่ในท้องตลาด ตอนนั้นจะมีแต่ทรงสปอร์ตๆ ดูเป็นจักรย๊านจักรยาน ผมมองจากตัวเองก่อน เราก็ชอบจักรยาน แต่ไม่ได้เป็นนักกีฬา ใส่กางเกง ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ปั่นจักรยานไปแวะกิน แวะเที่ยวตามโน่นนี่ ซึ่งกระเป๋าที่มีอยู่ มันดูไม่เข้ากับเรา”คิดได้ตามนั้น ก็เลยมาออกแบบกระเป๋า โดยใช้เศษผ้าพีพี (โพลีโพรพิลีน) ที่เหลือจากงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ มาทำกระเป๋าสุดแนวเลยได้สไตล์ที่ใช่ และใช้งานคงทน และเริ่มวางขายที่ร้านจักรยานของตัวเอง รวมถึงผ่านทางเฟซบุ๊คและเว็บไซต์ ได้คอมเมนต์อะไรมาก็เอามาพัฒนาสินค้า จนมีกระเป๋าที่หลากหลายในวันนี้

ชอบจักรยาน และเลือกทำสินค้าตอบสนองคนปั่นจักรยาน แต่เขากลับบอกว่า กระเป๋าของเขาลูกค้าคือ “คนทั่วไป” ไม่ใช่แค่นักปั่นจักรยานเท่านั้น “ตอนนี้มีคนทำ accessories เกี่ยวกับจักรยานเยอะมาก ที่เห็นขายดี ก็พวกเสื้อ หมวก เรียกว่าเต็มไปหมด ถ้าใครทำของแบบเดียวกันมันแข่งขันหนักแน่นอน แต่ของเราโชคดีที่ด้วยความเรียบง่ายของงาน ทำให้ไม่ได้จำกัดแค่ลูกค้าจักรยานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใช้ทั่วไปด้วย”

นั่นทำให้วันที่สินค้าสำหรับจักรยานผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รายใหม่สู้ไม่ได้ก็ขายตัดราคา แต่พวกเขาก็ยัง “อยู่ได้” เพราะกลุ่มเป้าหมายได้ขยายออกไปแล้ว วรรัตน์ สะท้อนมุมคิดในเรื่องนี้ว่า ทำธุรกิจจักรยาน ก็ไม่จำเป็นต้องปิดตัวเองอยู่แค่ลูกค้าลุ่มจักรยานเพราะไม่ใช่ตลาดที่ใหญ่มาก แต่เรายังสามารถมีโอกาสกว้างขึ้น ด้วยการคิดจากจักรยาน เช่น การทำเสื้อยืด ที่ไปแก้ปัญหาการใส่ที่สบาย ระบายลม ระบายอากาศได้ดี เหงื่อไม่ซึม และแห้งเร็ว ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากจะแก้ปัญหาคนใช้จักรยานได้แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในกลุ่มอื่นได้ด้วย เช่น กลุ่มวิ่งมาราธอนที่ฮิตกันมากเช่นกันในวันนี้ ถามถึงภาพรวมตลาดจักรยาน เขายอมรับว่า ดีไม่ดี ขึ้นกับ กระแสสังคม โดยช่วงที่เรียกว่า “บูมมากๆ” ก็ประมาณปีที่ผ่านมา ดูได้จากการเกิดขึ้นของร้านจักรยานจำนวนมาก ไม่ต่างจากช่วงที่ธุรกิจร้านกาแฟบูม ที่ไปที่ไหนก็จะเจอแต่ร้านกาแฟ แต่อย่างไรในความบูม ก็ยังมีมุมมืด เช่น จักรยานที่เคยนิยมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่าง “ฟิกเกียร์” ตอนนี้กลับแผ่วความนิยมลงมาก ที่สำคัญราคาก็ถูกลงมากด้วย นั่นเป็นความเปลี่ยนแปลงที่คนอยู่ในสนามต้องตามให้ทัน และปรับตัวให้รอด

แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าสนาม” ในตลาด อย่าง บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด ที่กินส่วนแบ่งในตลาดจักรยานอยู่สูงถึง 60-70% พวกเขาก็บอกว่า ทำธุรกิจต้องปรับตัว และเค้กก้อนนี้แม้จะใหญ่ขึ้น แต่มีไว้สำหรับคนที่พร้อมเท่านั้น! “ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีการรับรู้ (Awareness) ในคำว่าจักรยานสูงมาก มีข้อมูลเยอะขึ้น ทำให้ตลาดเติบโตขึ้นมาก ฉะนั้นผู้ประกอบการคนไหนทำดี ก็ได้แชร์ไป เพราะเค้กใหญ่ขึ้น จากเมื่อก่อนเล็กนิดเดียว เรากินคนเดียว เพราะผู้เล่นก็น้อย แต่ ณ วันนี้ก้อนมันใหญ่ขึ้น ก็กินได้เยอะขึ้น”

       “จันทนา ติยวัชรพงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอล เอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด บอกสถานการณ์ในธุรกิจจักรยาน ระหว่างที่ผู้เล่น “เกิดง่าย” ก็มีที่ออกจากเกมไป “ง่ายๆ” เช่นกัน เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น นั่นคือที่มาของกลยุทธ์ครองตลาด แบบฉบับ “แอล เอ กรุ๊ป” ที่เธอบอกว่า ต้องถือไพ่หลายๆ ใบ โดยเข้าไปทำตลาดในทุกเซกเมนต์ ตั้งแต่ ผลิตจักรยานเพื่อการส่งออก ทั้งแบบรับจ้างผลิต (OEM) จำหน่ายจักรยานภายใต้แบรนด์ “LA Bicycle” สำหรับตลาดทั้งใน และต่างประเทศ ผลิตจักรยานระดับไฮเอนด์ และได้รับสิทธิ์เป็นผู้นำเข้าแบบ Exclusive ให้กับหลายแบรนด์ดัง รวมถึงเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งรถจักรยานทั่วโลกอีกกว่า 30 แบรนด์ “เราอยู่ในทุกเซกเมนต์ สินค้ามีตั้งแต่ระดับ Good , Better และ Best ราคาตั้งแต่ไม่กี่บาทยันหลักแสน ขึ้นกับว่าเขามีกำลังทรัพย์เท่าไร เราสนองได้หมด ก็เหมือนกับการถือไพ่หลายใบ ว่าง่ายๆ เรามีไพ่ตั้งแต่เบอร์ 1 ยันเบอร์ 10 เพียงแต่ข้อเสียของการทำแบบนี้ คือ การดูแล และการจัดการเยอะ ขณะที่การลงทุนก็สูงมากด้วย”แต่นั่นเองที่ทำให้รายใหม่ๆ โดยเฉพาะรายเล็ก สายป่านสั้น ยังไม่ง่ายที่จะสู้รบกับพวกเขา เพราะอย่างที่บอกว่า สำหรับธุรกิจนี้ไม่มีความสำเร็จในชั่วข้ามคืน แต่ต้องสั่งสมประสบการณ์ พิสูจน์ตัวเองให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น

ส่วนใครที่จะเข้ามาใหม่ เธอบอกว่า ต้องมีทุนพอสมควร เพราะธุรกิจนี้เข้าง่าย ก็ออกง่าย เดี๋ยวนี้ใครอยากนำเข้าจักรยาน ก็แค่กดสั่งทางอีเบย์ จะซื้ออะไรก็ได้ ถูกบ้าง แพงบ้าง ปลอมบ้าง แต่สุดท้ายถ้าสต๊อกไว้เยอะ แล้วขายไม่ได้ “คุณเจ็บ” แต่ถ้าทุนไม่พอ อำนาจต่อรองน้อย รายใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่ “คุณก็จบ”

นอกจากนี้ยังต้องมีบริการหลังการขายที่ดี เสถียร มีมาตรฐาน ที่สำคัญไม่ผูกตัวเองกับตลาดใดตลาดหนึ่ง เพราะถ้าตลาดนั้นหายไป ธุรกิจก็จะจบตามไปด้วย

อย่างถ้าเราจับเฉพาะกลุ่ม Niche เช่น ทำแค่ฟิกเกียร์เท่านั้น เอาตัวเองไปผูกติดกับฟิกเกียร์ แน่นอนว่า 3 ปีก่อนวัยรุ่นชอบมาก ตลาดโต แต่ตอนนี้กระแสตกลง ราคาก็ถูกลงเยอะมาก ทำให้ต้องไปแข่งกันตัดราคา สุดท้ายรายเล็กๆ ก็ไม่รอด”

เธอบอกโจทย์ท้าทาย และไม่ง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการพันธุ์เล็ก ทุนน้อย ทั้งอ่อนด้อยประสบการณ์ ที่จะเข้ามาฝ่าฝันในสนามนี้

แต่อย่างไรเค้กก้อนนี้ยังชิ้นโต และพร้อมเบ่งบานขึ้นอีกมากในอนาคต ฉะนั้นสำหรับคนที่พร้อม และเจ๋งพอ ก็ยังมีโอกาสให้แจ้งเกิดได้ ในธุรกิจสองล้อ!!

        

“ช้อปไม่รู้จบ” สาวกสองล้อ

“กอล์ฟ” พนักงานบริษัท ที่ปั่นจักรยานมาประมาณ 6 เดือน เลือกจักรยานเป็นพาหนะคู่ใจ ปั่นไปกลับ บ้าน-ออฟฟิศ วันละ 30 กิโล เขาบอกว่า เริ่มปั่นจักรยานเพราะอยาก “ลดน้ำหนัก” และใช้จ่ายเงินไปกับจักรยานคันแรก ในราคาที่ไม่แพง คือประมาณ 15,000 บาท เป็นจักรยานเสือภูเขา ที่เจ้าตัวให้เหตุผลว่า ปั่นง่าย สู้ได้ทุกสภาพถนน

แต่เพียงสองเดือนแรกของการปั่น อาการคลั่งจักรยานก็เริ่มออก ชนิดที่เงินเดือนออกปุ๊บ ก็ต้องซื้ออุปกรณ์จักรยาน โดยใช้เงินไปประมาณ 3-4 พันบาทต่อเดือน เริ่มจาก Accessories พื้นฐานเพื่อความปลอดภัย จำพวกหมวกกันน็อก ไฟหน้า ไฟท้าย พอปั่นไกลหน่อยก็เริ่มพบว่ากางเกงธรรมดาชักจะ “ไม่เหมาะ” ต้องเป็นกางเกงสำหรับการปั่นจักรยานโดยเฉพาะ เริ่มมีมิเตอร์วัดความเร็วและวัดระยะทาง จัดเต็มขนาดนี้เขาให้เหตุผลกับตัวเองว่า..ปั่นสนุกขึ้นเยอะ

ข้อสังเกตในการช้อปสินค้าจักรยาน ที่หนุ่มกอล์ฟบอกกับเรา คือ พฤติกรรมการซื้อของพวกเขามัก “ไม่มีที่สิ้นสุด” แม้แต่คนมีรถจักรยานคันแรก ก็จะมีคันที่สองและสามตามมา บางคนซื้อชนิด “สนองทุกฟังก์ชันของการใช้งาน” และขยับราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุของการเล่น ขณะที่หลายคนมองการแต่งจักรยานเป็นแฟชั่น เพื่อให้จักรยานของตัวเองดูสวย ดูคูล ก็ต้องจัดเต็มจัดหนัก แต่สำหรับเขา ไม่ได้คลั่งไคล้ถึงขั้นนั้น และย้ำว่าการใช้จ่ายกับสินค้าจักรยาน จะดูที่คุณภาพ และราคาเป็นหลัก ว่าสมเหตุสมผลไหม และจะซื้อจากร้านประจำที่ราคาถูกกว่าท้องตลาดเท่านั้น

“จิม” หนุ่มออฟฟิศย่านสาธร เป็นอีกคนที่กลับมาเล่นจักรยานได้ไม่นาน แต่ถามว่าคลั่งจักรยานแค่ไหน ต้องไปดูพฤติกรรมการใช้จ่ายของเขา

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนุ่มจิมตัดสินใจซื้อจักรยาน ซิตี้ไบค์ มาในราคาคันละ 2.6 หมื่นบาท จากความนิยมของคนที่หันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น และเขาเองก็อยากมีจักรยานไว้สักคัน เพื่อปั่นเที่ยว ด้วยความที่ชอบแต่งรถเป็นทุนเดิม พอมีจักรยานเป็นของตัวเองเลยใส่ซะ “เต็มที่” เรียกว่าเพิ่มออฟชั่น ดัดแปลงรถให้เป็นในแบบที่ชอบ ทุ่มซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ จนหมดเงินไปกับการแต่งจักรยานแล้วถึง 6-7 หมื่นบาท เขาบอกเราว่า ไม่ได้กังวลเรื่องราคามากนัก เรียกว่า “ถ้าใช่ ถ้าโดนก็ซื้อ” โดยดูจากดีไซน์ที่ถูกใจเป็นหลัก แม้เป็นมือใหม่หัดปั่น แต่เจ้าตัวบอกเราว่า กำลังจะถอยคันใหม่แล้ว เพราะจักรยานซิตี้ไบค์ชักจะ “แรงไม่พอ” เลยคิดจะมีเสือหมอบไว้ซิ่งเล่นสักคันจักรยานคันแรกซื้อมาในราคาแค่ 2.6 หมื่น แต่คันที่สองเขาแย้มว่า รุ่นที่อยากได้ราคาอยู่ที่ “2 แสนบาท !”

         “ปณิธาน บำราศอรินทร์พ่าย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารระดับสูงของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ชื่นชอบจักรยานพับเป็นชีวิตจิตใจ บอกเราว่า เฉพาะปีที่ผ่านมา เขาหมดเงินไปกับจักรยานแล้วกว่า “1 แสนบาท”

จากจุดเริ่มต้น ของการเล่นจักรยาน เขาเลือกคันที่ราคา 5-6 หมื่นบาท ตอนนั้นเข้าวงการจักรยานใหม่ๆ ก็ยังสงสัยว่าทำไมหลายคนถึง “จัดหนัก จัดเต็ม” กับจักรยานได้ขนาดนี้ จนมาลองศึกษาและเริ่มใช้ เลยรู้ว่า อุปกรณ์หลายชิ้น ช่วยให้การปั่นสบายขึ้น ทำไมต้องเลือกเบาะหนังจากอังกฤษ มีชุดสำหรับการปั่นโดยเฉพาะ กระทั่งหมวกนิรภัยที่มีตั้งแต่หลักร้อยไปจนหลักหมื่น เขาบอกว่า แรกๆ ก็คิดว่าจะไม่เลือกของแพง แต่พอได้ลองใช้ แล้วเห็นในประสิทธิภาพเท่านั้น ก็ตัดสินใจทุ่มไม่อั้น

“บางคนมีจักรยานคันแรก ก็จะมีคันที่ 2 ที่ 3 ไปเรื่อยๆ เห็นเลยว่าไม่มีใครที่ซื้อคันเดียวแล้วจบ บางคนซื้อจักรยานคันละ 3-4 แสนบาทก็มี ต่อให้ไม่ซื้อคันใหม่ก็จะซื้ออุปกรณ์มาอัพเกรด บางคนมีเสือหมอบ เสือภูเขา ก็เริ่มมาเล่นจักรยานวินเทจ ผมเห็นพวกเซียนจักรยาน เขานิยมไปปั่นจักรยานกันที่ต่างประเทศ ไปทัวร์จักรยาน ผมเองถ้ามีโอกาสก็อยากทำอย่างนั้นนะ”

เสียงสะท้อนของเหล่าคนรักจักรยาน ที่ยินดีควักกระเป๋าจ่าย ถ้าได้ในสิ่งที่ชอบ และ “ช้อปไม่รู้จบ” กับสินค้าจักรยาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฉบับที่ 514 วันที่ 28 เมษายน 2557 

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น