Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / สรุปการประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินประจำจังหวัด (ภาคใต้ตอนบน) วันที่ 31 พ.ค.57 ณ จังหวัดสุราษฏร์ธานี

สรุปการประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินประจำจังหวัด (ภาคใต้ตอนบน) วันที่ 31 พ.ค.57 ณ จังหวัดสุราษฏร์ธานี

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย รวมกับ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ เทศบาล-องค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่ม-ชมรมจักรยาน สภาทนายความประจำจังหวัด สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ขนส่งจังหวัด สมัชชาสุขภาพและสาธารณสุขจังหวัด สถาบันการศึกษา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในจังหวัดต่างๆ 7 จังหวัดของภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต และนครศรีธรรมราช) ได้จัดประชุม รวมพลังเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ ประจำจังหวัด ขึ้นที่ห้องประชุม โรงเรียนพุนพินพิทยาคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 82 คน ซึ่งสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการประชุมในครั้งนี้ คือ 

1. การเดินและการใช้จักรยานไปโรงเรียน จะช่วยลดอุบัติเหตุจากการใช้มอเตอร์ไซค์ลงได้เป็นอย่างดี และช่วยจูงใจให้ชุมชนยอมรับการเดิน-จักรยานไปโรงเรียนดีขึ้น แต่จำเป็นต้องมีสภาพเส้นทาง การเชื่อมต่อกับชุมชน และพื้นที่หน้าโรงเรียนที่เหมาะสม ผู้บริหารท้องถิ่นจำเป็นต้องลงมาสำรวจพื้นที่และจัดทำแผนปฏิบัติการ รวมทั้งข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ไปจนถึงส่วนกลาง เช่น ทางหลวงชนบท

2.ทุกแห่งเห็นด้วยกับการจำกัดความเร็ว แต่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนทำให้หน่วยงานเกี่ยงกัน ดังนั้น โครงการฯกำลังสรุปแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดการให้เกิดวาระของท้องถิ่น(ข้อบัญญัติ กรณีอบต. หรือเทศบัญญัติ กรณีเทศบาล) เกี่ยวกับ การจำกัดความเร็วในถนนสายสำคัญที่ให้ความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้จักรยานและการเดินเท้า

อย่างไรก็ดี ข้อบัญญัติ หรือข้อกำหนดจำกัดความเร็วยังไม่สำคัญเท่าวัฒนธรรมการใช้ถนนของคนในชุมชนเองที่จะบังคับหรือกำกับให้มีคนฝ่าฝืนจนเกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ต่างกันไป

3. การจัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริม เป็นวิธีการกระตุ้นชุมชนได้ดีมีชีวิตชีวาเห็นผลด้านสุขภาพ แต่ต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักในการสร้างชุมชนเดินจักรยานคือ การสร้างวิถีชีวิตเดิน จักรยาน ให้แพร่หลายยอมรับกันมากขึ้นอย่างกว้างขวาง และเป็นภาวะบังคับในชุมชนสำหรับการใช้ความเร็วยานยนต์ในข้อ 2 ไปด้วยในตัว
4. การเดินเพื่อสุขภาพอาจเป็นรูปธรรมและให้เหตุผลด้านสุขภาวะได้มากขึ้น หากมีการใช้ตัวช่วย เช่นไม้เท้าปีนเขา หรือไม้เท้าเดินป่า ทั้งซ้ายและขวาเพื่อให้ได้ความเคลื่อนไหวของแขนอันเป็นการช่วยเสริมเรื่อง Cardiovascular คือการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่สมบูรณ์ขึ้น เรื่องนี้เครือข่ายระนองสนใจออกแบบโปรแกรม ปั่นไปเดิน หรือเดินไปปั่น หรือ เดินไป ปั้่นไป และจะนำไปทดลองทำดูด้วย จะเป็นการส่งเสริมความสนใจต่อการ เดิน ที่เป็นสาระด้านสุขภาวะเพิ่มขึ้น
5. การเกิดตัวแทนเครือข่ายในจังหวัด ความเชื่อมโยงภายในและระหว่างจังหวัด เกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเยี่ยมเยือนกัน โดยแต่ละแห่งอาจมีโครงการย่อย หรือแหล่งชุมชนจักรยานที่มีความ”แตกต่าง”ไว้ให้แลกเปลี่ยนกันอย่างมีชีวิตชีวา สิ่งสำคัญคือข้อมูลพื้นฐานของแต่ละแห่งต้องชัดเจนเชื่อมโยงกับแผนงานเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของการขับเคลื่อนในแต่ละระยะได้อย่างมีเหตุผล
6. เป้าหมายของการสร้างเครือข่ายเดิน-จักรยาน มิใช่อยู่ที่ตัวเครือข่าย แต่ตัวเครือข่ายเป็นเพียงกระบวนการขับเคลื่อนความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล สถานะ และความก้าวหน้า ตลอดจนปัญหาอุปสรรคของแต่ละจังหวัดในการสร้างสังคมสุขภาวะหรือเมืองน่าอยู่โดยมี”เดิน-จักรยาน”เป็นตัวนำด้าน “กิจกรรมทางกาย”ของ”สมาชิกในชุมชน”ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ปราศจากการรังแครังคัดคนขี่จักรยานและคนเดินเท้า
7. ควรจัดทำรายละเอียดมิติต่างๆในการพัฒนาเครือข่ายประจำจังหวัดเพื่อให้ผู้แทนประจำจังหวัดสามารถนำไปใช้ในการประเมินตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกๆระยะ และเชื่อมโยงกับสมาชิกเครือข่ายได้อย่างมีส่วนร่วมทั่วถึงกัน
8. ศูนย์ประสานงานข้อมูลเครือข่ายเดิน-จักรยาน ต้องทำงานมีข้อมูลพื้นฐานที่ตอบคำถามของโครงการผลักดันได้อย่างรอบด้าน และสามารถติดตามผลสัมฤทธิ์ได้ในแต่ละช่วงผ่านของโครงการ รวมทั้งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เครือข่ายเป็นกลไกเร่งและให้ความสนับสนุนการสร้างชุมชนเดิน-จักรยานให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองน่าอยู่
9. การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นไปของเครือข่ายประจำภูมิภาค และตัวแทนเครือข่ายจังหวัด ควรจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ตัวแทนจากเครือข่ายควรเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆมากกว่า 1 ครั้งในแต่ละปี เช่นการประชุมวิชาการ Bike and Walk Forum การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยการสร้างชุมชนเดิน-จักรยาน การสนับสนุนกิจกรรมเดิน-จักรยานเข้าสู่บริบททางสาธารณสุขชุมชน เป็นต้น
10. ที่ประชุมสัมมนาจัดทำแผนยุทธศาสตร์เฉพาะประเด็นของสช. ในปลายปี 2557ควรมีการเตรียมประเด็นที่จะสามารถทำให้เคครือข่ายแต่ละแห่งสามารถประเมินความก้าวหน้าในแต่ละมิติของตนเองได้อย่างมีชีวิต เป็นขั้นเป็นตอน และเป็นรูปธรรม

สรุปโดย: ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย
ประธานกรรมการกำกับทิศโครงการผลักดันเดิน-จักรยานฯ

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น