Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่ายทางจักรยานในเขตทางพิเศษ

ความคืบหน้าโครงการพัฒนาข่ายทางจักรยานในเขตทางพิเศษ

ตามที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ โครงการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายถนนสำหรับจักรยานในเขตทางพิเศษและติดตามนำมาเสนอในเว็บไซต์นี้อย่างต่อเนื่องนั้น (ดู http://www.thaicyclingclub.org/article/detail/2126 ) เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้ดำเนินโครงการได้จัดการสัมมนาครั้งที่ 3 ขึ้นที่โรงแรมมารวยการ์เด้น เขตบางเขน กรุงเทพฯ  โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้เน้นไปที่บุคคลากรของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบเบื้องต้นของโครงการนำร่องระหว่างถนนรามอินทรากับถนนพระราม 9 ซึ่งโดยรวมเหมือนในการสัมมนาสองครั้งแรก แต่มีรายละเอียดมากขึ้นและ นส.จิติมา จิตรวรนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิสถาปัตยกรรม ได้แจ้งที่ประชุมว่ามีการนำข้อเสนอของผู้เข้าร่วมการสัมมนาสองครั้งแรกไปปรับปรุงแบบแล้ว

ส่วนข้อมูลใหม่ในการสัมมนาครั้งนี้คือ การศึกษารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งนายศักดิ์สิทธิ์ วัฒนาเดช ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนและบริหารโครงการ ให้ข้อมูลว่า ถ้าประเมินทางเศรษฐศาสตร์ โครงการนี้จะให้ผลประโยชน์ทางด้านสุขภาพของคนใช้จักรยาน 1,154 ล้านบาท, ด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,825 ตัน คิดเป็นเงิน 4.92 ล้านบาท, ด้านการลดมลพิษทางอากาศ 12.45 ล้านบาท และด้านการลดการนำเข้าเชื้อเพลิง 37.48 ล้านบาท ในขณะที่มีผลเสียเป็นค่าเสียโอกาสของทรัพยากรหรือค่าลงทุน 1,239.50 ล้านบาท      

คณะผู้ศึกษาได้เสนอให้เริ่มด้วยทำช่วงรามอินทราถึงลาดพร้าวก่อน ใช้เงินลงทุนประมาณ 375 ล้านบาท และมีรูปแบบการลงทุนได้ 3 แบบคือ (1)กทพ.ลงทุนเอง ซึ่งจะได้ระบบตามที่ต้องการ ได้ภาพลักษณ์ พัฒนาต่อยอดหรือปรับได้โดยง่าย หรือ (2)กทพ.ให้เอกชนลงทุนแลกกับสัมปทานโฆษณา หรือ (3)กทพ.ให้เอกชนลงทุนแลกกับการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรืออาจผสมผสานกัน  โดยคณะผู้ศึกษายังรับฟังข้อเสนอรูปแบบอื่นๆ ด้วย  อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ธวัชชัย เหล่าศิริหงษ์ทอง ผู้จัดการโครงการ เสนอว่า กทพ.มีเงินมาก จึงไม่ควรเอาความคุ้มทุนทางการเงินล้วนๆ มาเป็นหลักพิจารณา แต่ควรมองโครงการนี้เป็นโอกาสพิเศษที่ กทพ. จะได้สร้างสิ่งพิเศษให้สังคมประเทศชาติ  ในต่างประเทศ ที่ใดมีทางด่วนมักจะมีทางเดินทางจักรยานเสมอ แต่ในไทยไม่เคยมีการเสนอมาก่อน

ดร.ธวัชชัยเปิดเผยด้วยว่า ในการศึกษาได้ไปถามคนที่อาศัยอยู่ข้างแนวทางว่าจะใช้ทางจักรยานนี้หรือไม่ พบว่ากว่าร้อยละ 90 บอกว่าจะมาใช้ จนทางสำนักงานเขตตกใจจัดพูดคุยต่อที่จะทำทางจักรยานในชุมชนออกมาเชื่อมต่อ  และได้ทราบว่า ผู้ว่าการ กทพ.ได้นำโครงการนี้เสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ดำเนินการเป็นโครงการเร่งด่วนโครงการหนึ่งด้วย

ในช่วงแสดงความเห็น ดร.ธวัชชัยได้เจาะจงขอให้ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย แสดงความเห็น ซึ่งได้อาจารย์ธงชัยได้กล่าวว่า อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะเป็นโครงการที่ดี แต่ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการจำต้องทำความชัดเจนในหลายประเด็นซึ่งมีผลต่อการออกแบบและการพิจารณาการเงินและรูปแบบการลงทุนของโครงการ เช่น

·  โครงการนี้จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) หรือการประชาสัมพันธ์ หรือการลงทุน ซึ่งได้ทราบต่อมาจากผู้บริหาร กทพ.ว่าไม่ได้มองโครงการนี้ในแง่การลงทุน(ให้ได้ผลตอบแทนเป็นกำไรหรือคุ้มเงินที่ลงไป)แน่นอน

·  โครงการแจกแจง “กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เส้นทาง” ออกมาเป็น 4กลุ่มคือ ผู้เดินทางจากที่พักอาศัยชานเมือง ผู้เดินทางเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน ผู้เดินทางในละแวกบ้าน ระยะทางในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และผู้ต้องการออกกำลังกาย/นันทนาการ  สี่กลุ่มนี้มีวิธีคิดและความต้องการต่างกัน การออกแบบระบบให้ตอบสนองและข้อพิจารณาด้านการเงิน-การลงทุนก็ต่างกันตามไปด้วย  ถ้าสร้างระบบให้เน้นไปตอบสนอง “นักจักรยาน” (cyclists) ก็ตอบโจทย์สังคมได้ยาก เพราะไม่ได้ตอบสนองกลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน (bicycle users) ที่เป็นมวลชนจำนวนมากที่สุด

·  เสนอให้ลด “ความหรูหรา” ของโครงการลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้สัดส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับกับค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนออกมาดีขึ้น  แบบที่ออกมาดูหรูหราทำให้ค่าใช้จ่ายสูง  ที่ไหนในโลกก็ไม่ทำแบบนี้แม้แต่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม

·  คาดว่าในความเป็นจริง ประชาชนตามแนวเส้นทางจะมาใช้ไม่ถึงร้อยละ 90 ตามผลการสอบถามหากไม่มีการสร้างระบบทางจักรยานในชุมชนออกมาเชื่อมต่อกับระบบของ กทพ.  เข้าใจว่า กทพ.มีอำนาจจำกัด ทำได้เฉพาะในพื้นที่เขตทางของตน ดังนั้นจึงควรคุยกับกรุงเทพมหานครเสียแต่เดี๋ยวนี้ให้ทำระบบทางจักรยานชุมชนมาเชื่อมต่อเสร็จไปพร้อมๆกัน

ท้ายสุด นายพิภพ ฟู่เจริญ รองผู้ว่าการ กทพ. ได้กล่าวปิดการสัมมนาด้วยการกล่าวว่า กทพ.ภูมิใจในโครงการนี้ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาจราจรเพิ่มขึ้นไปจากทางด่วนรถยนต์ที่มีอยู่ ดังนั้นจึงขอให้คณะผู้ศึกษาจาก มจธ. ทำข้อเสนอมาให้ดีๆ ให้ได้ทำ

รายงานโดย  กวิน ชุติมา 

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

—————————————————————————————————————————————————————————

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น