Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มก.ฉกส. จัดเสนอข้อมูลและรับฟังความเห็น

โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มก.ฉกส. จัดเสนอข้อมูลและรับฟังความเห็น

โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มก.ฉกส. จัดเสนอข้อมูลและรับฟังความเห็น

                เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2558 ครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร (มก.ฉกส.)ได้จัดการประชุมเสนอข้อมูลจากการสำรวจผู้ใช้จักรยานใน มก.ฉกส. และรับฟังความเห็นจากชุมชนขึ้นที่ห้องระพีสาคริก อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายในวิทยาเขต  การประชุมนี้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และความช่วยเหลือทางเทคนิค-วิชาการจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยผ่านโครงการติดตาม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพภาคี และประเมินผลชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ 

 

               คุณกวินกับคุณอารดินทร์เสนอเรื่องการสร้างชุมชนจักรยาน                                     ผู้เข้าร่วมประชุมในห้องระพีสาคริก

 เมื่อถึงบทบาทของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย นายอารดินทร์ รัตนภู หัวหน้าทีมติดตาม โครงการติดตาม สนับสนุน พัฒนาศักยภาพภาคี และประเมินผลชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะที่ชมรมฯ ดำเนินงานให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ได้เล่าให้ผู้ร่วมประชุมฟังเกี่ยวกับการดำเนินงานของโครงการที่นำมาสู่การสนับสนุนชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะที่นี่ และนายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ และอนุกรรมการด้านชุมชนจักรยานและเครือข่ายผู้ใช้จักรยาน ได้มาบรรยายประกอบภาพในหัวข้อชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะสร้างได้ไม่ไกลเกินจริงเล่าความเป็นมาและการดำเนินงานของชมรมฯ ในปัจจุบัน และยุทธศาสตร์หลักทั้งสี่ด้านซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสร้างชุมชนจักรยาน ปิดท้ายด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ, แนวทาง 9 ประการ และปัจจัยความสำเร็จ 5 ประการ ของการสร้างชุมชนจักรยาน  

  

           อาจารย์ฤกษ์ชัยเสนอผลการสำรวจ                                                  ตัวแทนนิสิตนักศึกษา มก.ฉกส. ร่วมแสดงความเห็น

              ในช่วงต่อมา อาจารย์ฤกษ์ชัย แย้มวงษ์ ผู้ดำเนินงานโครงการ ได้เสนอผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของนิสิตนักศึกษาและบุคลากรของ มก.ฉกส.  ในส่วนนิสิตนักศึกษาซึ่งทั้งวิทยาเขตมีประมาณห้าพันคนนั้น มีผู้ตอบแบบสอบถาม 426 คน พบว่า ร้อยละ 85 เห็นว่า มก.ฉกส. เหมาะสมที่จะเป็นชุมชนจักรยาน, ร้อยละ 69 เท่าๆกัน ต้องการเส้นทางจักรยานและที่จอดจักรยานในจุดที่มีคนใช้มากให้เพียงพอ, เส้นทางจักรยานนี้ควรใช้ได้สะดวกและปลอดภัย(ร้อยละ 76) และเชื่อมต่อกับทางสาธารณะ(ร้อยละ 60)  โดยมีกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 65)  ส่วนเหตุผลหลักที่ที่ผ่านมาไม่ใช้จักรยานคือ “ช้า ไม่ทันใจ” (ร้อยละ 56) ทั้งที่หอพักกับบริเวณอาคารเรียนห่างกันเพียงกิโลเมตรกว่าๆ เท่านั้น  จากผลการศึกษานี้นำไปสู่การเสนอให้ทางมหาวิทยาลัยจัดทำทางจักรยานเพื่อการสัญจรประจำวันในวิทยาเขตเป็นการเฉพาะขึ้น แยกจากถนนที่รถยนต์ใช้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงกำหนดเส้นทางและออกแบบ โดยจะทำร่วมกับทางจักรยานที่ทำขึ้นเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ตามแนวเส้นทางที่เคยมาทรงจักรยานที่นี่ และได้ฉายภาพแนวเส้นทางจักรยานที่ได้ร่างไว้ให้ผู้เข้าร่วมประชุมชม โยจัดให้มีการประกวดการออกแบบทางจักรยานไปเรียนด้วย ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างจะมาจากการจัดสรรของ มก.เอง  จากนั้นก็ได้เชิญตัวแทนของนิสิตนักศึกษาขึ้นไปแสดงความคิดเห็นบนเวที

   

    โรงเก็บจักรยานขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายโรง โรงนี้เป็นศูนย์ซ่อมด้วย               เริ่มขี่จักรยานออกสำรวจเส้นทางจักรยานชุมชน จากใกล้หอพัก

ในช่วงบ่าย ตัวแทนชมรมฯ ทั้งสองคนพร้อมกับ อ.ฤกษ์ชัย และอ.จิระวัฒน์ จากกองบริการ สำนักบริหารกลาง ที่ช่วยในด้านการออกแบบทางจักรยาน ได้ขี่จักรยานออกสำรวจตามแนวเส้นทางที่อาจารย์ทั้งสองหารือกันไว้ เริ่มจากบริเวณหอพัก พบว่ามีทางราดยางแอสฟัลท์ส่วนหนึ่งอยู่แล้วและยังอยู่ในสภาพดี ส่วนที่จะทำใหม่ก็น่าจะเป็นทางลาดยางเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น มีพื้นเป็นหินลูกรัง แน่นอยู่แล้ว, ก่อสร้างง่าย ราคาถูก โดยทำเป็นทางแยกจากและคู่ขนานไปกับถนน กว้างพอให้ขี่สวนทางกันได้สบาย  ตรงจุดตัดถนนก็ทำเนินชะลอความเร็วและติดป้ายเตือนผู้ขับรถ โดยทั่วไปก็ต้องมีการปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นกับทางจักรยานตลอด  การจัดงบประมาณก็ต้องคำนึงทุกด้านที่จำเป็น รวมทั้งการทำที่จอดจักรยาน การซ่อมแซมทาง และการซ่อมจักรยาน เป็นต้น

  

   หารือพื้นที่ข้างถนนที่น่าจะเอามาทำทางจักรยานใกล้บริเวณอาคารเรียน      แนวที่จะทำทางจักรยานใต้ร่มต้นก้ามปู ขณะนี้นิสิตยังต้องขี่บนถนน

นอกจากทางจักรยานเพื่อการสัญจรประจำวันแล้ว โยธาธิการจังหวัดสกลนครยังจะสร้างทางจักรยานเชื่อมต่อจากทางหลวงแผ่นดินด้านนอกเข้ามายังพื้นที่วิทยาเขต ระยะทาง 3 กิโลเมตร มีงบประมาณราว 27 ล้านบาท  ตัวแทนชมรมฯ ได้แนะนำแนวทางการสร้างและแนะนำให้ไปติดตามโยธาธิการจังหวัดอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นแบบที่เขาออกมาเองอาจสร้างปัญหาเมื่อมีการสร้างแล้ว  ท้ายสุด มก.ฉกส. จะมีทางจักรยานเพื่อการออกกำลังและฝึกซ้อมเฉพาะตามแนวเขตโดยรอบพื้นที่ของวิทยาเขต ระยะทาง 12 กิโลเมตรด้วย ซึ่งจะขอไปที่การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสกลนคร โดยได้พูดคุยไว้แล้ว

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น