Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / โครงการออกแบบศูนย์คมนาคมพหลโยธินยังให้ความสนใจน้อยกับการใช้จักรยาน

โครงการออกแบบศูนย์คมนาคมพหลโยธินยังให้ความสนใจน้อยกับการใช้จักรยาน

โครงการออกแบบศูนย์คมนาคมพหลโยธินยังให้ความสนใจน้อยกับการใช้จักรยาน 

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ของโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ขึ้นที่โรงแรมอมารีวอเตอร์เกตในกรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องกับโครงการ รวมทั้งสื่อมวลชน ประมาณหนึ่งพันคน

การประชุมใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งแนะนำชี้แจงข้อมูลรายละเอียดของโครงการ ตั้งแต่ความเป็นมา วัตถุประสงค์ ขั้นตอน ผลการศึกษาเบื้องต้นในเรื่องพื้นที่และเส้นทาง การศึกษาด้านการขนส่งและจราจรในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน และการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ในเวลาส่วนที่เหลือประมาณหนึ่งชั่วโมงได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสอบถามและแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้เข้าร่วมได้แสดงความกังวลใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานตน เช่น ผู้นำชุมชนเห็นว่าการรับฟังความเห็นกับชาวบ้านต้องไปจัดที่ชุมชนในวันหยุดเพื่อให้พวกเขามีส่วนร่วมได้รับฟังข้อมูลและแสดงความเห็นได้กว้างขวางที่สุด ไม่ใช่เท่าแต่เชิญประธานชุมชนคนเดียวมาร่วมอย่างในครั้งนี้, ไม่มีการพูดถึงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งโครงการ, ไม่มีการกล่าวถึงมลพิษที่เกิดจากการก่อสร้างในโครงการ, ไม่ได้กล่าวถึงการอำนวยความสะดวกให้บริการกับผู้สูงอายุและคนพิการ เป็นต้น ซึ่งทางผู้ดำเนินรายการได้ตอบชี้แจงว่า หลายประเด็นที่ผู้เข้าร่วมเป็นกังวลนี้ ความจริงมีการคำนึงถึงอยู่แล้ว แต่การชี้แจงและเอกสารประกอบที่แจกไปให้ข้อมูลไว้น้อยหรือไม่ได้กล่าวไว้เลย น่าจะมีการให้ข้อมูลกล่าวถึงในการสัมมนารับฟังความเห็นครั้งต่อไป

นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ในนามของชมรมฯ ด้วย ซึ่งนายกวินได้กล่าวว่า ชมรมฯได้ทำงานกับ สนข.มาหลายปี ในเรื่องการส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ คือการเดินและการใช้จักรยาน โดยเฉพาะการใช้การเดินและการขี่จักรยานเป็นวิธีการป้อนคนเข้าสู่ระบบราง (Feeder System)และในเอกสารแจกได้ระบุว่า โครงการนี้มีแนวคิดพัฒนาให้พื้นที่ศูนย์คมนาคมที่จะสร้างขึ้นบนพื้นที่ย่านพหลโยธิน 2,325 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าแห่งใหม่ระดับอาเซี่ยน โดยใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในรัศมีการให้บริการระบบราง… สนับสนุนการเดินทางหลายรูปแบบเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง  แต่กลับไม่มีการบรรยายพูดถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางเข้าถึงพื้นที่โครงการเลย ทั้งที่โดยรอบศูนย์คมนาคมที่จะสร้างขึ้นนี้มีชุมชนตั้งอยู่มากมายในเขตดุสิต จตุจักร บางเขน บางชื่อ ลาดพร้าว ฯลฯ ในระยะที่สามารถเดินหรือขี่จักรยานมาได้สบาย,  การให้ข้อมูลมีแต่เรื่องทางเดินยกระดับในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบมวลชนรอง  ในภาพที่ฉายทั้งหมดเกือบ 60 หน้า มีเพียงหน้าเดียวที่กล่าวถึง “แนวเส้นทางและจุดจอดจักรยาน”  แต่ก็เป็นเส้นทางที่เป็นวงบรรจบอยู่ภายในพื้นที่โครงการ ไม่ใช่เชื่อมโยงออกไปภายนอก ดูเหมือนจะทำให้คนมาขี่ออกกำลังกายมากกว่าเพื่อการสัญจรเข้ามาพื้นที่โครงการ   นอกจากนั้นยังมีการแสดงถึงพื้นที่จอดรถจำนวนมาก ทั้งที่ควรทำไว้จำกัด กระตุ้นให้คนเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เดิน หรือใช้จักรยานเข้ามาที่ศูนย์คมนาคมนี้ให้มากที่สุด เพราะจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดินและรถประจำทางหลายสายอยู่แล้ว  หากยังเอื้อให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาได้สะดวก แนวคิดในการทำศูนย์คมนาคมนี้ก็จะไม่เป็นจริง และจะเกิดการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นอีกมากจากปัจจุบันที่รถก็ติดมากอยู่แล้วในช่วงเทศกาลจากการมีสถานีขนส่งรถประจำทางหมอชิต  จึงขอฝากให้ทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำไปใช้ในการออกแบบให้เป็นระบบส่วนหนึ่งของศูนย์คมนาคมตั้งแต่ต้นต่อไป ไม่ใช่มาเสริมในภายหลัง  ซึ่งผู้ดำเนินรายการได้ตอบชี้แจงว่าคิดว่ามีการคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว คงจะได้นำมาชี้แจงในการสัมมนาครั้งต่อไป

รายงานโดย  นายกวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย   

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น