Home / บทความ / ทางม้าลายสไตล์ญี่ปุ่น

ทางม้าลายสไตล์ญี่ปุ่น

พวกเราทุกคนสมัยยังเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมจะถูกครูอบรมสั่งสอนว่า เวลาจะข้ามถนนให้ไปข้ามที่ทางข้ามถนนหรือที่ทางม้าลาย เพราะจะสะดวกและปลอดภัยกว่าการเสี่ยงวิ่งตัดรถข้ามถนนเอาเอง ยิ่งถ้าเป็นเด็กๆทักษะการตัดสินใจยังไม่ดีพอ หากตัดสินใจผิดก็จะโดนรถทับตายเอาง่ายๆ  ฉะนั้นต้องหัดให้เป็นนิสัยที่จะไปข้ามถนนที่ทางม้าลาย

ส่วนใครที่โตแล้วนิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นการข้ามถนนตามอารมณ์ นั่นก็ขึ้นกับการอบรมที่ได้มา รวมทั้งความจอแจของยวดยานในขณะนั้นด้วยว่ามากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ารถไม่เยอะ นานๆมาหนึ่งคัน ผมเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลก ก็เห็นเขาข้ามกันตามอารมณ์กันอยู่เป็นปกติวิสัยเหมือนกัน

แต่ถ้าเป็นเวลากลางวันและเป็นบริเวณที่การจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะตรงสี่แยก เช่น แถวสี่แยกศรีอยุธยา สี่แยกคอกวัว สี่แยกเจริญผล ฯลฯ เราก็มักจะต้องรอจนไฟแดงแล้วรถหยุด เราจึงข้าม นี่เป็นกติกาที่เป็นที่ยอมรับกันทั้งคนขับรถและคนเดินถนน เมื่อไฟแดงรถต้องหยุดให้คนข้าม พอไฟเขียวมาคนต้องหยุดข้ามแล้วปล่อยให้รถวิ่งบ้าง

ทีนี้ปัญหาหรือความไม่สะดวกมันอยู่ตรงนี้ครับ หากเราจะข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามแบบทแยงมุม สมมุติว่าเป็นทแยงมุมไปทางขวา เราก็ต้องรอไฟแดงแล้วจึงข้าม หากข้ามตรงไปก็ต้องไปหยุดยืนรอไฟแดงอีกทีเพื่อจะเลี้ยวขวา ไปยังจุดทแยงมุมที่ต้องการ หากข้ามทางขวาก่อนก็ต้องไปรอไฟแดงเพื่อจะเลี้ยวซ้ายแล้วเดินตรงเพื่อข้ามไปยังจุดทแยงมุมที่ว่านั่นอีกที แต่ไม่ว่าจะโดยวิธีใด เราต้องรอไฟแดงสองหน ซึ่งไม่สะดวกและไม่สนุกเลย โดยเฉพาะหากเป็นกรณีแดดร้อนยามเที่ยงหรือฝนตกหนัก เพราะไม่ร้อนมากก็เปียกมาก ในขณะที่คนอยู่บนรถไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวไปกับคนเดินข้ามถนนด้วย

ถามว่ากรณีเช่นนี้ ใครควรได้รับการดูแลมากกว่ากัน คนเดินข้ามถนนหรือคนนั่งอยู่ในรถโดยเฉพาะรถติดแอร์ ถ้าถามผม ผมก็ต้องตอบว่าต้องดูแลคนเดินถนนมากกว่าเพราะเดือดร้อนมากกว่าและทำร้ายเมืองหรือ ‘ปล่อยมลพิษ’ น้อยกว่า

สำหรับวิธีการแก้การข้ามถนนสองครั้ง(ที่ไม่สะดวกเลย)นี้ เราอาจลอกสไตล์การเปิดไฟแดงของญี่ปุ่นมาใช้บ้างก็ได้ ญี่ปุ่นเขาทำอย่างนี้ครับ เขาเปิดไฟแดงทีนึงทั้งสี่แยกเลย คือ พอเปิดไฟแดงที่ทุกถนนที่มายังสี่แยก รถทุกคันในทุกเส้นทางที่มาบรรจบกันที่สี่แยกต้องหยุดหมด เหลือเป็นช่องปลอดรถทุกคันในกลางสี่แยกนั้น แล้วคนเดินจะเดินข้ามถนนแบบเดินตรงไป เดินไปทางขวา เดินไปทางซ้าย เดินทแยงมุมขวา เดินทแยงมุมซ้าย เดินได้พร้อมกันหมดเลยครับ แบบนี้ก็จะสะดวกกับคนเดินเท้ามากขึ้น และไม่ต้องเดินข้ามถนนเพื่อไปรอข้ามถนนอีกที แบบที่เราต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้

การเปิดไฟแดงในรูปแบบนี้จะทำให้คนเดินถนนอยากเดินมากขึ้น ใช้รถน้อยลง(เพราะการเดินมันสะดวกขึ้นนี่หว่า) ซึ่งก็มีผลสืบเนื่องทำให้ลดควันพิษในเมือง ลดการใช้น้ำมัน ลดความร้อนที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์และท่อไอเสีย ทำให้เมืองเย็นลงและน่าอยู่มากขึ้น รวมความไปถึงมีผลต่อไปยังเรื่องลดปัญหาโลกร้อนเลยด้วยซ้ำ

หลายคนคงไม่รู้ว่า เวลานานาชาติเขาจัดลำดับ‘เมืองน่าอยู่’กันนี่ การเดินซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่จำเป็นของคนเมืองนั้นเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดด้วยนะครับ ดังนั้นเรื่องการเดินเท้าเดินถนนนี่จริงๆแล้วเป็นประเด็นสำคัญระดับนานาชาติทีเดียว แต่ก็แปลกที่ผู้บริหารเมืองของเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งๆที่แทบทุกคนเคยไปญี่ปุ่นและเคยเห็นทางม้าลายสี่เส้นขวางสี่แยกแบบนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่เอามาใช้เพื่อดูแลคนของตัวเองกันบ้าง

ต่อไปนี้เริ่มลองเอามาใช้บ้างก็ดีนะครับ คนเดินเท้าข้ามถนนอย่างผมจะขอบคุณมากเลยครับ

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
บทความฉบับนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554

Comments

comments

Check Also

แล้ว SDG มันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่อง เดินเรื่องจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น