Home / บทความ / สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย: ปรากฎการณ์-สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน (3)

สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย: ปรากฎการณ์-สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน (3)

ปรากฏการณ์-สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน (3)

ในสังคมเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่สินค้าทุกชนิดจะถูกชี้นำด้วยกลไกการตลาดและการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก แม้คนขี่จักรยานจะลดน้อยถอยลงเพียงใด แต่กลับพบว่า การเดินและการขี่จักรยานก็ยังเป็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถึงกับสลายหายไปจนสิ้นเชิง การวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละชุมชนท้องถิ่น เพื่อวางแผนสู่เป้าหมายโดยรวมของการรณรงค์สนับสนุนการเดินและการใช้จักรยานให้เป็นนโยบายสาธารณะจึงจำเป็นต้องอาศัยความชาญฉลาด มุ่งมั่น และอดทนต่อเนื่อง ประเมิน และประมวลความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การประสานภาคท้องถิ่น ภาครัฐ และองค์กรภาคเอกชนที่จะสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจในแต่ละขั้นตอนได้อย่างเป็นรูปธรรม การประเมินสถานการณ์ต้องเริ่มจากการศึกษาส่วนต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของวิถีชีวิตด้านนี้อย่างถ่องแท้

ด้านผู้ขายและให้บริการ
• ร้านขายจักรยาน ในทุกจังหวัดยังคงมีร้านขายอยู่ประจำ ส่วนใหญ่เป็นจักรยานประกอบสำเร็จรูป นอกจากจักรยานราคาไม่แพง(แต่ก็ไม่ค่อยมีคุณภาพ)ที่มีขายในซูเปอร์สโตร์ ก็ยังคงมีร้านจักรยานเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา ซึ่งมักมีจักรยานราคาแพงคุณภาพดีไว้ขายมาโดยตลอด แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของธุรกิจในระดับหนึ่ง ส่วนร้านจักรยานสมัยใหม่ที่ขายจักรยานแข่งขัน จักรยานเสือภูเขา ซึ่งมักมีราคาสูง เปิดในหัวเมืองขนาดใหญ่ โดยมีทั้งประกอบขายและอุปกรณ์ชิ้นส่วนจากต่างประเทศ
• บริการปะยาง-เติมลม ในปัจจุบันบริการปะยางไปอยู่ในร้านปะยางจักรยานยนต์ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการปะยาง เติมลมยางสูงขึ้นกว่าเดิมมากจนเกือบเท่าจักรยานยนต์
• บริษัทและโรงงานผลิตจักรยานในประเทศไทย ขณะที่โรงงานผู้ผลิตรายเก่าหายไป แต่ก็มีรายใหม่เข้ามา โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่มีเงินทุนดี ยังคงมีการผลิต การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จักรยานออกมาต่อเนื่องสม่ำเสมอในปริมาณและคุณภาพที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม บางแห่งเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศในปริมาณที่มีนัยสำคัญ บางแห่งก็ผลิตชิ้นส่วนเองและนำเข้ามาประกอบบางส่วน

ด้านผู้ซื้อและผู้ใช้บริการ
• ชุมชนท้องถิ่น โดยภาพรวม ชุมชนทุกรูปแบบเปลี่ยนแปลงการเดินทางไปใช้จักรยานยนต์มากขึ้น จนกลายเป็นยานพาหนะหลักในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และคนทำงาน ปริมาณยานยนต์ถือเป็นแรงคุกคามโดยตรงต่อการใช้จักรยานร่วมทาง เช่นเดียวกับรถยนต์ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว
• ชุมชนเมือง ยังคงมีประชาชนกลุ่มต่างๆที่ใช้จักรยานประจำในท้องถนนของทุกจังหวัดอยู่บ้าง ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มข้าราชการเกษียณ แต่จำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนกลุ่มนักเรียนนักศึกษามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจักรยานยนต์(หรือรถยนต์ในมหาวิทยาลัย)
• ชุมชนชนบท ยังมีการส่งเสริมการใช้จักรยานในโรงเรียนในชนบท จากการที่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีการบริจาคจักรยานให้แก่เด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นห่างไกลอย่างต่อเนื่องตลอดมา ทำให้เป็นที่รับรู้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งระดับจังหวัดและระดับตำบลว่าจักรยานยังคงเป็นทางเลือกที่ดีในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก
• ชุมชนสถาบันการศึกษา ในประเทศไทยชุมชนที่เคยใช้จักรยานอย่างหนาแน่นเป็นต้นแบบเดิม เช่นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปอย่างมากโดยหันไปใช้จักรยานยนต์และรถยนต์กันมากขึ้นทำให้บรรยากาศส่งเสริมการใช้จักรยานหายไป ในชุมชนใหม่เช่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตก็มีกรณีข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงจากการที่มหาวิทยาลัยมีนโยบายส่งเสริมแต่นักศึกษาบางกลุ่มไม่พอใจ มีเพียงมหาวิทยาลัยมหิดลที่กำหนดนโยบายลดการใช้ยานยนต์และสนับสนุน
• ต้นแบบเมืองจักรยานในต่างประเทศ ขณะที่เมืองใหญ่ในแถบยุโรปจำนวนมาก มีบทเรียนการพัฒนาที่ดี แม้แต่ในเมืองที่ผลิตรถยนต์เองก็ตามก็มีการจัดระเบียบพื้นที่และกิจกรรมส่งเสริมการใช้จักรยานจนได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในเอเซีย เมืองที่เคยได้ชื่อว่าใช้จักรยานมากทีสุดในโลกเช่นในประเทศจีน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จักรยานไปอย่างมาก จำนวนจักรยานในท้องถนนลดลงอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในเยาวชนคนรุ่นใหม่

โปรดติดตามตอนสุดท้าย >>>

ทันตแพทย์อนุศักดิ์  คงมาลัย

ประธานคณะกรรมการกำกับทิศเพื่อการผลักดันการใช้จักรยานฯ

รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา  2551-2554

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น