Home / บทความ / ทำให้การขี่จักรยานเป็นกิจวัตรเหมือนการแปรงฟัน

ทำให้การขี่จักรยานเป็นกิจวัตรเหมือนการแปรงฟัน

“ทำให้การขี่จักรยานเป็นกิจวัตรเหมือนการแปรงฟัน”

นี่ไม่ใช่การพูดเล่นๆนะครับ แต่เป็นคำพูดที่ออกมาจากปากของนางแอน เฮเด็นสเต็ด สเต็ฟเฟ็นเส็น เอกอัครราชทูตเดนมาร์คประจำสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน สื่อยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งในอังกฤษ

นครลอนดอนที่ท่านทูตแอนใช้เป็น “บ้านหลังที่สอง” อยู่ในขณะนี้นั้นก็ไม่ต่างไปจากกรุงเทพมหานครเท่าใดนักในแง่ของการใช้จักรยาน แต่ท่านทูตซึ่งมิใช่แค่ชาวเดนมาร์คธรรมดาๆ แต่เป็นผู้แทนสูงสุดของประเทศ แทนที่จะไปไหนมาไหนในลอนดอนด้วยรถลิมูซีนคันโต กลับใช้จักรยานเช่นเดียวกับที่ใช้ในบ้านเกิดซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นสวรรค์บนดินของผู้ใช้จักรยาน และบอกว่า “สนุกดี” ในการขี่จักรยานในนครแห่งนี้ เพราะว่า “การขี่จักรยานมักจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดในการไปไหนมาไหน แม้ว่าฉันจะตระหนักดีว่าต้องระมัดระวังเวลาขี่ไปท่ามกลางการจราจร ฉันก็รู้สึกปลอดภัยเพราะการจราจรในลอนดอนส่วนใหญ่แล้วก็เคลื่อนไปช้ามาก”  ท่านทูตพูดแบบนักการทูตจริงๆ ด้วยการใช้คำว่า “เคลื่อนไปช้ามาก” แทน “รถติดบรรลัย” ซึ่งฟังดูคล้ายๆกับสภาพในเมืองหลวงของประเทศสารขันธ์แห่งนี้

ท่านทูตยังเผยความ(ไม่)ลับให้ผู้สื่อข่าวเดอะการ์เดี้ยนฟังด้วยว่า ที่เดนมาร์คเป็นสวรรค์ของผู้ใช้จักรยานได้ก็เพราะมีการวางแผนการคมนาคมขนส่งอย่างบูรณาการที่เน้นไปที่การใช้จักรยานมานับทศวรรษจนทำให้เกิด “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” ที่แตกต่างไปจากที่อังกฤษ(และประเทศไทย) “สำหรับคนเดนมาร์คจำนวนมากแล้ว การขี่จักรยานไปไหนมาไหนเป็นสิ่งธรรมดาสามัญอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกับการเดินและการแปรงฟัน  ในอังกฤษนี่ ฉันคิดว่าการขี่จักรยานยังถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของคนบางคนเท่านั้น”

ในขณะที่ท่านทูตอาจจะใช้คำหวานแบบนักการทูตเมื่อกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างเดนมาร์คกับอังกฤษในเรื่องการใช้จักรยาน แต่ไม่มีคำหวานแบบนี้จากปากของนายทอม โกเดฟรูจ์ ซึ่งสังกัดองค์กรที่เรียกตัวเอง “สถานทูตจักรยานเนเธอร์แลนด์” (Dutch Cycling Embassy) องค์กรนี้ตั้งอยู่ในเมืองอูเทร็คและปวารณาตัวว่าจะเผยแพร่ “ภูมิปัญญา” จากการมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานมานับทศวรรษในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ประชากรเกือบหนึ่งในสามใช้จักรยานเป็นวิธีหลักในการเดินทาง

คุณทอมฟันธงว่าถึงแม้จะมีเส้นทางจักรยานดีๆสำหรับการขี่จักรยานเพื่อพักผ่อนหย่อนใจอยู่บ้างในอังกฤษ แต่ “สภาพของการจราจรโดยรวมก็บ่งบอกว่ารถยนต์เป็นใหญ่ คนที่นี่มองว่าการขี่จักรยานเป็นเรื่องของผู้กล้าหรือผู้รักการผจญภัย ถนนบางสายมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนใช้จักรยานอยู่บ้าง แต่ก็ชัดแจ้งแดงแจ๋ว่าการขี่จักรยานไม่ได้ถูกมองว่าเป็นรูปแบบการเดินทางเต็มที่แบบหนึ่ง” (ฟังดูก็คล้ายกับสภาพในประเทศสารขันธ์และเมืองเทวดาฟ้าอมรที่เป็นเมืองหลวงอีกแล้ว)

เขาชี้ว่า ประเทศอังกฤษต้องทำให้การขี่จักรยานเป็นทางเลือกแรกสำหรับการเดินทางระยะสั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะต้องมีทางจักรยานที่ปลอดภัย แต่จะต้องมีที่จอดจักรยานเพียงพอและมีความพยายามที่จะทำให้จักรยานมีภาพลักษณ์ที่ดี “ระบบจักรยานต้องไม่ใช่แค่ตัวเสริม แต่เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกและขาดไม่ได้ของระบบการคมนาคมขนส่งในเมือง”  

สิ่งที่ท่านทูตแอนและคุณทอมพูดถึงการใช้จักรยานในลอนดอน(และอังกฤษ) ฟังแล้วคลับคล้ายคลับคลามากกับสภาพในกรุงเทพมหานคร(และประเทศไทย)  เมื่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาถึงอีกครั้งหนึ่ง สภาพการจราจรที่ติดขัดก็จะถูกหยิบยกมาเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่ผู้สมัครแต่ละคนจะเสนอหนทางแก้ไข ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังอยู่ในกรอบเดิมที่เอารถยนต์เป็นใหญ่ ทั้งที่การสร้างถนนและสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์เพิ่มขึ้น(ไม่รวมนโยบายที่ส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์กันมากขึ้น)ได้รับการพิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่าทั่วโลกว่าใช้ไม่ได้ผลในการแก้ปัญหานี้ ทั้งอาจทำให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้น แต่จะมีผู้สมัครคนใด พรรคการเมืองใด ที่มองทะลุไปเห็นว่า การแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลจะต้องทำตามคำแนะนำของคนทั้งสอง นั่นคือทำให้คนเปลี่ยนวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวันจากการใช้รถยนต์ไปเป็นรูปแบบอื่นที่สำคัญทัดเทียมกันคือ การเดิน การใช้จักรยาน และการใช้ขนส่งสาธารณะ จะมีวิสัยทัศน์และดำเนินการให้การใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของระบบการคมนาคมขนส่งและเป็นทางเลือกแรกสำหรับการเดินทางระยะสั้นควบคู่กับการเดิน ทั้งทำให้การขี่จักรยานไปไหนมาไหนในเมืองเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคน รวมทั้งเด็ก (นายเอ็นริเก้ เพนาโลซ่า นายกเทศมนตรีนครโบโกต้า ที่ทำให้เมืองนี้เป็น “เมืองจักรยาน” ฟันธงว่า “ทางจักรยานที่เด็กแปดขวบไม่อาจขี่ได้อย่างปลอดภัยไม่ใช่ทางจักรยาน”) ผู้หญิง และผู้สูงอายุ ทำได้ง่ายๆ เป็นประจำเช่นเดียวกับการแปรงฟัน ไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องการพลังและความกล้าหาญเป็นพิเศษดังซูเปอร์แมนหรือต้องเป็นนักผจญภัยแบบอินเดียน่าโจนส์

แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นข้ามคืน แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ไม่เริ่มกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชาวกรุงเทพฯกว่าห้าล้านคนจะเลือกเข้ามาให้ดูแลชีวิตของพวกเขาแล้ว จะเริ่มเมื่อใดกับใคร

กวิน ชุติมา

เขียนจากข่าว Danish ambassador: cycling in Britain is seen as an activity for the few

โดย James Brilliantกับ Peter Walkerในหนังสือพิมพ์ The Guardianฉบับวันอาทิตย์ที่20 มกราคม 2013

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น