Home / บทความ / สันติ คุณาวงศ์ กับการส่งเสริมการใช้จักรยานในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์

สันติ คุณาวงศ์ กับการส่งเสริมการใช้จักรยานในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์

เราได้อ่านได้ฟังความเห็นเกี่ยวกับการใช้จักรยานกันมามากจากมุมมองของนักจักรยาน-ผู้ใช้จักรยาน และองค์กรที่ส่งเสริมการใช้จักรยาน ทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ อย่างชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย  ครั้งนี้ขอนำความเห็นที่น่าสนใจยิ่งของนักธุรกิจท่านหนึ่งมาถ่ายทอดให้ทราบกัน

นักธุรกิจผู้นี้คือ นายสันติ คุณาวงศ์ เจ้าของห้างแฟรี่แลนด์สรรพสินค้าในใจกลางเมืองนครสวรรค์ ห้างสรรพสินค้าของคนท้องถิ่นที่ยังเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยจากการรุกคืบอย่างหนักจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ระหว่างประเทศ  ปัจจุบันคุณสันติเป็นประธานของชมรมห้างสรรพสินค้าภูธรด้วย  ในด้านสังคม คุณสันติเป็นสมาชิกอาวุโส คือเป็นสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งมายาวนานที่สุด ของสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ และประธานชมรมรักษ์ต้นน้ำเจ้าพระยา (คือจุดที่แม่น้ำปิง-วัง กับแม่น้ำน่าน-ยม มาบรรจบกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา)  ปัจจุบันห้างแฟรี่สรรพสินค้าได้จัดแสดงนิทรรศการย้อนรอยอดีตเมืองปากน้ำโพ ซึ่งได้รวบรวมเอาเรื่องราวและส่วนประกอบของห้างร้าน อาคารเก่าๆ รวมทั้งเทศบาล ในเมืองนครสวรรค์ที่หาดูไม่ได้แล้วมาแสดงไว้อีกด้วย

คุณสันติเป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม รวมพลังเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ ประจำจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง” ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๗ ที่ห้องประชุมชั้น ๓ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบพระชนมพรรษา ของเทศบาลนครนครสวรรค์ ในนามของเทศบาลนครนครสวรรค์ แทนนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัตน์ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ ที่ติดภารกิจ (ดูข่าวการประชุมได้ในเว็บไซต์นี้) มีเนื้อหาน่าสนใจยิ่ง หลายๆประการตรงกับแนวทางการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชมรมฯ จึงขอเก็บความมาให้ผู้ที่ไม่ได้มีโอกาสฟังในวันนั้นได้ทราบด้วย

คุณสันติเริ่มต้นด้วยการกล่าวชัดเจนว่า เทศบาลนครนครสวรรค์ไม่เอาทางจักรยานเพราะจะขัดแย้งกับผู้ใช้ถนนอื่นๆ แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้ถนนร่วมกันได้  ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์สามารถใช้จักรยานได้สบายเพราะระยะเดินทางไม่เกิน ๕ กิโลเมตร  ปัญหาคือภาพพจน์ต่ำของจักรยานที่ “สูงกว่ารถขายไอติมนิดเดียว”  ดังนั้นคนทั่วไป โดยเฉพาะคนมีฐานะ ก็รู้สึกว่าจะมาขี่จักรยานได้อย่างไร  ทางเทศบาลฯ จึงออกนโยบายให้มีการปั่นจักรยานเป็นประจำจนคนทั่วไปคุ้นเคย และได้เชิญ ดร. ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผนกลุ่มวิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร (ซึ่งขณะนี้เป็นกรรมการของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยด้วย) ไปให้คำแนะนำ

หนึ่งในคำแนะนำที่อาจารย์โจ้ให้กับเทศบาลฯ คือให้จัดปั่นจักรยานทุกวันเป็นเวลา ๒ เดือน  คุณสันติเองในตอนแรกก็คิดว่าคงทำไม่ได้ไม่สำเร็จ แต่มาบัดนี้ก็จัดมาได้อย่างต่อเนื่องในเวลาเย็นของทุกวันเป็นเวลา ๔-๕ เดือนแล้ว โครงการ “ปั่นปลุกเมือง”  นี้มีอาสาสมัครมาช่วยอย่างแข็งขัน มีคนร่วมขี่เป็นประจำ จนก่อกระแสมีคนสนใจออกมาขี่จักรยานมากขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ จนมีคำพูดว่า “มานครสวรรค์ ไม่เห็นคนขี่จักรยาน ยังไม่ถึงนครสวรรค์” คุณสันติเองเห็นผู้สูงอายุคนหนึ่งอายุ ๗๐ ปีแล้วและมีฐานะดีใช้รถยนต์หรูได้สบาย ก็เอาจักรยานมาขี่ไปไหนมาไหนด้วย   สำหรับคนที่มาลงทะเบียนร่วมขี่เป็นประจำจะมีการสะสมรอบ เมื่อครบตามจำนวนที่กำหนด ทางเทศบาลจะจัดทำ “ป้ายทะเบียนจักรยาน” ให้ เป็นป้ายโลหะมีชื่อและเลขสี่หลักตามที่เจ้าของจักรยานต้องการ  และมีการทำทางจักรยานระยะทาง ๓.๒ กิโลเมตร รอบสระน้ำในอุทยานสวรรค์ สวนสาธารณะใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งมีบริการจักรยานให้เช่าขี่ แม้ช่วงแรกจะมีความขัดแย้งกับคนที่มาเดินเล่นหรือออกกำลังกาย แต่ก็แก้ปัญหาได้แล้ว จนขณะนี้ก็เป็นที่นิยมอย่างมากของชาวนครสวรรค์มาหัดและขี่จักรยานเพื่อพักผ่อนและออกกำลังกาย

คุณสันติกล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดหากจะให้การส่งเสริมการใช้จักรยานประสบความสำเร็จมี ๒ ประการคือ  (๑) ต้องมีความร่วมมืออย่างแท้จริงระหว่างเทศบาลกับประชาชน และ (๒) ต้องมีความเหนียวแน่นในการทำ ค่อยๆทำไป แต่ต้องไม่หยุดไม่เลิกอย่างเด็ดขาด

กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมเครือข่ายผู้ใช้จักรยานฯ เหนือตอนล่าง
(เสาร์ที่ 26 เมษา 57)
คุณหมออนุศักดิ์ และคุณสันติ ระหว่างการประชุมเครือขข่ายฯ ที่ทน.นครสวรรค์

คุณสันติประกาศด้วยความมั่นใจว่า นครสวรรค์จะเป็น “เมืองจักรยานแห่งแรกของประเทศไทย” นั่นคือร้อยละ ๑๐ ของประชากร หรือ ๑๐,๐๐๐ คน ใช้จักรยานเป็นประจำ (คุณดารณี กาญจนะ คุ้มสิน รองปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ผู้มีบทบาทสำคัญในงานส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของเทศบาลฯ ให้ตัวเลขประชากรที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครสวรรค์ในปัจจุบันว่าอยู่ที่ราว ๘๕,๐๐๐ คน)  เมื่อนครสวรรค์เป็นเมืองจักรยานได้ วันหนึ่งเมืองอื่นทั้งประเทศก็เป็นได้เหมือนกัน เมื่อเป็นเมืองจักรยานแล้ว เราก็จะมีความสุข  สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรเราจะเอาประสบการณ์(ในการส่งเสริมการใช้จักรยาน)มาแบ่งปันกัน

ระหว่างพูดคุยกับที่ปรึกษาชมรมฯ คุณจำรูญ และกรรมการชมรมฯ คุณกวิน ร่วมด้วย คุณหมอสำเริง ศรีผุดผ่อง รองนายกฯ เขาพระ สุพรรณฯ ร่วมวงพูดคุยกับกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมเครือข่ายฯ

กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น