Home / บทความ / เราจะมี ‘สมาพันธ์จักรยานเอเซีย’ บ้างได้ไหม

เราจะมี ‘สมาพันธ์จักรยานเอเซีย’ บ้างได้ไหม

เราจะมี ‘สมาพันธ์จักรยานเอเซีย’ บ้างได้ไหม

 

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย  พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

               วันนี้มีข่าวดีมาเล่าสู่กันฟัง คือ มีกลุ่มคนที่สนใจจักรยานในประเทศต่างๆในเอเซีย กำลังคุยกันถึงการที่จะก่อตั้ง’สมาพันธ์การจักรยานเอเซีย’หรือ  Asian Cycling Federation (ACF) ในลักษณะที่เลียนแบบมาจาก ECF หรือ European Cyclists’ Federation แต่ ACF จะต่างจาก ECF ตรงที่จะเน้นที่ ‘การจักรยานหรือ Cycling’คือเราจะรวมตัวกันไม่ใช่เฉพาะนักจักรยานหรือผู้ใช้จักรยานเท่านั้น  หากรวมเอาเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ นักออกแบบ นักวิจัย อาจารย์ เอ็นจีโอ นักขับเคลื่อน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอาจมีนักการเมือง เข้ามาร่วมขบวนด้วย

               งานนี้จริงๆแล้ว เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ตอนที่ผมไปประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองจักรยาน Velo-City Vienna 2013 ที่จัดโดย ECF ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผมเกิดไอเดียแวบขึ้นมาว่าชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) ได้ไปเป็นสมาชิกสมทบประเทศแรกและประเทศเดียวจากทวีปเอเชียแล้ว  แล้วทำไมเราไม่ตั้งสมาพันธ์ของพวกเราชาวเอเซียด้วยกันเองล่ะ ผมจึงได้เดินคุยกับคนเอเซียที่ไปร่วมประชุม  ที่จำได้ก็มีจากจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี และอีกหลายคน ชวนมาก่อตั้ง ACF กัน

               ทุกคนพยักหน้ากันหงึกหงัก ว่าเห็นด้วย

               แต่พอกลับบ้านหลังประชุมเสร็จ  และตามเรื่องไปทางอีเมล์ ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก บางคนไม่ตอบอีเมล์  บางคนบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สะดวกมาร่วม

               มาคราวนี้ไปประชุมเมืองจักรยานโลก Velo-City Global 2014 Adelaide ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผมจึงใช้วิธีนัดประชุมเลย คนที่ประชุมมีทั้งนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม เจ้าหน้าที่รัฐ  ที่ปรึกษาองค์กร ฯลฯ และมีคนน่าสนใจอยู่คนหนึ่ง เป็นผู้หญิง ชื่อ วิกกี้ หยัง (Vicky Yang) พ่อเธอเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตจักรยานในไต้หวันและเป็นเจ้าของบริษัท GIANT ครับ

               ผมถามเธอว่า ถ้า ACF เกิดขึ้นได้จริง  องค์กรของเธอจะสนับสนุนหรือส่งเสริมไหม เธอตอบแบบมั่นใจและทันทีว่า…แน่นอน

               คราวนี้มันอยู่ที่เราแล้วล่ะ   พวกเราชาวเอเซียจะก่อร่างตัวองค์กรนี้ขึ้นมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

               พูดถึงรูปธรรม ก็มีคำถามตามมามากมาย มีสำนักงานไหม สำนักงานจะอยู่ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร  งบปีล่ะเท่าไร  ใครจะเป็นคนจ่าย  มีค่าสมาชิกไหม จะหางบประมาณอย่างไร  เจ้าหน้าที่จะเป็นใคร  โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร  จะมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง  องค์กรนี้จะขึ้นเป็นรูปธรรมเมื่อไร 

              สารพัดคำถาม ที่ฟังแล้วชวนหดหู่ ว่ามันคงไม่เกิดขึ้นเกิดแล้วกระมัง  

              ผมตอบว่าใจเย็นๆ  อเมริกานั้นประกาศเป็นรัฐธรรมนูญมา 200 กว่าปีแล้วว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ป่านนี้ยังมีคนไร้บ้าน(Homeless)ในอเมริกาอยู่เลย  และกว่าจะเลิกทาสได้ก็ใช้เวลาเป็นหลายสิบปี 

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย  พรรณสวัสดิ์

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น