Home / บทความ / สต็อคโฮล์มสร้างที่จอดรถใหม่ – ให้รถจักรยานเท่านั้น

สต็อคโฮล์มสร้างที่จอดรถใหม่ – ให้รถจักรยานเท่านั้น

สต็อคโฮล์มสร้างที่จอดรถใหม่ – ให้รถจักรยานเท่านั้น

                ด้วยการมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย เมื่อกรุงสต็อคโฮล์มประกาศจะสร้าง “ที่จอดรถ” ใหม่ใจกลางเมืองใกล้ๆกับสถานีรถไฟใหญ่แห่งหนึ่ง  ที่จอดรถนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก “ที่จอดรถจักรยาน” และนี่เป็นเรื่องของการวางผังเมือง-การออกแบบการใช้พื้นที่เมืองให้เอื้อต่อการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ นั่นคือการเดินและการใช้จักรยาน เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนของการพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ในอนาคต

             นายโรเจอร์ โมเกิร์ต กรรมาธิการด้านผังเมืองของกรุงสต็อคโฮล์มพูดชัดเลยว่าเนื่องจากการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้รถยนต์ในการเดินทาง เมื่อรวมกับปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษจากรถยนต์  เมืองในอนาคตจะไม่ใช่เมืองที่ใช้รถยนต์เป็นวิธีการเดินทางขนส่ง ดังนั้นก็จะต้องทำให้การเดินทางด้วยจักรยานง่ายขึ้น และส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการมีที่จอดรถจักรยานที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ  นายโมเกิร์ตประกาศด้วยว่าจะมีการก่อสร้างที่จอดรถจักรยานอีกหลายแห่งในใจกลางกรุงสต็อคโฮล์มซึ่งที่มีเนื้อที่จำกัดจำเขี่ยมากในการก่อสร้างอาคารใหม่ใดๆ

(ภาพประกอบทั้งสองจาก Belatchew Architectsซึ่งเป็นบริษัทที่ออกแบบที่จอดจักรยานแห่งนี้)

                 คำว่า ปลอดภัยและประสิทธิภาพของเขานั้นเริ่มมาตั้งแต่การออกแบบที่เปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างที่จอดรถไปทั้งหมด เริ่มต้นจากการที่ประตูทางเข้าจะเป็นประตูเลื่อนที่เปิดอย่างอัตโนมัติให้ผู้ใช้จักรยานขี่เข้าจากภายนอกเข้าไปได้เลย  ที่จอดจักรยานนี้จะมีร้านซ่อมจักรยาน มีห้องให้คนที่ขี่จักรยานไปทำงานอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า เอาชุดที่ขี่จักรยานมาเก็บในตู้ล็อค ไว้รอมาเปลี่ยนขากลับได้ และมีร้านกาแฟเล็กๆให้ผู้ใช้จักรยานได้พักผ่อนพูดคุยกัน  พื้นที่จะถูกใช้เป็นประโยชน์มากกว่าที่จอดรถยนต์ ที่ต้องกันพื้นที่จำนวนมากไว้เป็นทางลาดขึ้นลง และเมื่อคนเอาแต่รถมาจอดแล้วก็เดินจากไป  ที่จอดรถจักรยานนี้จะกลายเป็นพื้นที่ชุมชนใหม่ของผู้ใช้จักรยานนับพัน (จอดจักรยานได้เต็มที่ 700 คัน) ที่หมุนเวียนกันเข้ามา และยังเชื่อมโยงกับชุมชนรอบข้าง เพราะการสัญจรที่เกิดขึ้นของผู้ใช้จักรยานจะทำให้บริเวณชุมชนรอบข้างคึกคักและปลอดภัยขึ้น รวมทั้งมีโอกาสทำการค้าหารายได้เพิ่มด้วย

                 ที่จอดรถจักรยานแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่มีห้องพัก 60 ห้อง และผู้ที่มาอาศัยในอพาร์ตเมนต์เหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้มีรถยนต์ ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องมีรถเพราะอยู่ใกล้สถานีรถไฟอยู่แล้ว โดยเขาจะจัดระบบให้มีรถยนต์สาธารณะ (car-sharing) ที่ผู้อยู่อาศัยใช้ในวันหยุดด้วยกันได้คล้ายกับ “จักรยานสาธารณะ” (Bike-sharing) นั่นเอง

                ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะกล้านำแนวคิด TOD (Transit Oriented Development – การพัฒนาที่เอาการเดินทางขนส่งเป็นหลัก) มาใช้ ลงทุนสร้างที่จอดรถจักรยานขนาดใหญ่ และออกเทศบัญญัติห้ามผู้อยู่อาศัยในอาคารที่อยู่ใกล้ๆสถานีรถไฟฟ้ามีรถยนต์ (รวมทั้งห้ามศูนย์การค้าข้างสถานีรถไฟฟ้ามีทีจอดรถยนต์หรือมีเล็กน้อยอย่างจำกัดอย่างที่ทำกันในหลายประเทศ) บ้างหรือไม่ ยังน่าสงสัย

เรียบเรียงจากข่าว Stockholm’s Newest Parking Garage Is Only For Bikes ใน www.fastcoexist.com

โดย  กวิน ชุติมา  กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

—————————————————————————————————————————————————————————————————————————————–ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

               

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น