Home / บทความ / มาตรฐานที่จอดจักรยานเมืองไทยควรเป็นแบบไหน?

มาตรฐานที่จอดจักรยานเมืองไทยควรเป็นแบบไหน?

มาตรฐานที่จอดจักรยานเมืองไทยควรเป็นแบบไหน?

                คนที่ใช้จักรยานเป็นประจำจะรู้ว่า ที่จอดจักรยานมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้จักรยาน โดยเฉพาะการใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตประจำวันและเพื่อการท่องเที่ยว สำคัญและจำเป็นยิ่งกว่า ทางจักรยานเสียอีก เนื่องจากไม่มีทางจักรยานก็ยังขี่จักรยานไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่มีที่จอดจักรยานที่สามารถจอดจักรยานทิ้งไว้โดยไม่ต้องเฝ้าได้อย่างปลอดภัยก็จะมีโอกาสสูงที่จักรยานจะหายคือถูกขโมย คนจำนวนมากจึงไม่ใช้จักรยานด้วยเหตุนี้  ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยพยายามเรียกร้องและผลักดันให้มีมาตลอดคือ ที่จอดจักรยานที่ใช้สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอจนในที่สุดก็บรรลุในการได้ออกมาเป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ มติ ๕.๑ การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

                ชมรมฯ จึงได้จัดการสนทนาโต๊ะกลมประเด็นมาตรฐานที่จอดจักรยาน… บ้านเมืองเรา ขึ้นเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ที่โรงแรมมิโด ถนนประดิพัทธ์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วม ๕๓ คนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง, กรุงเทพมหานคร (สำนักการขนส่งและจราจร, สำนักงานเขตภาษีเจริญ, สำนักงานเขตบางกอกน้อย, สำนักงานเขตวังทองหลาง), เทศบาลเมืองแสนสุข จ.ชลบุรี, เทศบาลตำบลบางจัก จ.ชัยนาท, เทศบาลตำบลเขาพระ จ.สุพรรณบุรี, การรถไฟแห่งประเทศไทย, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, สำนักงานสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, กรมเจ้าท่า, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, มหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์, มหาสารคาม, เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, เทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง, นเรศวร), ผู้ประกอบการเอกชน (สยามเซนเตอร์, BIG C Super Center, Asiatique The Riverfront), กลุ่มจักรยาน (ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย, กลุ่ม Smile Riders, กลุ่มเราต้องการที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย, กลุ่มคนปั่นเมือง), สถาบันอาศรมศิลป์, มูลนิธิโลกสีเขียว, มูลนิธิกัลยาณการุณย์ ศรีพิสิฐ, องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ), ชุมชนจักรยานหน้าวัดโคนอน, กลุ่มเมืองเก่า, นักวิชาการสวนสาธารณะ นักผังเมืองและนักวิจัยอิสระ

  

                รายการเริ่มต้นด้วยนายนิสิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) กล่าวชี้แจงความเป็นมา วัตถุประสงค์ และกล่าวเปิดการสนทนาครั้งนี้แทนอธิบดี ยผ.ว่า ขณะนี้ในไทยยังไม่มีมาตรฐานที่จอดจักรยาน โดยเฉพาะในอาคาร(ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้มีที่จอดรถยนต์เป็นสัดส่วนกับพื้นที่) ทั้งที่มีคนใช้จักรยานมากขึ้น และเมื่อไปถึงที่หมายปลายทางก็ไม่มีที่จอดจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ  ยผ.จึงเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะที่ดูแล พรบ.ควบคุมอาคารและได้รับมอบภารกิจมาจากกระทรวงมหาดไทย จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น เลือกผู้ทำงานจากคนที่ใช้จักรยานมาศึกษามาตรฐานในต่างประเทศนำมาพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย แล้วทำออกมาเป็นร่างเบื้องต้นมาเสนอในการสนทนาโต๊ะกลมครั้งนี้เพื่อนำความเห็นของผู้เข้าร่วมเอาไปปรับปรุงต่อไป

               จากนั้น ศาสตราจารย์ ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมฯ ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “เมืองจักรยานกับเมืองที่ใช้จักรยาน” เป็นการปูพื้นให้เห็นภาพรวมว่า เรื่องมาตรฐานที่จอดจักรยานนี้อยู่ในบริบทการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของประชาชนไทยทั่วไปที่ชมรมฯ ดำเนินการอยู่อย่างไร

               ส่วนการสนทนาเริ่มต้นด้วยการเสนอ ร่างมาตรฐานกำหนดจำนวนและคุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่อาคารที่จัดให้เป็นพื้นที่จอดจักรยาน”โดยนายวิโชติ กันภัย วิศวกรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร ยผ.  คุณวิโชติกล่าวว่า คณะทำงานได้ศึกษามาตรฐานจากห้าหน่วยงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พบว่าสามารถแบ่งที่จอดจักรยานเป็นที่จอดระยะสั้นและที่จอดระยะยาว  ที่จอดระยะสั้นคือจอดไม่เกินสองชั่วโมงใช้โครงยึดจักรยาน (Rack) ซึ่งมีมาตรฐานในการออกแบบและสร้างหลายประการ เช่น ต้องล็อคจักรยานได้อย่างน้อยสองจุด มีตัวอย่างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น หลังคา  สำหรับที่จอดระยะยาวคือจอดตั้งแต่สองชั่วโมงขึ้นไป มีระบบดูแลความปลอดภัยเพิ่มขึ้น อาจเป็นตู้เก็บจักรยาน (Bicycle locker) หรือกรงจักรยาน (Bicycle cage) มีตำแหน่งที่เหมาะสมภายในอาคารหรือภายนอก มีตัวอย่างสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม เช่น ห้องอาบน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่จอดระยะยาวนี้มีตัวอย่างนวัตกรรมหลายประการ เช่น ที่จอดใต้ดินแบบอัตโนมัติของญี่ปุ่น, อาคารจอดจักรยานของเนเธอร์แลนด์  จากการศึกษา จึงได้กำหนดมาตรฐานมาเบื้องต้นว่า ในด้านจำนวน ให้มีที่จอดจักรยาน ๑ คันต่อที่จอดรถยนต์ ๑๐ คัน และได้ออกแบบโครงสร้างที่จอดจักรยานมาเสนอ ๒ แบบด้วย

               จากนั้นดร.ประพัทธ์พงศ์ อุปลา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และกรรมการชมรมฯ รับช่วงบรรยายต่อในหัวข้อ มาตรฐานที่จอดจักรยาน…บ้านเราที่ควรเป็นเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามต่อทัศนคติ(ที่คลาดเคลื่อน)เกี่ยวกับที่จอดจักรยาน ๖ ประการ คือ

               (๑) “เส้นทางจักรยานมีความจำเป็นมากกว่าที่จอดจักรยาน” ซึ่งการวิจัยพบว่าร้อยละ ๖๙.๔ ต้องการที่จอดจักรยานมากกว่าทางจักรยาน

               (๒) “ทุกพื้นที่มีความต้องการที่จอดจักรยานสาธารณะเท่ากัน” ซึ่งการวิเคราะห์อุปสงค์คือความต้องการใช้จักรยาน พบว่าความต้องการต่างกันไปตามลักษณะประชากร พฤติกรรม ลักษณะกิจกรรม และสภาพแวดล้อมทางกายภาพ, จุดดึงดูดของเส้นทาง และบริเวณที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่าอยู่ในเมืองหรือในชนบท

               (๓) “ที่จอดจักรยานสาธารณะออกแบบง่าย สามารถติดตั้งหรือวางไว้ที่ใดก็ได้” ซึ่งพบว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะที่จอดจักรยานที่จะให้ประชาชนใช้จักรยานเพิ่มขึ้นควรออกแบบให้มีลักษณะ ๑๒ ประการ เช่น ไม่เปลืองพื้นที่ใช้สอย มองเห็นชัดเจนเข้าถึงง่าย ฯลฯ

               (๔) “ผู้สร้างและผู้ใช้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับที่จอดจักรยานสาธารณะเหมือนกัน” ซึ่งพบว่า ความจริงผู้สร้างและผู้ใช้มีความเห็นไม่เหมือนกันถึง ๕ แง่มุม

               (๕) “การจอดจักรยานข้างถนน (On-Street parking) ปลอดภัยกว่าอาคารจอดรถ (Off-Street parking)” ซึ่งพบว่า ความจริงกลับตรงข้าม และ

               (๖) “ยังไม่ถึงเวลาในการพัฒนามาตรฐานที่จอดจักรยานภายในอาคารสาธารณะในประเทศไทย” ความจริงขณะนี้คนใช้จักรยานเพิ่มมากขึ้นและต้องการที่จอดจักรยานที่ได้มาตรฐานอย่างชัดเจน

               ก่อนเปิดให้ผู้ร่วมการสนทนาแสดงความคิดเห็น ประธานชมรมฯ ได้อภิปรายนำด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ในแง่ขอบข่ายที่ ยผ.ออกมามี ๓ ด้านคือ มาตรฐานขั้นต่ำ อุปกรณ์พื้นฐาน และการมีที่จอดจักรยานเพียงพอสำหรับอาคาร ในวันนี้ควรเน้นด้านจำนวนที่จอดจักรยานสำหรับอาคารก่อน โดยมีรายละเอียดจำนวนมากที่ควรพิจารณา เช่น ควรคิดจำนวนที่จอดสำหรับอาคารประเภทต่างๆ (อาคารราชการ, กลุ่มอาคารที่ใกล้กัน, อาคารพาณิชย์, อาคารที่อยู่อาศัย ฯลฯ) จากเกณฑ์อะไร, หากกำหนดจากพื้นที่ พื้นที่อะไร (พื้นที่ทั้งหมด พื้นที่อาคาร พื้นที่ใช้สอยได้จริงของอาคาร) ฯลฯ ประธานชมรมฯ ยังได้ใช้ข้อมูลจากการศึกษาของชมรมฯเองแสดงให้เห็นว่า จำนวนที่จอดจักรยานตามมาตรฐานที่คณะทำงานของ ยผ. เสนอ ซึ่งคิดจากขนาดพื้นที่ของอาคาร แตกต่างอย่างมาก(สูงกว่า)จำนวนที่คนไทยกลุ่มต่างๆ เห็นว่าควรจะมี จากการศึกษาของชมรมฯ เอง

                จากนั้นผู้เข้าร่วมสนทนาได้ออกความเห็นอย่างกว้างขวางหลากหลายทั้งไปทางเดียวกันและขัดแย้งกัน เช่น

                  –  เคยขี่จักรยานไปทำงานและหายไปแล้วสองคัน จนปัจจุบันหันมาใช้รถรับจ้างและขนส่งสาธารณะแทน ถ้าจะให้กลับมาใช้จักรยานอีกก็ต้องมีที่จอดที่ปลอดภัย ดังนั้นที่จอดจักรยานที่ได้มาตรฐานต้องจอดได้ปลอดภัย

                  –  น่าจะแบ่งประเภทที่จอดตามลักษณะอาคารมากกว่าระยะเวลาจอด

                  –   ที่จอดจักรยานควรใกล้ทางเข้าอาคารมากกว่าที่จอดรถ

                  –   จำนวนที่จอดควรให้สอดคล้องกับขนาดอาคารโดยเผื่อไว้รองรับการเพิ่มจำนวนผู้ใช้

                  –   ควรออกกฎเกณฑ์ให้ยืดหยุ่น ปรับได้ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

                  –   ควรศึกษามาตรฐานของยุโรปและญี่ปุ่นที่ก้าวหน้ามากกว่าของสหรัฐฯ ดังที่ ยผ.ใช้ในร่างแรกนี้

                  –   ต้องตั้งคำถามว่ามีที่จอดจักรยานเพื่อผู้ใช้จักรยานหรือเพื่อเมือง

                  –   ควรศึกษาพฤติกรรมการจอดว่าผู้ใช้จักรยานต้องการที่จอดแบบใด จากการสังเกตพบว่า ที่จอดที่มีคนใช้มากอยู่ใกล้ทางเข้าอาคาร มีโครงให้ล็อกได้ มีหลังคา ในเบื้องต้นควรอยู่ใกล้ที่จอดจักรยานยนต์ ใช้ระบบรับบัตรเดียวกันเพื่อความปลอดภัย

                  –   ควรพิจารณาที่จอดติดกับสถานีรถไฟฟ้าเป็นพิเศษ

                  –   ควรให้ความสนใจกับที่จอดจักรยานที่ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นเบื้องต้น และจัดจำนวนให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน

                  –   จำนวนที่จอดควรคิดจากจำนวนคนใช้มากกว่าขนาดพื้นที่และจำนวนที่จอดรถ

                  –   สำหรับอาคารพาณิชย์ ควรใช้ขนาดพื้นที่หรือจำนวนที่จอดรถยนต์เป็นเกณฑ์

                  –   ตำแหน่งของที่จอดจักรยานมีความสำคัญมากพอๆกับจำนวนที่จอด ผู้ใช้มองทั้งความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เช่น ที่จอดอยู่ชั้นสูงหรือลึกใต้ดินลงไปมากในอาคาร และที่จอดภายนอกที่ไกลอาคาร ไม่ดึงดูดให้ใช้

                  –   ต้องศึกษาด้วยว่าทำไมที่คนเคยใช้จึงเลิกใช้ การศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีพบว่าคนเลิกใช้เพราะจักรยานหายถึงร้อยละ ๒๓

                  –   ยผ. ควรออกเป็นคำแนะนำมากกว่าเป็นมาตรฐาน กฎกระทรวงหรือ พรบ.

                  –   ควรคิดให้กว้างมากกว่าเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน แต่เป็นการออกแบบที่โดยรวมให้มีการใช้รถยนต์น้อยลง ดังนั้นต้องคิดถึงทางเท้า ที่จอดรถสาธารณะ ฯลฯ ด้วย

                  –   ห้องอาบน้ำและห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าสำคัญมากสำหรับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไปทำงานหรือไปเรียน ควรเป็นข้อบังคับสำหรับสถานศึกษาและสถานที่ทำงาน ความจริงน่าจะมีตู้ล็อกเกอร์สำหรับเก็บอุปกรณ์ของใช้ด้วย

                  –   ผู้บริหารธุรกิจเอกชนต้องคำนึงถึงการใช้พื้นที่ ดูผลตอบแทนการลงทุน ต้องคำนึงถึงบริบทความจำเป็นว่าทำแล้วจะมีคนใช้

                  –   สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. มีนโยบายให้ทำที่จอดจักรยานใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ขณะนี้กำลังทำเพิ่มทุกปี

                  –   ที่จอดควรคำนึงถึงจักรยานทุกประเภททั้งถูก-แพง และสามารถล็อกได้มากกว่าหนึ่งจุด

                  –   ฯลฯ

              สุดท้าย ประธานชมรมฯ ได้สรุปสาระสำคัญบางประการจากความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ ยผ.นำไปปรับปรุงร่างแรกที่นำมาเสนอนี้ต่อไป เช่น

                  –   เกณฑ์สำหรับที่อยู่อาศัยควรใช้จำนวนคนมากกว่าขนาดพื้นที่

                  –   ต้องมีข้อกำหนดระยะห่างระหว่างที่จอดจักรยานกับหัวน้ำดับเพลิง

                  –   มาตรฐานที่เสนอมายังครอบคลุมลักษณะอาคารและพื้นที่ไม่ครบ เช่น ตลาด ร้านสะดวกซื้อ สถานีขนส่งมวลชนทุกชนิด สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ฯลฯ

                  –   หากตั้งเป้าไว้สูงเกินไปจะใช้ไม่ได้ จึงควรเริ่มด้วยการเป็นคำแนะนำ(guidelines)ก่อนออกเป็นกฎ(code)และมาตรฐาน(standards)

                  –   จำนวนที่จอดจักรยานควรตั้งเป็นขั้นตอน ค่อยๆเพิ่มขึ้นไป

                  –   ที่จอดจักรยานต้องใช้ได้สะดวกและปลอดภัย คนจึงจะใช้

                  –   ข้อบังคับควรจะแปรเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และบริบทของท้องถิ่น

                  –   ควรคำนึงถึงการมีห้องอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า

                  –   ควรศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรปและญี่ปุ่นด้วย

              เมื่อ ยผ. ได้นำความเห็นของผู้เข้าร่วมการสนทนาโต๊ะกลมในวันนี้ไปปรับปรุงร่างแรกแล้วจะนำมาเสนอเพื่อรับฟังความเห็นต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

                

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น