Home / บทความ / ผู้สมัครเป็นนายกฯ ลอนดอนประกาศแผนจักรยาน

ผู้สมัครเป็นนายกฯ ลอนดอนประกาศแผนจักรยาน

ผู้สมัครเป็นนายกฯ ลอนดอนประกาศแผนจักรยาน    

นายซาดิค ข่าน ผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครลอนดอนจากพรรคแรงงาน ประกาศจะเพิ่มทางด่วนจักรยาน

ปีนี้ (2559) กรุงลอนดอน นครหลวงของอังกฤษจะมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีคนใหม่  หลายปีที่ผ่านมา นายบอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันได้ทำหลายอย่างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน เช่น การจัดให้มีระบบจักรยานสาธารณะที่ประชาชนตั้งฉายาเป็นชื่อเล่นตามเขาว่า Boris Bike หรือการทำทางจักรยาน ที่ฮือฮากันมากคือทางด่วนจักรยาน (Cycle Superhighway)  ซึ่งนับว่าเป็นแห่งแรกในทวีปยุโรป ที่แม้แต่เนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กก็ยังไม่มี (แต่ขณะนี้มีแผนจะทำบ้างแล้วตามหลังอังกฤษและเยอรมัน)  แม้ว่าสิ่งที่นายจอห์นสันทำจะไม่ถูกใจคนใช้จักรยานที่นั่นไปเสียทั้งหมด เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยในหลายประเด็น แต่ก็ไม่เคยมีนายกเทศมนตรีนครลอนดอนคนไหนมาก่อนที่ส่งเสริมการใช้จักรยานมากเท่าเขา และได้สร้างความคาดหวังไม่น้อยให้กับผู้ใช้จักรยานและกลุ่มรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานต่างๆ เช่น London Cycling Campaign (LCC) 

ตอนนี้พรรคการเมืองหลักๆ ของอังกฤษก็ประกาศตัวผู้สมัครที่พรรคจะส่งลงแข่งขันรับเลือกตั้งไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2558  เรามาดูกันสิว่า คนที่จะมาเป็นพ่อเมืองลอนดอนมีวิสัยทัศน์และแผนการอะไรบ้าง

นายซาดิค ข่าน (Sadiq Khan) ผู้สมัครของพรรคแรงงาน (Labour Party)ได้ให้เค้าโครงคำประกาศเป็นแผน 6 ข้อสำหรับการใช้จักรยานในลอนดอน  ในเมื่อความปลอดภัยเป็นประเด็นหลักเรื่องหนึ่งเนื่องจากมีผู้ใช้จักรยานถูกรถ โดยเฉพาะรถบรรทุก ชนเสียชีวิตหลายคนในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่นายข่านให้คำมั่นว่าแผนของเขาจะทำให้ขี่จักรยานในลอนดอนได้ง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้น

  • ดำเนินการโครงการทางด่วนจักรยานต่อไป สำรวจศึกษาเส้นทางใหม่ๆ และเรียนรู้บทเรียนจากทางด่วนที่ทำไปแล้ว โดยมีจุดเน้นที่จะทำทางที่แยกจักรยานจากรถยนต์อย่างเด็ดขาดในบริเวณที่เหมาะสม
  • ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับทางจักรยานบนถนนที่มีการจราจรน้อย (Quiet Ways) เพื่อขยายเครือข่ายเส้นทางที่สามารถขี่จักรยานได้ปลอดภัยออกไปให้กว้างขึ้น  ลงมือทำแผนปรับปรุงการใช้จักรยานในย่านกลางเมืองที่มีอยู่ให้เสร็จ และเริ่มแผนรอบใหม่
  • เร่งรีบทบทวนโครงการสี่แยกเพื่อค้นหาว่ามีอะไรต้องปรับปรุงบ้างและลงมือทำในจุดที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
  • ประกาศเขตจำกัดความเร็ว 20 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือ 32 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในส่วนต่างๆของเมือง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ “20 ก็พอแล้ว”
  • ทำให้ถนนออกซ์ฟอร์ด (ย่านจับจ่ายซื้อของที่สำคัญกลางกรุงลอนดอน) เป็นถนนคนเดินเท้า  ปรับปรุงการเข้าถึงด้วยจักรยาน และพิจารณาการจัดให้ช่วงสุดสัปดาห์เป็นวันปลอดรถแบบเดียวกับในกรุงปารีส (ดูข่าวที่เคยเสนอไปแล้วก่อนหน้าในเว็บไซต์นี้  การทำให้ถนนออกซ์ฟอร์ดเป็นถนนคนเดินนั้นคงเกิดขึ้นแน่นอนในปี 2559 นี้ เพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีทุกคนเห็นตรงกัน )
  • จัดให้มีที่เก็บและที่จอดจักรยานเพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ผังเมืองกำหนดให้อาคารสำนักงานและอาคาร/ย่านที่อยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องมีที่เก็บ/ที่จอดจักรยาน ในขณะที่เทศบาลลอนดอนจะทำงานกับสำนักงานเขตต่างๆ ของลอนดอนให้จัดให้มีที่จอดจักรยานบนถนนที่ปลอดภัยมากขึ้นในย่านที่อยู่อาศัย

นายข่านโอ่ว่า แม้จะต้องทำอะไรอีกมากเมื่อคำนึงว่าคนที่อยากใช้จักรยานเดินทางยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่จะทำเช่นนั้น แต่เขาก็จะทำให้ลอนดอนเป็นชื่อที่พูดถึงกันบ่อยๆ ทั่วโลกเมื่อเอ่ยถึงการใช้จักรยาน โดยการทำให้ง่ายขึ้นและปลอดภัยมากขึ้นที่จะขี่จักรยานในเมืองนี้และกระตุ้นให้ชาวลอนดอนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นเป็นพันเป็นหมื่น จะเร่งรัดความคืบหน้าในการพัฒนาระบบจักรยานสาธารณะและทางด่วนจักรยานโดยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาว่าทำอย่างไรได้ผล อย่างไรไม่ได้ผล  เขาบอกว่า หากทำได้ เขาอยากให้ทางด่วนจักรยาน ทางจักรยานในย่านที่มีการจราจรน้อยและย่านกลางเมือง เป็นทางที่ปลอดภัยแยกจากถนนสำหรับรถยนต์  เขาสนับสนุนการก่อสร้างสะพานสำหรับคนเดินเท้าและจักรยานเป็นการเฉพาะข้ามแม่น้ำเทมส์ที่มีการเปิดเผยแผนโดยนายกเทศมนตรีคนปัจจุบันไปเมื่อเร็วๆนี้ด้วย  สะพานนี้ยกเปิดตรงกลางให้เรือผ่านได้ และหากมีการสร้างจริงก็จะเป็นสะพานประเภทนี้ที่ยาวที่สุดในโลก กลายเป็นจุดสนใจใหม่ของเมือง

นอกจากเห็นตรงกันในเรื่องการทำให้ถนนออกซ์ฟอร์ดเป็นถนนคนเดินแล้ว ผู้สมัครทุกคนยังเห็นตรงกันที่จะสนับสนุนมาตรการต่างๆ ในการปรับปรุงคุณภาพอากาศของถนนในลอนดอนซึ่งเป็นถนนที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดเมืองหนึ่งของยุโรป และเห็นด้วยกับการเอากฎการหยุดแบบไอดาโฮ (Idaho Stop law)มาใช้ ตามกฎนี้ คนที่ขี่จักรยานไปตามถนนสามารถถือเอาสัญญาณไฟแดงตรงทางแยกว่ามีค่าเท่ากับป้ายหยุด นั่นคือเมื่อเห็นไฟแดง ให้ผู้ขี่จักรยานหยุดหรือชะลอความเร็วลงเหลือช้าๆ เมื่อดูแล้วเห็นว่าไม่มียานพาหนะอื่นแล่นมาตามทางตัดขวางที่มีสัญญาณไฟเขียว ผู้ใช้จักรยานก็สามารถขี่ผ่านไปได้อย่างถูกกฎหมาย  กฎที่เริ่มใช้ในรัฐไอดาโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2525 นี้ ปัจจุบันเริ่มมีการนำไปใช้ในหลายเมืองเพื่อให้สะดวกมากขึ้นในการขี่จักรยาน

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยนำข่าวนี้มาเสนอ ไม่เพียงแต่เป็นการรายงานถึงความก้าวหน้าในการส่งเสริมการใช้จักรยานในลอนดอน เมืองหนึ่งที่มีความคืบหน้าไปมากในเวลาไม่กี่ปีจนจำนวนผู้ใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลุ่มรณรงค์ส่งเสริมการใช้จักรยานที่นั่นก็ใช้โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีคนใหม่มาผลักดันนโยบายอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เรื่องนี้ยังเกี่ยวพันกับกรุงเทพฯ อย่างมากเนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งในวาระนี้มาสามปีแล้ว ตามกำหนดต้นปี 2560 ก็จะต้องมีการเลือกตั้ง (แต่ก็อาจจะเลื่อนออกไปเป็นหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้รัฐบาลใหม่ของประเทศแล้ว) เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาทบทวนกันว่า ผู้ว่าฯ คนปัจจุบันทำอะไรไปบ้างในการส่งเสริมการใช้จักรยาน อย่างน้อยได้ทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้หรือไม่ อย่างไร  และเตรียมข้อเสนอเชิงนโยบายยื่นกับผู้สมัครรับเลือกตั้งมาเป็นผู้ว่าฯ คนต่อไป

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เขียนจาก Labour’s Mayor candidate backs Rotherhithe Bridge and sets out 6-point plan for cycling โดย Sarah Barth ใน road.cc

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น