Home / บทความ / จักรยานมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จักรยานมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จักรยานมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ศาสตราจารย์ฟุลตันกับจักรยานของเขา

การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่องค์การสหประชาชาติเป็นผู้จัดเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ประสบความสำเร็จในแง่ที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ 195 ประเทศมาร่วมลงนามในข้อตกลงแสดงความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน  การลงนามในพิธีสารโตเกียวเมื่อยี่สิบปีก่อนมีเฉพาะประเทศอุตสาหกรรม-ประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่สิบประเทศเท่านั้นที่ร่วมลงนาม  ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้เข้าร่วม  มาครั้งนี้ สหรัฐฯประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเกือบร้อยละ 30ในช่วงสิบปีข้างหน้า  และไทยก็ประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 7-20 (แล้วแต่จะได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นมากเพียงใด)

แม้ตัวเลขในคำสัญญานี้จะดูว่ามาก (แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่บอกว่ายังน้อยไป) ศาสตราจารย์ลูอิส ฟุลตัน ผู้อำนวยการหน่วยงานวิจัยทางด้านการขนส่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เมืองเดวิส ชื่อ “เส้นทางพลังงานการขนส่งอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation Energy Pathways – STEPS) ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ได้กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติดังกล่าวนั้นและมีโอกาสพูดคุยกับผู้แทนหลายประเทศ ก็เชื่อว่าทำได้ และทำได้ส่วนหนึ่งอย่างสำคัญด้วยการใช้จักรยาน 

ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมที่ปารีสเป็นตัวแทนของรัฐบาลแห่งชาติของประเทศนั้นๆ  แน่นอนว่าเราก็ต้องให้นักการเมืองและข้าราชการในกระทรวง กรม กอง ระดับชาติ แสดงความรับผิดชอบนำข้อตกลงที่ไปลงนามมาปฏิบัติให้เป็นจริง แต่ในขณะเดียวกัน การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดประสิทธิผล หน่วยงานในระดับเมือง-ระดับท้องถิ่นก็ต้องมีปฏิบัติการ และเราแต่ละคนก็ต้องเข้ามามีส่วน ต้องเปลี่ยนแปลงตนเองด้วย  ศาสตราจารย์ฟุลตันเชื่อว่าหากทุกภาคส่วนร่วมมือและทำจริงจัง การควบคุมให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสก็เป็นไปได้  (หลายฝ่ายในที่ประชุมอยากให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาด้วยซ้ำไป แต่ชี้ว่าเมื่อคำนวณจากคำสัญญาของประเทศต่างๆ แม้จะทำได้จริงๆตามนั้น อุณหภูมิโลกก็ยังจะสูงขึ้น 2.7 องศาอยู่ดี และเชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ตามคำสัญญา) และการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่จะมีผลอย่างสำคัญคือ การที่คนจำนวนมากเปลี่ยนมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางแทนรถยนต์

ศาสตราจารย์ฟุลตันชี้ว่า ในสหรัฐอเมริกากับแคนาดา การเดินทางประจำวันในเขตเมืองเพียงร้อยละ 1 ทำด้วยจักรยาน  หากจำนวนนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 20-30 ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางของคนในเขตเมืองได้เกือบร้อยละ 11 ทีเดียว และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ถึง 24 ล้านล้านดอลลาร์

แต่จะให้ชาวเมืองหันมาใช้จักรยานแทนรถยนต์ในการเดินทางประจำวัน เมืองก็ต้องลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการใช้จักรยาน เช่น ที่จอดจักรยาน, ทางจักรยานที่แยกจากถนนของรถยนต์ และเส้นทางที่ร่มรื่น  ทั้งยังจะต้องรณรงค์เปลี่ยนทัศนคติชาวเมืองที่ติดการใช้รถยนต์ให้หันมาใช้จักรยานด้วย   ศาสตราจารย์ฟุลตันยกเอาเมืองโบโกตาในประเทศโคลอมเบียมาเป็นตัวอย่างว่า การใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากเมืองเริ่มปิดถนนสายหลักไม่ให้รถยนต์ใช้สัปดาห์ละวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง  เขายังชี้ด้วยว่า การส่งเสริมจักรยานไฟฟ้าจะเป็นวิธีที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการชวนให้ชาวเมืองใช้จักรยานเดินทางประจำวันด้วย

ศาสตราจารย์ฟุลตันและผู้เชี่ยวชาญ-นักวิจัยอื่นๆ เสนอตรงกันว่า หากจะให้มีปฏิบัติการที่เกิดผลจริงจัง รัฐบาลทุกระดับต้องจัดสรรงบประมาณในด้านการเดินทางขนส่งร้อยละ 10 มาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยาน  เขาชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยาน(ให้สะดวกและปลอดภัย)นั้นถูกมากเมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้รถยนต์  แต่จากความคุ้นเคยกับการสร้างถนน หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนกลางในระดับประเทศมักจะมองภาพใหญ่ๆ คิดถึงแต่โครงสร้างในเชิงมหภาค  พวกเขาจึงคิดถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เล็กกว่ามากไม่เป็น  เมืองและผู้บริหารเมืองอย่างนายกเทศมนตรีทั้งหลายจะมองเห็นและจัดการได้ดีกว่า  เขาเชื่อว่าคนเหล่านี้จำนวนมากขึ้นทุกทีตระหนักว่า ยิ่งคนมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่าใด ชุมชนและเมืองของพวกเขาก็จะยิ่งน่าอยู่และยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานกับรัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงได้ทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานกับองค์กรระดับนี้เป็นองค์กรๆ มาสองสามปีแล้ว  และอย่างน้อยในสองปีข้างหน้า ชมรมฯ จะทำงานร่วมกับสมาคมสันนิบาติเทศบาลแห่งประเทศไทยเพื่อให้งานขยายออกไปเร็วยิ่งขึ้นด้วยในโครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ เมืองจักรยาน และเมืองรู้สู้ภัยพิบัติ สู่เมืองสุขภาวะที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ซึ่งในระยะยาว ชมรมฯ คาดหวังว่าเทศบาลที่ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างจริงจังจะจัดสรรงบประมาณประจำปีมาจัดทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยานดังที่ศาสตราจารย์ฟุลตันและผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เสนอ แล้วการใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ในการเดินทางจะมีส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา เขียนจาก Bicycles Can Be a “Huge Part” of Combating Climate Change โดย Robert Annis ใน bicycling.com

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น