Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมร่วมคณะทำงานจัดทำทางจักรยานเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบังกับ สจล.

ชมรมร่วมคณะทำงานจัดทำทางจักรยานเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบังกับ สจล.

เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๖ กระทรวงคมนาคม มีการประชุมเรื่อง “แนวทางการส่งเสริมระบบการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖” โดยมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านอำนวยการ(รปค.อร.) เป็นประธานในที่ประชุมผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากในกระทรวงคมนาคมแล้วก็มีตัวแทนของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (คือนายกวิน ชุติมา) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ตำรวจนครบาล สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ กทม. รวมทั้งนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

ในเรื่องการปรับปรุงระบบการเชื่อมต่อและแก้ไขปัญหาพื้นที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบังนั้น ที่ประชุมเห็นชอบกับข้อเสนอของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ที่ให้พัฒนาทางจักรยานตามแนวถนนคู่ขนานเลียบมอเตอร์เวย์จาก สจล. ไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าลาดกระบัง ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร ด้วยเหตุผลหลักๆในด้านความสะดวกในการก่อสร้างและมีปริมาณการเดินทางด้วยจักรยานอยู่เดิม โดยให้ สนข. เสนอเป็นโครงการสั้นๆขึ้นไปที่กระทรวง มีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยตัวแทนจากชมรมฯ กรมทางหลวง(ทล.) รฟฟท. สนข. ฯลฯ ขึ้นมาทำรายละเอียดในการก่อสร้างให้ ทล. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการ มีนายจำรูญเป็นที่ปรึกษา และให้นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ ในเรื่องการจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน, ประเด็นการขนส่งที่ยั่งยืน และการลดโลกร้อน/ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพิจารณาด้วย โดยตัวแทนชมรมฯ ได้เสนอให้ใช้หลัก “ปลอดภัย น่าใช้ และใช้ได้จริง” เป็นเกณฑ์ในการออกแบบ นอกจากนั้นคณะทำงานชุดนี้ยังจะหารือให้ได้ข้อสรุปรายละเอียดการจัดทำและบริหารจัดการพื้นที่จอดรถจักรยาน และการจัดทำโครงการจักรยานสาธารณะ (Public Bike Sharing) ที่สถานีรถไฟฟ้าแห่งนี้ด้วย

ส่วนในเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบทางเท้าทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งทั้งหมด ๑๐ สายทาง ระยะทางรวม ๔๖๔ กิโลเมตร มีกำหนดจะสร้างเสร็จในปี ๒๕๗๓ ครอบคลุมพื้นที่บริการภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลนั้น สนข.ได้เสนอให้พัฒนาทางจักรยานเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางราง โดยจัดให้มีระบบทางจักรยานและทางเท้า รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ขี่จักรยานให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้ากับชุมชนโดยรอบในรัศมี ๓-๕ กิโลเมตร และมีระบบจักรยานสาธารณะในพื้นที่ที่มีศักยภาพ, สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเพื่อจูงใจ ให้ความรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของประชาชนให้หันมาใช้จักรยานในการเดินทางในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น และให้มีการพิจารณาปรับปรุงกำหนดด้านข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขี่จักรยานและคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ขี่จักรยาน  โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของประธานที่ให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เป็นกลไกในการจัดการเรื่องนี้ โดยให้ สนข. ซึ่งเป็นเลขานุการ คจร. ทำเป็นระเบียบวาระเข้าไปหารือ เมื่อเรื่องผ่าน คจร.แล้วก็จะส่งถ่ายต่อไปให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติได้โดยง่าย และให้มีโครงการนำร่องในจังหวัดต่างๆด้วย

นอกจากนั้นประธานยังได้สั่งการให้ สนข.นำเรื่องทางจักรยานไปเป็นประเด็นการเสวนาของกระทรวงคมนาคมซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันศุกร์ โดยถ้านำเรื่องไปจองไว้ขณะนี้จะได้จัดในเดือนมีนาคม ทำให้ สนข.มีเวลาทำการบ้านเตรียมการสองเดือน

ความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ ข้างต้น ชมรมฯจะนำมาเสนอต่อไป

รูปเป็นที่จอดจักรยานที่สถานีรถไฟฟ้า

รายงานโดย กวิน ชุติมา

มกราคม 2556

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น