Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / รองผู้ว่าฯ กทม. เยี่ยมชุมชนส่งเสริมการใช้จักรยาน

รองผู้ว่าฯ กทม. เยี่ยมชุมชนส่งเสริมการใช้จักรยาน

รองผู้ว่าฯ กทม. เยี่ยมชุมชนส่งเสริมการใช้จักรยาน

หลังจากเริ่มทำโครงการสร้างชุมชนจักรยานในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ชุมชนหน้าวัดโคนอน เขตภาษีเจริญ ประสบความสำเร็จไปเมื่อปี 2554-55 แล้ว มูลนิธิโอกาสก็ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและในโครงการใหม่ที่เริ่มในปี 2556 คือ “โครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” มูลนิธิฯ ได้ขยายพื้นที่ทำงานออกไปทำกับชุมชน 12 แห่งใน 11 เขตของกรุงเทพฯ ครอบคลุมชุมชนทั้งห้าประเภทและทั้งหกกลุ่มเขต/โซนของกรุงเทพฯ ทำให้เป็นชุมชนนำร่องในการสร้างชุมชนจักรยาน โดยคัดเลือกจากชุมชนที่ชาวบ้านราวร้อยละ 10 ขึ้นไปใช้จักรยานอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชุมชนบ้านม้าเกาะล่างใช้จักรยานมากถึงร้อยละ 30 

ครั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชุมชนเป็นการประสานงานและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชน กรุงเทพมหานคร(กทม.) และมูลนิธิโอกาส และให้ผู้บริหาร กทม. ได้เรียนรู้จากชาวชุมชนโดยตรงด้วยตนเองและได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริง  มูลนิธิโอกาสจึงได้ประสานงานเชิญ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรักษาการณ์ผู้ว่าฯ กทม. ลงเยี่ยมชุมชน  โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ไปแล้ว 4 ชุมชนคือชุมชนหลังวัดบุญรอด เขตพระโขนง, ชุมชนสกุลทิพย์ เขตทวีวัฒนา, ชุมชนโกสุมสามัคคี เขตดอนเมือง และชุมชนบ้านม้าเกาะล่าง เขตสะพานสูง ในวันที่ 3, 4, 10 และ 11 ตามลำดับ และมีแผนจะลงเยี่ยมเยียนทั้ง 12 ชุมชน

ในแต่ละชุมชน รองผู้ว่าฯ กทม.จะได้รับฟังรายงานสภาพการขี่จักรยานของชุมชน ปัญหา และสิ่งที่ชุมชนต้องการให้ กทม.ดำเนินการอันจะเอื้ออำนวยต่อการใช้จักรยานของพวกเขามากขึ้น อย่างชุมชนโกสุมสามัคคีขอให้ กทม.ปรับปรุงเส้นทางจักรยานเลียบถนนสรงประภาที่มีอยู่เดิมและเสียหายไปเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และให้ทำที่จอดจักรยานที่หน้าร้านสะดวกซื้อและตลาดโกสุม นอกจากนั้นก็ให้ทำคันชะลอความเร็วเพิ่มและปรับทางลาดเชื่อมถนนกับซอยให้ไม่ชันจนเกินไป   ส่วนชุมชนบ้านม้าเกาะล่างขอให้ทำราวกั้นทางปูนเลียบคลองบ้านม้าในส่วนที่ยังขาดอยู่บริเวณส่วนที่ลอดมอเตอร์เวย์ (ส่วนอื่นมีอยู่แล้ว) และปรับปรุงขยายสะพานข้ามคลองบ้านม้าตรงชุมชนให้กว้างและมีราวกั้น ให้ชาวบ้านใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเด็กที่ขี่จักรยานไปโรงเรียน

ทางด้านรองผู้ว่าฯ กทม. ได้ยืนยันว่าการส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์ จึงขอรับคำขอของชาวบ้านและมอบต่อไปให้ฝ่ายโยธาและเขตไปพิจารณาดำเนินการ โดยกล่าวว่าสิ่งที่ชาวบ้านขอไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินไป แต่ชาวบ้านก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดของ กทม.ที่เป็นหน่วยงานราชการ ต้องทำตามระเบียบขั้นตอน เช่น ทำอะไรไม่ได้รวดเร็วดังใจนึก เห็นชอบแนวคิดและทำเป็นแผนก่อนแล้วจึงจะตั้งงบประมาณได้  นอกจากนั้น กทม.ยังเอางบประมาณไปลงทำอะไรในที่เอกชนไม่ได้ เจ้าของต้องอนุญาตหรือยกที่ให้ก่อน ส่วนคันชะลอความเร็วนั้น ถนนต้องกว้าง 8 เมตรขึ้นไปจึงจะทำได้  รองผู้ว่าฯ ได้แนะนำให้พูดจาหรือประกาศขอความร่วมมือจะง่ายกว่า ตรงนี้ตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยที่ไปร่วมการพบปะได้เสริมว่า เขตสามารถขอให้เจ้าพนักงานจราจรกำหนดเขตจำกัดความเร็วได้ ซึ่งรองผู้ว่าฯ กล่าวว่า สุดท้ายแล้วก็ขึ้นกับจิตสำนึก มีกฎแล้วก็อาจจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้  มีการสำรวจพบว่า คนในกรุงเทพฯ ร้อยละ 80 ยอมรับว่าเคยฝ่าฝืนละเมิดกฎจราจร

รองผู้ว่าฯ อยากให้ชาวชุมชนบอกเขตว่าอยากขี่จักรยานไปที่ไหน กำหนดเป็นเส้นทางออกมา ไม่ใช่เขตไปจิ้มออกมาข้างเดียว อาจไม่ถูกใจชาวบ้าน  จะให้สร้างที่จอดจักรยานก็ต้องไปดูว่ามีที่พอไหม ต้องคิดถึงผู้ใช้พื้นที่คนอื่นๆด้วย  ท้ายสุดก็ได้ขอให้ผู้ใช้จักรยานรักษาวินัยการจราจร อยากให้ทุกคนขี่จักรยาน แต่ก็ต้องขี่ให้ปลอดภัย ดูแลชีวิตตนเอง ไม่ใช่ถือว่ามีสิทธิใช้ถนนแล้วจะทำอะไรก็ได้

อนึ่งโครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย” ของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น