Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / การเดินการใช้จักรยานเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่กำลังเร่งขับเคลื่อนให้เป็นจริง

การเดินการใช้จักรยานเป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่กำลังเร่งขับเคลื่อนให้เป็นจริง

เพื่อให้การดำเนินการตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่างๆ เกิดความคืบหน้าและมีประสิทธิผลประสบความสำเร็จมากขึ้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จึงได้จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีโดยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ มติ ๕.๑ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน” เป็นหนึ่งในห้ามติสมัชชาสุขภาพฯ ที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในวันนั้น

                       

การประชุมเริ่มต้นด้วยการกล่าวต้อนรับและชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมในที่ประชุมใหญ่โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. และการชี้แจงการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) โดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวะพลา ประธาน คมส.  ซึ่งคุณหมอทั้งสองได้ย้ำเน้นว่า ในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น องค์กรที่ริเริ่มดำเนินการให้เกิดมติในเบื้องต้นจะเป็นแกนหลักอยู่แล้ว (เช่น ในมติ ๕.๑ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” คือชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย) บทบาทหน้าที่ของ คสช. คือเกื้อหนุนให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง-ผู้มีส่วนได้เสีย ก่อให้เกิดความผูกพันมาทำให้เกิดความสำเร็จของมติสมัชชาสุขภาพร่วมกัน เช่นการประชุมครั้งนี้

จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยตามมติทั้งห้า เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าในการขับเคลื่อนมติที่ผ่านมาและระดมความคิดกำหนดแนวทางในการดำเนินงานต่อไป   สำหรับมติ ๕.๑ นั้นมีคุณรัตนา สมบูรณ์วิทย์ กรรมการ คมส. เป็นประธาน และ ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นรองประธาน และมีผู้เข้าร่วมเกือบ ๔๐ คน ซึ่งมาจากภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง ได้แก่แกนนำและกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพฯ ตัวแทนหน่วยงานราชการ (กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กรมอนามัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร) นักวิชาการ (สถาปัตยกรรม พลศึกษา สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์) ตัวแทนชมรมจักรยาน และผู้นำชุมชนที่กำลังจะก่อตัวเป็นชุมชนจักรยาน

ทพ.อนุศักดิ์ได้เริ่มการแลกเปลี่ยนด้วยการนำเสนอความเป็นมาของมติสมัชชาสุขภาพฯ มติ ๕.๑ เส้นทางเดิน(Road map)ของมตินี้ และการดำเนินงานที่ผ่านมาของชมรมฯ (ดูรายงานข่าวที่ผ่านมาในเว็บไซต์นี้)  จากนั้นเกือบทุกคนได้ร่วมแสดงความเห็น ซึ่งมีทั้งให้ความรู้ใหม่หลายอย่างอันมีประโยชน์ยิ่งในการขับเคลื่อนมติ ๕.๑  และช่วยขยายความหรือแก้ไขข้อความบางแห่งในมติฯ ที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป  ดังตัวอย่างเช่น

·  เรื่องการกำหนดราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับการเดิน การใช้จักรยาน และการเดินทางของคนพิการ ให้มีราคาที่เป็นธรรมนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ มิใช่กระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงควรเชิญตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องเรื่องนี้โดยตรงเข้าร่วมในการขับเคลื่อน

·  กระทรวงการท่องเที่ยวฯกำลังจะทำแผนจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว

·  กรุงเทพมหานครกำลังจะดำเนินหลายอย่าง เช่น ทำทางจักรยานจากสถานีรถไฟฟ้า BTS บางหว้าผ่านถนนพุทธมณฑลสาย ๑ ไปสถานีขนส่งสายใต้, คัดเลือกทางจักรยานของ กทม.ที่มีอยู่ ๓๐ เส้นมาทำให้ปลอดภัยมากขึ้น ฯลฯ

·  กรมอนามัยจะรณรงค์ให้ขี่จักรยานในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขที่จังหวัดนนทบุรี มีทางจักรยานเชื่อมต่อเข้ามาจากสถานีรถไฟฟ้า MRT  ส่งเสริมให้แพทย์พยาบาลขี่จักรยาน ให้โรงพยาบาลต่างๆ มีชมรมจักรยาน ฯลฯ

· ที่ลำปาง ชมรมจักรยานได้ร่วมมือกับร้านค้ามีการให้แต้มคนที่ขี่จักรยานมาซื้อสินค้านำไปแลกของได้ เช่น น้ำดื่ม

· ปลัดกระทรวงคมนาคมลงนามแต่งตั้งคณะทำงานมาขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้จักรยานไปแล้ว แต่ที่ผ่านมา การดำเนินงานยังขลุกขลักเนื่องจากถูกผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่ทำงาน ต้องย้ายหลายครั้ง

· พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕(ฉบับปรับปรุงปี ๒๕๔๙)ให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นคือ นายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต. หรือแม้แต่ ผู้ว่า กทม. หรือพัทยาเป็น “ผู้อํานวยการทางหลวง” ที่ผ่านเข้าไปในเขตปกครองของตน สามารถจัดการจราจรได้

· หากเรื่องการส่งเสริมการเดินการใช้จักรยานเป็นวาระแห่งชาติ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นสามารถนำไปเป็นนโยบายทำได้ทันที  นอกจากนั้นในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ควรสมาคม อบต., สมาคม อปท. และสมาคมเทศบาล เข้าร่วมด้วย เพราะเป็นเอกเทศ มีข้อบัญญัติของตนเอง จะได้ผลมากกว่ากรมฯ ไปผลักดันเอง

ทพ.อนุศักดิ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีหลายแห่งได้ดำเนินการคู่ขนานไปแล้วในระดับจังหวัด ในสมัชชาสุขภาพจังหวัด ทำให้มติฯ ลงไปสู่การปฏิบัติในระดับชุมชนได้รวดเร็วขึ้น

ส่วนคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ ได้เล่าถึงความเป็นมาของภาคผนวกของเอกสารหลักของมติฯ นี้ ซึ่งเป็นร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน  และข้อ ๒.๑ ของมติฯ ได้ขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีสนับสนุนกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ โดยพิจารณาจากร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์นี้เป็นเอกสารตั้งต้น  แต่ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งมาว่าให้ คสช.เป็นผู้ดำเนินการตามมติฯ ข้อ ๒.๑ เอง ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา ๒๗ ของพระราชบัญญัติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้อำนาจหน้าที่ไว้แล้ว

                      

ทางด้านคุณรัตนา ประธานในที่ประชุม ได้ขยายความว่า การจัดทำยุทธศาสตร์ควรจะมีคณะทำงานมาดำเนินการ จัดเป็น “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น”  ซึ่งจะมีผลเท่ากับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปีและสามารถจัดได้ทันในช่วงเดียวกันปลายปีนี้  กระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นนี้ คสช.จะเป็นฝ่ายหนุนและ คมส.ร่วมเป็นฝ่ายวิชาการ โดยหลักๆ แล้ว ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยจะเป็นแกนนำ ประสานภาคีต่างๆ รวมทั้งกระทรวงและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงในร่างยุทธศาสตร์นี้  กระบวนการนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่ คสช. เรียกว่า “คานงัด” ในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

รายงานโดย  กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC)

  TCC เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF)

และผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น