Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / 12 ชุมชนหารือ กทม. ส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชนในเขตกทม.

12 ชุมชนหารือ กทม. ส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชนในเขตกทม.

หลังจากนัดหมายให้ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรักษาการผู้ว่าฯ ลงเยี่ยมชุมชนที่เข้าร่วม“โครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ส่วนหนึ่งแล้ว ทางมูลนิธิโอกาส

ผู้ดำเนินโครงการ ก็ได้นัดหมายให้ตัวแทนทั้งสิบสองชุมชนที่เข้าร่วมโครงการไปหารือกับรองผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งหนึ่งโดยรวม เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

ผู้แทนชุมชนจาก 12 ชุมชนเข้าร่วมประชุมหารือ ดร.ผุสดี ตามไท นั่งเป็นประธานการประชุมครั้งนี้

ในการหารือครั้งนี้ ตัวแทนชุมชนได้เสนอปัญหาและความต้องการของชุมชนตนเองที่เกี่ยวกับการใช้จักรยาน ซึ่งหลักๆ คือที่จอดจักรยานที่ป้ายรถประจำทาง ตลาด ห้างหรือศูนย์การค้า และสถานที่ราชการ กับเส้นทางจักรยานที่ใช้ขี่ได้ปลอดภัยขึ้น ซึ่งทางรองผู้ว่าฯ ชี้แจงว่า เส้นทางจักรยานอยู่ในนโยบายเร่งด่วนที่อยากเห็นกรุงมหานครเป็นนครแห่งความสุข นครแห่งโอกาส ของผู้ว่าฯ สุขุมพันธ์อยู่แล้ว แต่กรุงเทพฯ เติบโตโดยไม่ได้คิดเรื่องจักรยานมาก่อน จึงต้องสำรวจอย่างจริงจังในพื้นที่จริงว่าจะทำอะไรได้  แล้วเสนอไปเป็นรูปธรรมชัดเจน รวมทั้งว่าหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ เช่น ใช้ทำที่จอดจักรยาน ต้องมีข้อมูลและหาทางออกร่วมกันชัดเจนว่า เป็นพื้นที่สาธารณะที่ กทม.ดูแล, พื้นที่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการอื่น หรือเป็นที่เอกชน

หากเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ กทม.ก็น่าดำเนินการได้เลย แต่ถ้าเป็นพื้นที่ทางเท้าสาธารณะก็ต้องดูว่าจะไม่เป็นอุปสรรคให้คนเดินเท้าเดินไม่สะดวก ทางเท้าต้องเป็นมิตรกับคนเดินเท้าเป็นหลัก ถ้าจะให้จักรยานมาใช้ก็ต้องให้ใช้ร่วมกันอย่างปลอดภัย, หากเป็นพื้นที่หน่วยงานราชการอื่นก็เป็นของหน่วยงานใดที่ กทม.จะต้องไปประสานงาน  และหากเป็นที่เอกชน ประชาชนต้องตระหนักว่า กระทรวงการคลังมีระเบียบห้ามนำเงินภาษีของประชาชนไปลงทุนในที่เอกชน นอกจากว่าเจ้าของที่ต้องยกให้ กทม.ก่อน หรือทำสัญญาว่าอนุญาตให้ กทม.ใช้เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างน้อย ๑๕ ปีขึ้นไป กทม.จึงจะดำเนินการได้โดยสะดวก  เมื่อมีข้อมูลชัดเจนแล้ว รองผู้ว่าฯ จะได้ลงไปที่เขต นัดหัวหน้าเขตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาคุยกันให้ได้ข้อสรุปและดำเนินการ

การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันนั้นไม่ต้องทำก็ได้เพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก  แต่หากจะทำบันทึกความเข้าใจก็ต้องครอบคลุมทั้งสองฝ่ายให้มาช่วยกัน ประชาชนจะทำอะไร ราชการจะทำอะไร ปรับระเบียบหรือจัดงบประมาณให้มาเอื้ออำนวยได้ กทม.ไม่มีอำนาจเต็มในการทำทุกเรื่อง เช่น ถนน แต่ก็มีบางเรื่องที่ กทม.ทำได้ทันทีด้วยงบประมาณของ กทม.เอง เช่น ทาสีทำเครื่องหมายต่างๆ  อย่างไรก็ตาม งบถูกใช้ไปแล้วไม่น้อย  ดังนั้นต้องคุยกับเขตก่อนให้เห็นภาพชัดว่าเขตจะทำอะไรกับพื้นที่นั้น เช่น มีโครงการขยายถนนหรือไม่ ถ้ามีข้อมูลชัดแล้ว อยากให้ทำอะไรส่งให้รองผู้ว่าฯ ส่งไปให้เขตดูได้เลย

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังได้ย้ำว่า งบพัฒนาชุมชนที่ กทม.จ่ายให้ชุมชนที่ลงทะเบียนเป็นทางการไว้กับ กทม. เดือนละ ๕,๐๐๐ หรือ ๗,๐๐๐ หรือ ๑๐,๐๐๐ บาทตามขนาดของชุมชนนั้น กทม.มีความตั้งใจให้ไปจัดกระบวนการสร้างความคิด สร้างการมีส่วนร่วม ระดมความคิดวิเคราะห์ปัญหาและทางแก้ไข รวมทั้งว่าจะไปขอการสนับสนุนจากหน่วยงานใดมาดำเนินการ ไม่ใช่ให้ไปจัดจ้างหรือซื้อสิ่งของใดๆ  ซึ่งถ้าหากว่าชุมชนเองใช้เงินไปในแบบหลังนี้ก็ไม่ถูกต้อง และหากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเขตใดให้ชุมชนใช้เงินทำไปในแบบนี้ก็ให้แจ้งไปที่รองผู้ว่าฯ สั่งการได้

คุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศ ซึ่งเป็นผู้แทนชมรมฯ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ชมรมฯ ยินดีสนับสนุนเต็มที่ในด้านวิชาการความรู้ต่างๆ ในการทำที่จอดจักรยาน เส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย และเรื่องอื่นๆ และได้เสนอแนะให้ชุมชนทำข้อมูลให้เป็นระบบ มีตัวเลข แผนที่ และภาพถ่ายพื้นที่-เส้นทาง ที่ชัดเจน  นอกจากนั้นก็ได้แจ้งข่าวดีว่า โครงการอาสาซ่อม อาสาสอน ที่ระยะแรกทุนกำลังจะหมดลงนั้น น่าจะได้ดำเนินการต่อในระยะที่สองค่อนข้างแน่นอน  แล้วจากการสนับสนุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจักรยานเป็นเบื้องต้น ดังนั้นชุมชนใดที่ยังไม่มีโครงการนี้ลงไปทำและสนใจต้องการให้ทีมงานลงไปก็ติดต่อเข้ามาได้ 

อนึ่ง โครงการสนับสนุนการเดินและการสร้างชุมชนจักรยานสู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ เป็นโครงการย่อยโครงการหนึ่งภายใต้โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทยของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

—————————————————————————————————————————————————————————

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)ด้วย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น