Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1

ประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1

รายงานการเข้าร่วมประชุม สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 1

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม 2557 ณ โรงแรมเซนทาราคอนเวนชั่น จังหวัดขอนแก่น
โดย  ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย  ประธานกำกับทิศโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานฯ

ที่มา

เครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินจังหวัดขอนแก่น โดยคุณสุรพงษ์  ใจเมือง ได้เข้ามีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นสาธารณะว่าด้วย”การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” เป็น 1 ใน 5 ประเด็นของการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่นครั้งที่ 1 ได้แก่

1. ความปลอดภัยทางอาหารและการสร้างพื้นที่อาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น

2. การควบคุมการโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ จังหวัดขอนแก่น

3. การส่งเสริมและสร้างความตระหนักในการสวมหมวกนิรภัยทุกพื้นที่

4. การบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จังหวัดขอนแก่น

5. การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน

โดยบรรยากาศการประชุม มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆกว่า 400 คน อยู่ภายใต้แนวคิด “ชาวขอนแก่นร่วมสร้างนโยบายสาธารณะ เพื่อสุขภาวะที่ดี” มีนายองอาจ วีรภัทรสกุล เป็นประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ประธานในพิธีเปิดคือ นายวิวัฒ เมธีวรรณกิจ และนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) แสดงปาฐกภาพิเศษเรื่อง “สมัชชาสุขภาพกับการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ต่อด้วยเวทีเสวนาประเด็น “สมัชชาสุขภาพกับการสร้างสังคมสุขภาวะของชาวขอนแก่น” โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ประธานกรรมการจัดประชุมฯและประธานกลุ่มอนุรักษ์โคกหินขาว

ในช่วงบ่ายเป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและรับรองมติฯ โดยประเด็นที่ 5 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานมี นพ.ประยูร โกวิทย์ กรรมการจัดประชุมฯเป็นประธาน มีคุณกาญจนา เหลืองอุบล และคุณชญานิตย์ เขียวสด จากศูนย์อนามัยที่ 6 จังหวัดขอนแก่น เป็นผู้นำเสนอ และมีคุณสุรพงษ์ ใจเมือง ข้าพเจ้า ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานกำกับทิศโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานฯ และคุณวัตกรณ์ ชูโรจน์สุขเกษม เป็นทีมวิชาการผู้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือตอบคำถามจากผู้เข้าร่วมประชุม

ข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุม แก้ไขข้อความบางส่วน เพิ่มและ/หรือแก้ไขบทบาทของหน่วยงานองค์กรที่น่าจะเข้ามามีส่วนสนับสนุน เช่น สำนักทางหลวงที่ 5 และแขวงการทางที่ 1,2 และ 3 เทศบาลตำบลบ้านแฮด รวมทั้งข้อเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสถานศึกษาควรลดหย่อยค่าลงทะเบียน เป็นต้น

ข้าพเจ้า ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานกำกับทิศโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานฯ ได้อภิปรายชี้แจงแสดงความยินดีกับประชาคมชาวขอนแก่นที่มีการนำวาระนี้เข้าสู่ประเด็นสาธารณะของจังหวัด ถือเป็นจังหวัดแรกที่ใช้เวทีสช.ในระดับจังหวัดคู่ขนานไปกับภารกิจในระดับประเทศที่ต้องขับเคลื่อนโดยสำนักงานสช.และชมรมจักรยานแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานระดับกระทรวงและกรมฯตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำลังดำเนินการประสานให้เกิดแผนยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรมในระยะต่อไป

ภายหลังการนำเสนอแล้ว ที่ประชุมมีมติรับรองมติฯ ก่อนกลับเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่เพื่อสรุปการประชุม รับรองมติ ประกาศปฏิญญาสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่ และการมอบมติฯให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

1. บริเวณหน้าห้องประชุมที่ใช้จัดงาน เครือข่ายฯขอนแก่นได้จัดพื้นที่นำเสนอความเคลื่อนไหวของเครือข่าย พร้อมเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรบนแผ่นป้าย และการจัดมุมถ่ายรูป อันเป็นการสร้างความสนใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างดี

2. เครือข่ายฯจัดให้มีการมอบแผ่นป้าย ผู้ที่เป็นหน่วยงาน/องค์กรสนับสนุนการใช้จักรยาน ถือเป็นทั้งสัญลักษณ์และการสร้างความผูกพันต่อภารกิจในขั้นต่อไปของแต่ละพื้นที่ โครงการฯจึงน่าจะทำป้ายมาตรฐานต้นแบบที่มีสัญลักษณ์ เดินไปปั่นไป เพื่อเผยแพร่เป็นแนวทางเดียวกัน

3. การนำเสนอประเด็นเพื่อการขอรับรองมติของขอนแก่น น่าจะใช้แนวทางจากมติสช.กลาง แต่ก็มีประเด็นที่เป็นท้องถิ่นที่โครงการจะต้องทำการแยกแยะเพื่อศึกษาความแตกต่าง บางประเด็นอาจเป็นเรื่องเฉพาะที่ แต่บางประเด็นก็น่าจะสามารถนำเสนอให้เป็นแบบอย่างแก่จังหวัดอื่นๆที่สนใจนำเข้าสู่วาระจังหวัดไปได้ด้วย ขณะเดียวกัน ควรพิจารณาประเด็นที่ควรเสนอให้เพิ่มเติมในการนำไปทำประเด็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดต่อไปด้วย

4. ควรขอให้ทางเครือข่ายฯขอนแก่น  ดำเนินการสรุปปัญหาอุปสรรคในการผลักดันที่ผ่านมาเพื่อเป็นข้อสังเกตไว้ด้วย

5. โครงการฯควรส่งผู้แทนสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายจังหวัดและติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยใช้โอกาสของเครือข่ายในการสนับสนุนการทำชุมชนเดิน-จักรยานในจังหวัดเดียวกันไปด้วย

6. เครือข่ายฯขอนแก่นมีความกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนเพื่อขยายพื้นที่ส่งเสริมการใช้จักรยานไปสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นพื้นที่และอำเภอรอบนอกเป็นอย่างมาก โครงการควรพิจารณาจัดแบ่งระดับของทุนสนับสนุนการประสานงานในจังหวัดที่มีภารกิจแตกต่างกันเช่น เล็ก กลาง ใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้ปฏิบัติงานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวจนเกินความเหมาะสม ทั้งวางกรอบค่าใช้จ่ายที่โครงการจะสนับสนุนเครือข่ายไว้ให้ชัดเจนโปร่งใสโดยสอดคล้องกับระเบียบของทางการ

7. ในจังหวัดต่างๆ มีชมรมจักรยานในโรงเรียนทั้งประถมและมัธยมเกิดขึ้น เช่น ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดตั้งชมรมจักรยานคุณธรรม (Moral Bike)มากว่า 5 ปี โดยครูที่มีจิตอาสา ใช้กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับจักรยานไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในทางสร้างสรรค์แก่เยาวชนได้อย่างน่าชื่นชม โครงการฯควรหาทางจัดตั้งกองทุนสนับสนุนอย่างกว้างขวางในระดับประเทศ เช่น กองทุนสนับสนุนจักรยานเยาวชนสร้างสรรค์อนาคต เป็นต้น

หมายเหตุ รายงานนี้เป็นฉบับร่างเพื่อรับการแก้ไขเพิ่มเติม หากท่านผู้อ่านมีความประสงค์ขอแก้ไขเพิ่มเติมหรือเสนอแนะ กรุณาเสนอด้วยจะขอบพระคุณยิ่ง

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น