Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ศาลเชียงใหม่เลื่อนการตัดสินคดีคนเมาขับรถชนนักจักรยานเสียชีวิต

ศาลเชียงใหม่เลื่อนการตัดสินคดีคนเมาขับรถชนนักจักรยานเสียชีวิต

ศาลเชียงใหม่เลื่อนการตัดสินคดีคนเมาขับรถชนนักจักรยานเสียชีวิต

เช้าวันที่ 9กันยายน 2558ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดพิจารณาคดีที่นักจักรยานสามคนถูกคนเมาขับรถชนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3พฤษภาคม 2558โดยมีพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโจทก์  การพิจารณาจัดขึ้นในห้อง 21 ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีขนาดเล็ก มีที่นั่งให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้ประมาณ 20 คน ในขณะที่มีผู้สนใจเข้ารับฟังกว่า 30 คน ซึ่งนอกจากโจทย์ร่วมทั้งสี่กับญาติและทนายแล้ว ก็มีผู้พิการนั่งเก้าอี้ล้อเลื่อนในฐานะตัวแทนเหยื่อเมาแล้วขับ 3 ราย, ตัวแทนจากชมรมจักรยานเสือสันทรายจังหวัดเชียงใหม่ที่นักจักรยานที่เสียชีวิตทั้งสามเป็นสมาชิก, นายกวิน ชุติมา ตัวแทนจากชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนที่ติดตามคดีจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและเดลินิวส์ กับโทรทัศน์ช่อง 3, 7 และไทยพีบีเอส เป็นต้น  ส่วนทางฝ่ายจำเลย มีจำเลยซึ่งโกนผมบวชชีมาในชุดขาว, บิดากับลุงของจำเลย และสุภาพสตรีที่แนะนำตนเองว่าเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย 

ศาลเริ่มต้นด้วยการเตือนว่า แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ มีผู้ติดตามทั่วประเทศ ก็อย่าได้กดดันศาลให้เสียความยุติธรรม จึงไม่อยากให้คนมากเกินไป แต่เมื่อมากันแล้วก็ต้องตรวจสอบว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งศาลได้ถามไล่เรียงให้แต่ละคนแนะนำตัว รวมทั้งตัวแทนชมรมฯ ด้วย  จากนั้นก็ได้อธิบายถึงกระบวนการต่างๆ ของศาลตามกฎหมาย และได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบตัวบุคคลในศาลให้ครบถ้วน  ศาลเตือนด้วยว่าเนื่องจากกระบวนการยังไม่จบลงตรงนี้ การนำไปรายงานต่อสาธารณะโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจะมีความผิด การติดตามข่าวต้องเป็นกลางไม่แสดงความเห็นที่เป็นอิทธิพลต่อศาล ซึ่งอาจมีความผิดเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้  

จากนั้นศาลมีคำสั่งอนุญาตการยื่นขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ เนื่องจากพนักงานอัยการโจทก์ไม่คัดค้าน คือการยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมที่ 1ของนางสาวก้องกานต์ ย่องลั่น และนางสาวนินนท์ ย่องลั่น บุตรสาวนายชัยรัตน์ ย่องลั่น ผู้ตายที่ 1, การเป็นโจทก์ร่วมที่ 2ของนางปราณี กันธา ภริยานายสมาน กันธา ผู้ตายที่ 2, การเป็นโจทก์ร่วมที่ 3ของนายแก้ว คำแก้ว และนางแก้ว คำแก้ว บิดามารดานายพงษ์เทพ คำแก้ว ผู้ตายที่ 3, และการเป็นโจทก์ร่วมที่ 4ของว่าที่ร้อยตรีสุพล ตาสิงห์ ผู้เสียหายที่ 1(ว่าที่ร้อยตรีสุพลเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์เดียวกัน ส่วนว่าที่ร้อยตรีพงษ์ศักดิ์ พลสิงห์ ผู้บาดเจ็บอีกคน ไม่ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม)  การได้เป็นโจทก์ร่วมทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสามารถยื่นขออุทธรณ์ไปจนถึงศาลฎีกาได้ หากไม่พอใจผลการพิพากษาของศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และ 390 เท่านั้น เพราะความผิดตาม พรบ.จราจรทางบกนั้น รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายในคดี  โจทย์ร่วมทั้งสี่มีทนายเป็นตัวแทน โดยทนายของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึง 3 ตามลำดับคือทนายพิริยะ สีหะกุลัง, ทนายคมกฤติ คุณยศยิ่ง และทนายนิตยา หว่างไพบูลย์ ทั้งหมด เป็นทนายสังกัดสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยช่วยประสานงาน 

ศาลสรุปให้คู่ความฟังตามคำฟ้องของอัยการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 291 และ 390, พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 และ 160ตรี, พรบ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551มาตรา 4, พรบ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550มาตรา 11, กฎกระทรวงฉบับที่ 16 พ.ศ. 2537 ออกตามความ พรบ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522ลงวันที่ 15พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 และสรุปว่า แม้คำร้องจะขอให้ศาลลงโทษหนัก และศาลจะเข้าใจความรู้สึกของโจทย์ ซึ่งศาลรับไว้พิจารณา ศาลก็ต้องใช้ความเป็นกลาง และจำเลยได้รับสารภาพแล้ว 

ศาลให้คู่ความแถลงร่วมและจำเลยรับว่ากระทำความผิดในคดีนี้  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา  ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันนั้นโดยมีคำสั่งให้สืบเสาะฯ ก่อนหน้าวันนัด แต่เนื่องจากมีการร้องคดีแพ่งรวมเข้ามาด้วย การพิจารณาคดีอาญาจึงต้องฟังคดีแพ่ง ต้องมีการนำสืบตามกระบวนการ ทราบว่าโจทก์ร่วมที่ 1-3ได้รับค่าสินไหมจากบริษัทมิตรแท้ประกันภัยแล้วรายละ 1,200,000บาท เป็นเงินคุ้มครองสูงสุดตามสัญญาประกันชั้น 1 จำนวน 1 ล้านบาท และจากความคุ้มครองตาม พรบ.อีก 200,000 บาท  ส่วนโจทย์ร่วมที่ 4 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับบริษัทประกันโดยตรง  ในการพบปะเจรจาระหว่างโจทย์ร่วมกับจำเลยก่อนวันขึ้นศาลครั้งนี้ที่มีพนักงานกรมคุมประพฤติเป็นผู้ไกล่เกลี่ย  ผลปรากฏว่าไม่อาจเจรจาค่าเสียหายกันได้ เนื่องจากจำเลยเสนอจะจ่าย 100,000 บาท ในขณะที่โจทย์ร่วมที่ 1-3 เรียกค่าเสียหายรวมกันประมาณ 14 ล้านบาท จะต้องมีการสืบพยานอีก ศาลจึงตัดสินในวันนั้นไม่ได้ 

ศาลได้ให้จำเลยและผู้เสียหายเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง และให้โจทย์ร่วมเล่าถึงสภาพที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ โดยเฉพาะจากการสูญเสียบุคคลที่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูครอบครัวทางการเงิน  จากนั้นได้อธิบายกระบวนการพิจารณาตามกฎหมายว่า การพิพากษาคดีอาญาแม้จำเลยจะรับสารภาพ ก็ต้องดูเหตุอื่นตามมาตรา 52  ศาลแนะนำว่าจำเลยควรให้ความช่วยเหลือโจทย์ร่วมมากกว่านี้และได้ให้โอกาสจำเลยไปตรึกตรองพิจารณาว่าควรจะให้ความช่วยเหลือเท่าใด ให้ใช้จิตสำนึกตัวเองก่อน

ศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมและจำเลยไปนัดไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหาย ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่ อีกครั้งในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 เวลา 9.00 นาฬิกา โดยให้ผู้พิพากษาอีกคนมาดูหลักฐาน และให้เลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีอาญาออกไปก่อน โดยจะเอาคดีแพ่งมาพิจารณาด้วย กับให้จำเลยยื่นคำให้การในคดีแพ่งเรื่องค่าเสียหาย

นอกจากนั้นศาลยังกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการกับนักจิตวิทยาและแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุการกระทำผิดของจำเลยก่อนมีคำพิพากษาในคดีอาญา โดยให้ไปพบเจ้าหน้าที่จิตสังคมประจำศาลจังหวัดเชียงใหม่ในทันทีหลังจากเสร็จศาล ศาลได้อธิบายว่า ศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นศาลแรกในภูมิภาคที่นำกระบวนการนี้มาใช้ 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ศาลกล่าวว่าทราบว่าที่มีผู้สนใจคดีนี้มากเพราะอยากให้สังคมสงบสุข ให้ตัดสินคดีเป็นตัวอย่าง  อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่าควรให้จำเลยรับผิดชอบคนเดียวหรือไม่ ครอบครัวต้องร่วมรับผิดชอบด้วยไหม เพื่อนที่ไปดื่มด้วยกันควรจะต้องรับผิดชอบด้วย  ร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 24 นาฬิกา จะต้องรับผิดชอบไหม  สังคมไม่ได้แก้ไขจากการลงโทษจำเลยคนเดียว ต้องแก้ทั้งระบบ  บ้านเมืองต้องมีกฎเกณฑ์ เราจะลงโทษคนๆเดียวให้สังคมเปลี่ยนไม่ได้ ต้องแก้ทั้งระบบ  แน่นอนว่าความผิดของจำเลยคงอยู่ไม่เปลี่ยนไป แต่ใครจะต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบอีกบ้าง  การลงโทษจำเลยไม่พอ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ ต้องเข้าใจกระบวนการทั้งระบบ หากได้เรียนกฎหมายแล้วจะเข้าใจ  ศาลย้ำหลายครั้งว่าจะเอาความรู้สึกเข้ามาใช้ในการพิจารณาไม่ได้ มิฉะนั้นบ้านเมืองจะไม่เป็นบ้านเมือง ศาลต้องเป็นกลาง

การพิจารณาคดีครั้งนี้ รวมทั้งการบันทึกของศาล ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 4 ชั่วโมง สื่อมวลชนให้ความสนใจสัมภาษณ์ฝ่ายโจทย์ร่วมและผู้สนับสนุนอย่างคึกคักทั้งก่อนและหลังการพิจารณาคดี รวมทั้งผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสที่ได้สัมภาษณ์ตัวแทนของชมรมฯด้วย

ความคืบหน้าต่างๆ ของคดีนี้ ชมรมฯ จะได้ติดตามนำมาเสนอต่อไป

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น