Home / บทความ / ทางเดินที่เดินได้

ทางเดินที่เดินได้

ทางเดินที่เดินได้นี้  ผมไม่ได้หมายถึงทางเดินหรือทางเท้าที่ลุกขึ้นมาเดินเองได้ เพราะนั่นเป็น
หนังการ์ตูน ซึ่งจะจินตนาการอย่างไรก็ได้ แต่ผมหมายถึง “ทางเดิน” หรือ “ทางเท้า” ที่ผู้คนใช้เดินได้

เอ๊ะ! มีด้วยหรือ ทางเดินที่เดินไม่ได้ บางคนอาจถาม…

มีครับ ทางเดินหรือทางเท้าที่ใช้เดินแต่เดินไม่ได้  ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายอย่าง เช่น มีหาบเร่มีแผงลอยมาตั้งวางจนเกือบเต็มพื้นที่และมีคนมาหยุดยืนซื้อของกันแน่นไปหมด หากอยากเดินก็ต้องแทรกหรือเบียดตัวเข้าไป ถ้าใครมีธุระเร่งรีบก็มักจะลงไปเดินบนถนน ซึ่งดูจะเร็วและสะดวกกว่าทางเท้าหรือทางเดินที่มีไว้เดินแต่เดินไม่ได้ดังที่ว่า

แต่ก็เอาเถอะ  ถึงแม้จะต้องลงไปเดินบนถนนซึ่งไม่ได้สะดวกและปลอดภัยนัก แต่มันก็เป็นวิถีชีวิตของสังคมไทย จะดีชั่วอย่างไรก็ต้องหาทางปรับแก้กันต่อไป

ทว่า…สิ่งที่ไม่น่าเป็นปัญหา  แต่กลับเป็นปัญหาต่อการใช้ทางเท้ามาเป็นทางสำหรับคนเดิน  ก็คือ ทางเท้าบางแห่งมันแทบเดินไม่ได้เอาเสียเลย ไม่ว่าจะทรุด หรือเป็นปัญหาจากการเป็นหลุมเป็นบ่อ หรืออิฐตัวหนอนที่ปูเอาไว้มันกระเดิด เดินแล้วสะดุดหัวทิ่วหัวตำ  เช่น  บริเวณหน้าโรงพยาบาลพระมงกฎเกล้า  ใครเดินได้สะดวกกายสบายใจ  เดินได้โดยไม่ต้องก้มลงมองแต่ละย่างก้าวของตัวเอง  ไม่ตกหลุมไม่สะดุด  ให้ไปรับรางวัลจากผมได้

หรือบางที่ก็ทำไว้สูงจากพื้นถนนเป็นฟุต  นัยว่าจะเอาไว้หนีน้ำท่วม(ซึ่งความจริงแล้วมันเป็นคนละเรื่อง  วันหลังจะเขียนอธิบายว่ามันเป็นคนละเรื่องกันอย่างไร)ทำเอาคนแก่  คนพิการที่ตาบอด  หรือใช้ล้อเลื่อน  เดินหรือสัญจรไม่ได้

ปัญหานี้เป็นปัญหาปากคอก  แก้ได้ไม่ยาก  เพียงแต่ใส่ใจกับการทำแบบแปลนและการควบคุมงานก่อสร้างสักนิด  แต่เนื่องจากทางเท้าเป็นงานวิศวกรรมโยธาที่ง่ายที่สุด  และใช้งบประมาณน้อยที่สุด  คนรับผิดชอบจึงมักไม่ค่อยสนใจในรายละเอียด  คิดว่างานง่าย  งานไม่แพง  เป็นงานไม่สำคัญ  ทั้งๆที่มันกระทบกับคนหมู่มากของสังคม
อันที่จริงงานทางเท้าควรได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษให้มากกว่าการทำถนนด้วยซ้ำ  ไม่ว่าเป็นเรื่องการออกแบบ  ควบคุมการก่อสร้าง  การใช้งาน  การบำรุงรักษา  และการใช้งบประมาณ(ให้พอ)

ทางเท้าดีๆในเมืองไทยไม่ใช่ว่าจะไม่มี  ทางเท้าตัวอย่างที่เรียบ เดินไม่สะดุด  ไม่มีเสาไฟฟ้า  ตู้โทรศัพท์  หัวดับเพลิง  ป้ายรถเมล์ ป้ายโฆษณา  มาขวางสลับไปมา  เพราะกทม.ได้ย้ายของพวกนี้และจัดวางใหม่ให้เป็นแนวเดียวกันคือถนนพหลโยธิน  ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงสะพานควาย  แต่ก็ดีอยู่ได้ไม่นานเพราะมีหน่วยงานอื่นมาขุดวางท่อร้อยสายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์  ก็ไม่รู้ว่าวางเสร็จแล้วทำไมไม่ทำของดีๆของเขากลับมาให้ดีเหมือนเดิมไม่ได้  แค่นั้นยังไม่พอ  ยังมีกล่องคอนกรีตขนาดยักษ์สูงจากพื้นสองเมตรมาขวางทางเดินอีกเป็นระยะๆ ทำให้ทางเดินแคบลงเหลือประมาณเมตรเดียว

สงสัยว่าคนออกแบบจะไม่เคยลงมาเดินบนทางเท้าที่ตัวเองสร้างเสร็จ  จึงไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำไปนั้นได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวก  และเกิดทุกข์ภัยกับคนอื่นจำนวนมากเพียงใด  แต่จะไปโทษคนออกแบบหรือก่อสร้างแต่ฝ่ายเดียวก็คงทำไม่ได้เต็มที่นัก  ของแบบนี้มันต้องพูดกันถึงระดับนโยบาย  ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของผู้ว่ากทม.หรือนายกเทศมนตรีในการวางแผนเมืองหรือก่อสร้างเมืองหรือวางสาธารณูปโภค  ที่ต้องให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง  เอาประโยชน์ของเขาเป็นใหญ่  ไม่ใช่เอาความสะดวกหรือความง่ายของเจ้าหน้าที่หรือขององค์กรตัวเองเป็นหลัก

ถ้าทำได้แบบนี้  ทางเดินก็จะเป็นทางเดินที่เดินได้  อย่างที่จั่วหัวไว้เป็นหัวเรื่อง  แล้วทุกคนก็จะมีความสุข

ศ.กิตติคุณ ดร. ธงชัย พรรณสวัสดิ์
บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

Comments

comments

Check Also

แล้ว SDG มันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่อง เดินเรื่องจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น