Home / บทความ / หากชาวโลกเปลี่ยนมาขี่จักรยานกันขนานใหญ่ สังคมจะประหยัดเงินได้ถึง 750 ล้านล้านบาท

หากชาวโลกเปลี่ยนมาขี่จักรยานกันขนานใหญ่ สังคมจะประหยัดเงินได้ถึง 750 ล้านล้านบาท

หากชาวโลกเปลี่ยนมาขี่จักรยานกันขนานใหญ่ สังคมจะประหยัดเงินได้ถึง 750 ล้านล้านบาท

ชาวอเมริกันขี่จักรยานเคียงข้างไปกับรถรางในย่านตลาดกลางเมืองซานฟรานซิสโกในวันขี่จักรยานไปทำงาน 14 พฤษภาคม (Photo: Robert Galbraith/Reuters)

เราพูดได้เต็มปากมานานแล้วว่า หากประชาชนขี่จักรยานไปทำงานกันมากขึ้น พวกเขาก็จะมีสุขภาพดีขึ้น การจราจรก็จะติดขัดน้อยลง และเรายังรู้ด้วยว่า การเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์(โดยเฉพาะรถส่วนตัว)มาใช้จักรยานในการเดินทางจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างความปั่นป่วนเดือดร้อนเสียหายไปทั่วโลกมากขึ้นๆ

ล่าสุดสถาบันศึกษาการขนส่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เมืองเดวิส (Institute of Transportation Studies at University of California, Davis หรือ ITS-Davis) กับสถาบันนโยบายขนส่งและการพัฒนา (Institute for Transport and Development Policy – ITDP) ในนครนิวยอร์ค ได้เปิดตัวรายงานผลการศึกษาร่วมกันออกมาเมื่อวันพฤหัสที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่เพิ่งผ่านมานี่เองว่า หากชาวโลกเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์มาใช้จักรยาน รวมทั้งจักรยานไฟฟ้า กันขนานใหญ่ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และประหยัดเงินให้สังคมได้มากถึง 25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2593 หรืออีก 35 ปีข้างหน้า  โดยที่การศึกษามองไปที่ว่าจะเพิ่มการใช้จักรยาน “อย่างขนานใหญ่” เช่นว่านี้ได้อย่างไรในที่ต่างๆ ทั่วโลก จากที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ราวร้อยละ 6 ของการเดินทางในเขตเมืองโดยรวมทั่วโลก

ลู ฟุลตัน ผู้อำนวยการของร่วมของโครงการเส้นทางพลังงานการขนส่งที่ยั่งยืน (STEPS) ที่ ITS-Davisและผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาฉบับนี้ บอกว่า นี่เป็นรายงานฉบับแรกที่วัดปริมาณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการประหยัดค่าใช้จ่ายที่สามารถเกิดขึ้นได้หากว่ามีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกไปสู่การใช้จักรยานในเขตเมืองมากขึ้น และผลกระทบที่ประเมินว่าจะเกิดขึ้นทำให้เขาประหลาดใจ เพราะมันใหญ่มากๆ

คุณฟุลตันบอกว่าเมื่อเขาพูดถึง การเดินทางในเขตเมืองนั้นเขาหมายถึงการเดินทางในระยะสั้นไม่เกิน 10 กิโลเมตร ซึ่งตรงกับสิ่งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยพูดมาตลอดว่า การส่งเสริมการใช้จักรยานนั้นควรมุ่งไปที่การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพื่อการเดินทางทั่วไป ซึ่งเป็นการเดินทางระยะสั้นที่คนส่วนใหญ่ทำอยู่ในความเป็นจริงและเป็นระยะที่คนทั่วไปสามารถขี่จักรยานไปได้อย่างสบายๆ  การศึกษาพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของการเดินทางด้วยจักรยานในเขตเมืองที่เขากล่าวถึงนี้เกิดขึ้นใน “เมืองที่เป็นมิตรกับจักรยาน” ในจีน ญี่ปุ่น และประเทศในทวีปยุโรปบางประเทศ เช่น เดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ ในขณะที่เป็นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นของการเดินทางในเขตเมืองในสหรัฐอเมริกาของผู้ศึกษาเอง

การวิจัยครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า หากประเทศทั่วโลกมีนโยบายและการลงทุนที่ถูกต้อง การเดินทางด้วยจักรยานและจักรยานไฟฟ้าสามารถเพิ่มขึ้นไปได้โดยรวมเฉลี่ยถึงร้อยละ 14 ของระยะทางการเดินทางในเขตเมืองทั้งหมด คือสูงมากถึงร้อยละ 25 ในเนเธอร์แลนด์และจีน ลงมาจนถึงต่ำสุดร้อยละ 7 ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา  เหตุที่เป็นไปได้มากขนาดนี้ก็เนื่องมาจากการเดินทางในเขตเมืองทั่วโลกกว่าครึ่งหนึ่งนั้นน้อยกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งสามารถทำได้สบายด้วยจักรยาน การเปลี่ยนจากใช้รถยนต์มาเป็นใช้จักรยานในการเดินทางมากขนาดนั้นทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนนและที่จอดรถยนต์ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น รวมทั้งลดการใช้พลังงาน ลดค่าเชื้อเพลิง อันเนื่องมาจากการเดินทางด้วยรถยนต์ลดลง ได้เป็นจำนวนมหาศาล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคขนส่งได้อย่างสำคัญด้วย

จาคอบ เมสัน ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาชิ้นนี้อีกคน เป็นนักวิจัยด้านการขนส่งและผู้จัดการด้านการประเมินผลของ ITDP กล่าวเสริมว่า รายงานแสดงให้เห็นว่าการใช้จักรยานสามารถมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดียและจีน ซึ่งยังไม่ได้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์อีกมาก  การสร้างเมืองสำหรับการใช้จักรยานไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การมีอากาศที่สะอาดขึ้นและมีถนนที่ปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังจะประหยัดเงินทั้งของรัฐบาลและประชาชนอีกก้อนใหญ่ที่สามารถนำไปใช้กับสิ่งอื่นที่มีประโยชน์ได้อีกด้วย

คุณเมสันยังชี้ด้วยว่า ความจริงแล้วตัวเลขการประหยัดเงินให้สังคมที่คำนวณออกมานั้นเป็นการประเมินขั้นต่ำเสียด้วยซ้ำไป เพราะตัวเลขนี้ยังไม่ได้รวมการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลสุขภาพจากการที่การใช้จักรยานทำให้มีการออกกำลังกาย/กิจกรรมทางกายมากขึ้น มีมลพิษน้อยลง และการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการใช้รถยนต์ลดลงแต่อย่างใด ซึ่งในความเป็นจริง ตัวเลขค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงประเด็น “การเพิ่มการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันอย่างขนานใหญ่” อันเป็นหัวใจของการศึกษานี้ นายฟุลตันยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ต้องอาศัยการมีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะทำให้แปรนโยบายออกมาเป็นการปฏิบัติอย่างจริงจังของเทศบาลและรัฐบาลหรือองค์กรปกครองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติทั่วโลก  แต่ถึงจะยาก แต่การบรรลุเป้าหมายข้างต้นก็เป็นไปได้แน่นอน เพราะมีเมืองจำนวนมากที่ทำได้แล้ว และหลายเมืองทำได้มากกว่าเป้านั้นด้วยซ้ำไป อย่างเมืองยอร์คในอังกฤษหรือโคเปนเฮเกนในเดนมาร์ก และหลายเมืองในจีนและญี่ปุ่น ที่ได้ลงทุนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยานและสร้างวัฒนธรรมการใช้จักรยานขึ้นมา

รายงานระบุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เมืองๆ หนึ่งกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับจักรยานขึ้นมา ได้แก่

          · การสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน (ทาง ระบบป้ายและสัญญาณ ที่พัก จุดซ่อม ฯลฯ) รองรับการใช้จักรยานให้สะดวกและปลอดภัย

          · การจัดให้มีระบบจักรยานสาธารณะ

          · การลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับการเดิน และการลงทุนกับระบบขนส่งสาธารณะ

          · การวางแผนการเติบโตของเมืองด้วยการให้ความสำคัญในลำดับแรกกับการเดินทางด้วยจักรยาน การเดิน และการใช้ขนส่งสาธารณะ

          · การยกเลิกการอุดหนุนใดๆ ที่ให้กับการใช้รถยนต์

          · การนำนโยบายการจัดการกับรถยนต์มาใช้ เช่น การเก็บค่าทำให้การจราจรหนาแน่น-ติดขัดในย่านใจกลางเมือง, การเก็บค่าใช้ถนนตามปริมาณการใช้ และการเก็บภาษี/ค่าธรรมเนียมการใช้รถตามระยะทางที่แล่นไป ฯลฯ 

มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่มีใช้อยู่แล้วในหลายเมืองทั่วโลกที่ผู้บริหารเอาจริงเอาจังกับการส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในเขตเมือง

คุณฟุลตันกล่าวเสริมว่า “เมื่อมีคนหันมาใช้จักรยานมากขึ้นก็จะมีผลตอบรับกลับมาในเชิงบวก เพราะคนที่ยังไม่ได้ใช้จะเห็นว่าใช้ได้ การใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และก็จะเริ่มสนใจมาทำบ้าง  ส่วนคนขับรถยนต์ก็จะตระหนักถึงคนใช้จักรยานมากขึ้น ระมัดระวังคนใช้จักรยานมากขึ้น ทำให้การใช้จักรยานปลอดภัยยิ่งขึ้น  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลในทุกระดับก็ยังต้องลงทุนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ สร้างนโยบายที่สนับสนุนการใช้จักรยาน และสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น กฎจราจรที่ทำให้มีความปลอดภัย พร้อมกับการบังคับใช้อย่างจริงจัง เป็นต้น”

“เมื่อเราเปรียบเทียบสภาพที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่เราเสนอกับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ทำๆกันมา จะพบว่าแบบที่เราเสนอจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริงๆแล้วถึงร้อยละ 47 หรือเกือบครึ่งหนึ่งในปี พ.ศ. 2593”  คุณฟุลตันสรุปปิดท้าย

สำหรับผู้ว่าจ้างให้ทำการศึกษาครั้งนี้ ดร.เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป กล่าวว่ามันเป็นการศึกษาที่ยอดเยี่ยม มีค่าควรแก่การนำไปใช้ทั่วโลกในการนำการใช้จักรยานเข้าไปอยู่ในทุกนโยบายและในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปถึงระดับสากล   ส่วนนายไบรอัน คุ๊กสัน ประธานสหภาพจักรยานสากล กล่าวว่าการใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางขนส่งที่สำคัญยิ่งของคนเป็นล้านๆ ทั่วโลก  รายงานฉบับนี้ชี้ว่า ถ้ารัฐบาลจำนวนมากขึ้นทำตามตัวอย่างที่ดีอย่างเช่นเนเธอร์แลนด์หรือเดนมาร์กที่ทำให้เมืองดีขึ้นสำหรับการใช้จักรยาน เราก็จะได้เห็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายจากการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและค่าใช้จ่ายของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเดินทางขนส่ง และจากการมีเมืองที่ปลอดภัยมากขึ้นมีสุขภาวะดีขึ้น

การศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นจากการว่าจ้างร่วมกันของสหภาพจักรยานสากล (Union Cycliste Internationale), สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation)และสมาคมผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักรยาน (Bicycle Product Suppliers Association) และเมื่อปีที่แล้ว (2557) ITS-Davis กับ ITDP ก็ได้ร่วมกันตีพิมพ์เปิดเผยรายงานผลการศึกษาคล้ายๆ กันออกมาแล้วฉบับหนึ่ง ครั้งนั้นเป็นการศึกษาการประหยัดค่าใช้จ่ายของสังคมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงไปใช้ขนส่งสาธารณะอย่างขนานใหญ่ทั่วโลก

ลองคิดดูว่า หากเราหันมาเดินและการใช้จักรยานสำหรับการเดินทางระยะสั้น ร่วมกับการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะสำหรับระยะที่ไกลออกไป สอดรับประสานไปด้วยกัน อย่างที่เป็นข้อสรุปของการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ RIO+20 เมื่อปี 2555 สังคมโลกจะประหยัดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากมายมหาศาลเพียงใด และเราก็จะมีโลก-เมืองที่น่าอยู่และยั่งยืนมากขึ้นเพียงใด แต่ “การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่” เช่นนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเมือง-ประเทศต่างๆ รวมทั้งเมืองที่เราอยู่อาศัยและประเทศไทยของเราด้วยแล้วล่ะครับ

——————————————————————————————————————————————————————————————-

กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เก็บความมาเขียนจาก A Global Shift to Cycling Would Cut Carbon and Save 25 Trillionโดย Taylor Hillใน http://www.takepart.com  และใบแถลงข่าวของ European Cyclists’ Federation “A Global High Shift Cycling Scenario: Cycling could save cities $25 trillion and 10% of transport CO2 emissions by 2050 ทั้งสองออกมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 

เกี่ยวกับสถาบันที่ทำการศึกษาและสถาบันที่ว่าจ้างการศึกษา

สถาบันนโยบายขนส่งและการพัฒนา(The Institute for Transportation and Development Policy  – ITDP) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานออกแบบ สร้าง และดำเนินการระบบขนส่งที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดความยากจน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้กับเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก   เรียนรู้สถาบันแห่งนี้เพิ่มเติมได้ที่ www.itdp.org 

สถาบันศึกษาการขนส่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เมืองเดวิส(The Institute of Transportation Studies at the University of California, Davis – ITS-Davis) เป็นสถาบันชั้นนำของโลกในด้านการขนส่งที่ยั่งยืน  ITS-Davis ทำงานให้ข้อมูลความรู้กับรัฐบาล อุตสาหกรรม และองค์กรเอกชน ในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจในประเด็นการขนส่ง พลังงาน และสิ่งแวดล้อม  โครงการเส้นทางพลังงานการขนส่งที่ยั่งยืน (Sustainable Transportation Energy Pathways  – STEPS) ที่ ITS-Davis เป็นการวิจัยสหวิชาการที่สอบสวนพลวัตรการแปรเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งเพื่อให้เกิดการขนส่งที่ยั่งยืน  เรียนรู้สถาบันแห่งนี้เพิ่มเติมได้ที่ www.its.ucdavis.edu 

สหภาพจักรยานสากล(The Union Cycliste Internationale  – UCI) เป็นองค์กรบริหารในระดับโลกของกีฬาจักรยานที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล UCI มุ่งพัฒนาการขี่จักรยานในฐานะกีฬาและกิจกรรมการแข่งขันทุกรูปแบบทั่วโลก  เรียนรู้องค์กรนี้เพิ่มเติได้ที่ www.uci.ch

 

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(The European Cyclists’ Federation – ECF) เชื่อมโยงองค์กรของผู้ใช้จักรยานระดับประเทศทั่วโลกกว่า 80 องค์กรในกว่า 40 ประเทศ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้มีเสียงในระดับสากล  ECF มุ่งหมายให้คนมากขึ้นใช้จักรยานและใช้จักรยานบ่อยขึ้นด้วยการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการใช้จักรยาน  เรียนรู้องค์กรนี้เพิ่มเติมได้ที่ www.ecf.com 

สมาคมผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จักรยาน(The Bicycle Product Suppliers Association  – BPSA) เป็นสมาคมของผู้จัดจำหน่ายจักรยาน ชิ้นส่วน อุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวกับจักรยาน  สมาคมเป็นผู้นำการริเริ่มของภาคอุตสาหกรรมในประเด็นด้านกฎหมาย กิจการที่เกี่ยวกับรัฐบาล และความปลอดภัย เป็นแหล่งข้อมูลทางสถิติ และจัดเวทีในการสร้างเครือข่ายและให้การศึกษาแก่สมาชิกเป็นประจำ  เรียนรู้องค์กรนี้เพิ่มเติมได้ที่ www.bpsa.org

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น