Home / News and Events / News / ชมรมฯ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินและใช้จักรยานในภาคใต้

ชมรมฯ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินและใช้จักรยานในภาคใต้

ชมรมฯ ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินและใช้จักรยานในภาคใต้

1

          จากการที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนให้กลุ่มผู้ใช้และชมรมจักรยานในจังหวัดของภาคใต้ตอนบนทำงานร่วมกัน จนเกิดเป็น “สมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดินภาคใต้ตอนบน” ขึ้นในปี ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ได้หารือกับผู้บริหารจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เกิดความเห็นชอบที่จะมาทำงานร่วมกันใน “โครงการเมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการปั่นจักรยาน” ขึ้น โดยเริ่มที่การเดิน และเห็นว่า ในขั้นแรก เด็กนักเรียนน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม โดยกิจกรรมของโครงการจะเป็นการปรับปรุงพื้นที่รอบโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน  จึงได้ไปหารือสอบถามความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการกับผู้บริหารโรงเรียนในจังหวัดเป้าหมาย จนในที่สุดได้โรงเรียนที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่อง ๖ โรงเรียนใน ๔ จังหวัดคือ โรงเรียนชุมชนมาบอำมฤต (จ.ชุมพร), โรงเรียนเทศบาล ๑ ชุมพร (จ.ชุมพร), โรงเรียนอนุบาลระนอง (จ.ระนอง), โรงเรียนเทศบาลบ้านเสนารังสรรค์ (จ.พังงา), โรงเรียนอนุบาลพังงา (จ.พังงา) และโรงเรียนอิศรานุสรณ์ (จ.กระบี่) จากนั้นก็ได้เชิญชวนสถาบันการศึกษาคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศิลปากร มาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ และภาคเอกชนคือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มาสนับสนุน

2

ภาพและข้อความ Walk and Bike Friendly City บนถนนระหว่างพระราชวังรัตนรังสรรค์

3

ภาพและข้อความ Walk and Bike Friendly City บนถนนระหว่างพระราชวังรัตนรังสรรค์  กับโรงเรียนอนุบาลระนอง
( ถ่ายจากโดรน)

          เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๙ ฝ่ายต่างๆที่เข้าร่วมในโครงการได้มาพบกันพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งแรกที่เมืองระนอง เพราะเด็กๆ ที่โรงเรียนอนุบาลระนองได้รวมตัวกันขึ้นมาก่อนโรงเรียนอื่นตั้งเป็น “หน่วยกล้าเดิน” และเสนอโครงการ-กิจกรรมขึ้นมาเอง  สำหรับกิจกรรมในวันนั้นเริ่มต้นด้วยการที่เด็กนักเรียนและตัวแทนขององค์กรที่มาร่วมมือกันเดินตามถนนวนไปรอบโรงเรียนอนุบาลระนอง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และประกาศเริ่มโครงการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินและใช้จักรยานอย่างเป็นทางการ แม้ว่าเส้นทางและระยะเวลาเดินจะถูกตัดให้สั้นลงเนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่อำนวย มีฝนตกมาตั้งแต่เช้า ซึ่งเป็นสภาพธรรมดาในฤดูฝนของ “เมืองฝนแปดแดดสี่” แห่งนี้ เมื่อเดินมาครบรอบ แขกผู้มีเกียรติก็ได้ช่วยกันลงสีเติมเต็มตัวอักษร “Walk and Bike Friendly City”  บนถนนหน้าโรงเรียน จากนั้นก็ขึ้นไปที่อาคารไม้สักและไม้ตะเคียนทองบนเนินเหนือโรงเรียนที่สร้างขึ้นจำลองพระราชวังรัตนรังสรรค์ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕, ๖ และ ๗ เมื่อครั้งแต่ละพระองค์เสด็จเยือนเมืองระนอง เข้าร่วมพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในความร่วมมือส่งเสริมการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคนเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

4

คุณจำรูญ รองประธานชมรมฯ ลงนามและประทับมือรับรองบนบันทึกความเข้าใจ 

5

 บันทึกความเข้าใจที่ลงนาม ๑๐ ฝ่าย จะนำไปตั้งที่โรงเรียนอนุบาลระนอง

          การลงนามทำบนแผ่นป้ายขนาดใหญ่โดยผู้ลงนามได้ประทับฝ่ามือทาสีเป็นการรับรองด้วย ผู้ลงนามประกอบด้วยนายฐานิต พรหมทอง ปลัดจังหวัดระนอง ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง, นายรุ่งโรจน์ บุนนาค รองนายกเทศมนตรีเมืองพังงา ทำการแทนนายกเทศมนตรีเมืองพังงา, นายพงษ์พจน์ มิตรงาม รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำน้ำผุด จ.พังงา ปฏิบัติราชการแทนนายก อบต.ถ้ำน้ำผุด, นายศรีชัย วีระนรพานิช นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร, นายวีระชัย เตือนวีระเดช รองนายกเทศมนตรีตำบลมาบอำมฤต ปฏิบัติราชการแทนนายก อบต.มาบอำมาฤต จ.ชุมพร, ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ประธานหลักสูตรสหวิทยาการวิจัยเพื่อการออกแบบ ประธานหลักสูตรการวางแผนภาคและเมือง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรุงเทพฯ, ดร.ณัฎฐนา ลีฬหรัตนรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศ.) วิทยาเขตสารสนเทศ เพชรบุรี, นายประพนธ์ จารุไสลพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) (ระนอง), นายพรเทพ ดิษยบุตร เลขาธิการ สมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดิน (ภาคใต้ตอนบน) และนายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ รองประธาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

6

ผู้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ:  (จากซ้าย) รองนายก อบต.ถ้ำน้ำผุด, นายกเทศมนตรีเมืองชุมพร, รองนายกเทศมนตรีเมืองพังงา,  เลขาสมาพันธ์ฯ, ผู้แทน สจล., ปลัดจังหวัดระนอง ( เสื้อฟ้า), ผู้แทนชมรมฯ (เสื้อขาว), ผู้แทน มศ., ผู้แทน ปตท.สผ. และรองนายก อบต.มาบอำมฤต

          ก่อนหน้าการลงนาม นายฐานิต ปลัดจังหวัดระนองได้กล่าวถึงความสำคัญของการเดิน โดยเฉพาะการช่วยให้ได้รู้จักผู้คนและชุมชนรอบๆ เส้นทางที่เดิน รู้จักความเป็นจริงของบ้านเมือง แต่เดี๋ยวนี้คนทั่วไปเดินน้อยลงจึงทำให้ห่างเหินไป

          ส่วนนายจำรูญ รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า การเดินเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางทุกประเภท ที่เรียกกันว่า “การเดินทางกิโลเมตรแรก” ระยะหลังนี้คนจำนวนมากละเลยการเดิน หันไปใช้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์แม้จะเป็นการเดินทางระยะสั้นที่สามารถเดินได้สบาย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด โจทย์ของเราจึงเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนลดการใช้รถยนต์รถจักรยานยนต์หันกลับมาเดินกันให้มากขึ้นอีกครั้ง คำตอบน่าจะเป็นการทำให้เมืองกระชับ คือมีสิ่งที่จำเป็นต้องทำในชีวิตประจำวันในระยะที่เดินได้ และทำให้ทางน่าเดิน เดินสะดวก สบาย และปลอดภัย ทำเช่นนี้คนก็จะเดินกันมากขึ้น สอดคล้องกับกระแสสังคมโลกที่ขณะนี้ให้ความสนใจกับการเดินมาก ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับการใช้จักรยาน ชมรมฯ ดำเนินการด้วยการผลักดันนโยบายและการสนับสนุนทางวิชาการเป็นสำคัญ มีทุนขนาดเล็กมาสนับสนุนโครงการบ้าง แต่ไม่สามารถให้ในเรื่องการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานได้ องค์กรปกครองในท้องถิ่นต้องจัดสรรงบประมาณมาทำเอง และเพื่อให้ทำงานกับทางราชการได้มากขึ้น ชมรมฯกำลังจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย”  คาดว่าจะได้รับอนุมัติเร็วนี้

7

             ป้ายประชาสัมพันธ์พิธีจัดทำบันทึกความร่วมมือ

8

โรงเรียนอนุบาลระนอง (อาคารสีชมพู) กลางเมืองระนอง ถ่ายจากพระราชวังรัตนรังสรรค์

 

รายงานโดย  กวิน ชุติมา  กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

การเปิดรับบทคัดย่อและผลงานวิจัยด้านการเดินและจักรยาน Thailand Bike and Walk Forum ครั้งที่ 5