Home / Articles / ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

ทำไมเราต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก

โดย ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์ เลขาธิการใหญ่ สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป

เราอยู่ในยุคสมัยของพลวัตรการเปลี่ยนแปลง  การที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดการกับประเด็นที่ซับซ้อน อย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดกิจกรรมทางกาย ทำให้มีการหันเหความพยายามในการแก้ปัญหาไปสู่การดำเนินการในระดับนานาชาติ   ความมุ่งมั่นขององค์การสหประชาชาติ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) และคณะกรรมาธิการยุโรปที่จะมีปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าวได้สร้างโอกาสที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะให้กับการใช้จักรยาน   ความรับผิดชอบของเราจึงชัดเจน นั่นคือเราต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้โดยมีสายตามองไกลไปที่อนาคต  และเราต้องทำในระดับโลก

ที่ผ่านมาแม้ว่าองค์กรที่มีอยู่คือ สหพันธ์โลกของอุตสาหกรรมสินค้ากีฬา (World Federation of Sporting Goods Industry – WFSGI) จะทำงานได้ดีเยี่ยมในการเป็นตัวแทนด้านกีฬา แต่ก็ทำน้อยมากอย่างเปรียบเทียบไม่ได้กับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันและในยามว่าง ซึ่งหมายความว่าโอกาสที่มีในขณะนี้อาจสูญเปล่า  ในขณะที่สมาคมผู้ใช้จักรยานจากคานาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับจากเคนยา กานา และอเมริกาใต้ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยหารือถกเถียงบนเวทีโลกในเรื่องนี้และขอให้สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ออกมาเป็นผู้นำ  ECF จึงเสนอให้สร้าง “พันธมิตร(การใช้)จักรยานโลก” (World Cycling Alliance – WCA) ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการประสานงาน เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นปากเสียงที่เข้มแข็งในการผลักดันนโยบายไปที่องค์การระหว่างประเทศ

ประชามติเป็นแนวทางหลักในการทำงานของ ECF   Velocity ซึ่งเป็นงานนานาชาติประจำปีของเรา ในปัจจุบันเป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกของผู้สนใจการใช้จักรยาน โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คนจากภาคส่วนต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลายอยู่มากมายในมุมมองต่ออนาคต  ดังนั้นจึงต้องมีการประดิษฐ์คิดค้นคำอธิบายใหม่ขึ้นมาตอบคำถามว่า “ทำไมเราจำเป็นต้องมีพันธมิตรจักรยานโลก”

คำตอบที่พบได้ธรรมดาสามัญที่สุดต่อคำถามนี้อาจจะเป็นว่า การใช้จักรยานมีประโยชน์ต่อสุขภาพ  สิ่งที่ยังไม่ได้เน้นกันเพียงพอคือการใช้จักรยานยังดีต่อเศรษฐกิจด้วย  เครื่องมือประเมินสุขภาพทางเศรษฐกิจ (Health Economic Assessment Tool – HEAT) ที่องค์การอนามัยโลกพัฒนาขึ้นมา ได้แปรเปลี่ยนประโยชน์ที่การใช้จักรยานสร้างขึ้นทางด้านสุขภาพและการมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอไปเป็นมูลค่าที่เป็นตัวเงิน  ตัวอย่างเช่น ประเทศออสเตรียได้แสดงให้เห็นว่ามีรายได้ 405 ล้านยูโรจากการใช้จักรยานในแต่ละปี คิดจากฐานที่มีประชาชนเดินทางด้วยจักรยานราวร้อยละ 5 ของการเดินทางทั้งหมด   และเมื่อมองดูยุโรปทั้งหมด ถ้าเป้าหมายของ ECF ที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้จักรยานขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020 ปรากฏเป็นจริง นั่นคือมีผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางขนส่งในชีวิตประจำวันเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 14 หรือจาก 35 ล้านคนเป็น 70 ล้านคน  ผลประโยชน์เป็นตัวเงินที่มีแนวโน้มว่าทั้งยุโรปจะได้รับอาจสูงถึง 200,000 ล้านยูโร   เมื่อพิจารณาถึงงบประมาณที่หดตัวลงและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นด้านสุขภาพในเวลานี้ ข้อถกเถียงหารือในเรื่องนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก

คำตอบที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งในเรื่องประโยชน์ของการใช้จักรยานคือมันดีต่อสิ่งแวดล้อม  ตรงนี้อีกเช่นกันที่มีหลายอย่างที่ตาของเราอาจมองไม่เห็นในทันที  แต่ถ้าเรามาดู “ห่วงโซ่ของผลกระทบ” ตามที่ผู้เชี่ยวชาญเรียก เราก็จะสามารถตามรอยไปพบผลที่เกิดขึ้นตามมาในเชิงบวกของการใช้จักรยานอย่างหลากหลาย  เป็นต้นว่า การทำที่จอดจักรยานถูกกว่าการทำที่จอดรถได้มากถึง 300 เท่า โดยที่จอดรถยนต์หนึ่งคันสามารถใช้จอดจักรยานได้ 10-20 คัน  การใช้จักรยานในฐานะรูปแบบหนึ่งของขนส่งมวลชนก็กำลังเป็นประเด็นที่เห็นกันขึ้นมา  ค่าใช้จ่ายในการสร้างฟรีเวย์ (ถนนที่รถยนต์สามารถแล่นได้อย่างไหลลื่น ไม่มีอุปสรรค เช่น ไฟสัญญาณจราจร) ในเมือง 1 กิโลเมตร สามารถสร้างทางจักรยานได้ถึง 150 กิโลเมตร

นอกจากการผลักดันนโยบายในระดับสูงสุดแล้ว พันธมิตรจักรยานโลกจะเน้นไปที่จะสร้างภาพใหม่ให้การใช้จักรยานว่าเป็นสิ่งที่เป็นทั้งรากฐานและจุดสูงสุดของการดำรงชีวิตสมัยใหม่   สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว มันเป็นเรื่องของความยั่งยืนและการดำรงชีวิตอย่างแข็งขันกระฉับกระเฉง  สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา มันเป็นข้อพิสูจน์ว่าเราสร้างความเสมอภาคทางสังคมและความปลอดภัยทางถนนได้   ในประเทศอย่างเช่นไนจีเรียและไทย ทางหลวงสำหรับรถยนต์ได้ผลักดันให้คนเดินเท้ากลายเป็นคนชายขอบด้วยการจำกัดศักยภาพของพวกเขาที่จะแข่งขันกับคนที่สามารถจ่ายเงินซื้อพาหนะจักรกลได้  ชัดเจนว่าสิ่งที่ได้มาจากการใช้จักรยานสามารถมีผลกระทบอย่างแท้จริงทั้งในเศรษฐกิจและในชีวิตของผู้คน  การสร้างพันธมิตรจักรยานโลกขึ้นมาด้วยคำแนะนำจาก ECF เป็นสิ่งที่จำเป็นในการให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดออกมาจากหน้าต่างของโอกาสที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น และในการสื่อสารประโยชน์หลายด้านของการใช้จักรยานนี้ไปยังคนหลายล้านคนทั่วโลก

กราฟแสดงการผลิตจักรยานและรถยนต์ทั่วโลก ในช่วงห้าสิบปีระหว่าง 1950 – 2000 (แหล่งข้อมูล: Worldwatch Institute)

อุตสาหกรรมจักรยานโลก: ตลาดจักรยานทั่วโลก แบ่งตามภูมิภาค ในปี 2011

การศึกษาตลาดจักรยานทั่วโลก ซึ่งทำประจำปีเป็นครั้งที่ 7 โดย NPD Group, Inc. บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ พบว่ามีการขายจักรยานออกไปทั้งหมด 191 ล้านคันในปี 2011  ยอดขายทั่วโลกรวมแล้วคิดเป็นเกือบ 36,000 ล้านยูโร หรือ 50,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว  เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2010 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตเดียวกับตลาดอุปกรณ์กีฬาทั่วโลก   จักรยาน 191 ล้านคันที่ขายในปี 2011 มีราคาโดยเฉลี่ยคันละ 136 ยูโร (190 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,000 บาท) ทำให้ยอดขายรวม 36,000 ล้านยูโร  รายได้จากการขายสินค้าสำหรับการใช้จักรยานคิดเป็นร้อยละ 15 ของรายได้จากสินค้าการกีฬาทั้งหมด   นับแต่ปี 2006 เป็นต้นมา ร้อยละ 50 ของการเติบโตของการใช้จักรยานทั่วโลกเกิดขึ้นในห้าประเทศ คือ จีน เยอรมนี อินเดีย เกาหลีใต้ และบราซิล

ทวีป

ผลผลิตมวลรวมประชาชาติต่อคน

ประชากร (ล้าน) / ร้อยละของทั้งโลก

จักรยานที่ขายไป (ล้านคัน)

ราคาเฉลี่ย

ยอดขายจักรยาน (พันล้าน)

เอเชีย

2,539

4,100 / 60

122.7

272

22.9

อาฟริกา

1,560

1,000 / 15

10.0

50

0.5

ยุโรป

25,467

738.2 / 11

26.6

399

10.6

อเมริกาเหนือ

32,296

542.1 / 8

18.7

205

3.8

อเมริกาใต้

9,254

392.6 / 6

10.0

150

1.5

โอเชียนเนีย

29,909

29.1 / 0.4

3.0

205

0.615

รวม

(เฉลี่ย) 16,387

6,800

191.0

190

40.0 ไม่รวม VAT

 แหล่งที่มา: VCP ตัวเลขโดยประมาณใช้จากหลายแหล่ง            หมายเหตุ:  หน่วยของเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐ

เกี่ยวกับผู้เขียน:ดร. เบิร์นฮาร์ด เอ็นซิงก์เป็นเลขาธิการใหญ่ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปและผู้อำนวยการชุดการประชุม Velocity มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2006    ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นผู้อำนวยการของ Fietsersbond องค์กรผู้ใช้จักรยานระดับชาติในเนเธอร์แลนด์, เป็นรักษาการผู้อำนวยการของ Milieufederatie Groningen (องค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ในจังหวัดโกรนิงเกน)  นอกจากนั้นเขายังเป็นรองนายกเทศมนตรีเมือง Coevorden ในเนเธอร์แลนด์ด้วยมาจนถึงปัจจุบัน โดยรับผิดชอบด้านกิจการสาธารณะ การวางแผนใช้พื้นที่ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และการเงิน

บทความต้นฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน WFSGI Magazine 2014

เรียบเรียงโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เป็นสมาชิกวิสามัญ(Associate Member) ของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปตั้งแต่มิถุนายน 2013 โดยเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชีย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

Leave a Reply

Your email address will not be published.