Home / Articles (page 2)

Articles

ทิ้งรถหันมาใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นกันดีกว่า คุณจะได้ทั้งเงินและชีวิต

เราทุกคนที่มีรถยนต์รู้ดีจากประสบการณ์ของตนเองว่า การใช้รถยนต์นั้นมีค่าใช้จ่ายมากมาย  นอกจากเงินที่ต้องจ่ายซื้อรถคนนั้นมาในเบื้องแรกแล้ว ต่อๆไปคุณต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิง ค่าดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซม ค่าทะเบียนและค่าประกัน แล้วรถก็ยังเสื่อมราคาและหมดอายุการใช้งานไปในที่สุด ต้องซื้อหาคันใหม่  เหล่านี้มีแต่เงินต้องไหลออกจากกระเป๋าของคุณไป เพื่อซื้อสิ่งที่คุณคิดว่าสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะในการเดินทางที่จำเป็น ความสะดวกสบาย หรือแม้แต่สถานะทางสังคมที่ติดมากับการมีรถยนต์ แต่ถ้าตัดข้อแรก คือการเป็นยานพาหนะที่จำเป็นในการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น ที่พักอาศัยอยู่ห่างไกลจากสถานที่ทำงานเกินกว่าจะเดินหรือขี่จักรยานสบายๆ และไม่มีขนส่งสาธารณะให้บริการ ออกไปแล้ว  คุณจะพบว่า การเดิน ใช้จักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ แม้จะมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน แต่ก็ไม่มาก แม้จะรวมค่าแท็กซี่-ค่าเช่ารถและเชื้อเพลิงในโอกาสที่จำเป็นต้องใช้รถจริงๆ โดยรวมแล้วคุณก็ยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากมาย มากน้อยขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆ ของแต่ละคน นี่ยังไม่รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้ทางด้านสุขภาพจากการขี่จักรยาน คุณลดค่าใช้จ่ายไปได้อีกมากจากการมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย แล้วยังมีการที่ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายที่เกิดจากการชนเมื่อคุณใช้รถยนต์อีก  มีคนเปรียบเทียบจักรยานเหมือนกับ “เครื่องพิมพ์ธนบัตร” เพราะเมื่อเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้จักรยาน จะมีเงินเหลือมาใช้อีกมาก หรือเหมือนกับ “น้ำพุแห่งความเยาว์วัย” ที่ทำให้คนอ่อนกว่าวัย สดชื่นกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ เปรียบเทียบกันถึงขนาดนี้อาจจะ “เว่อร์” เกินไป  แต่ที่สหรัฐอเมริกา เขามีสถิติตัวเลขของประเทศที่เอามาคิดคำนวณได้ว่า ผลสุทธิของการขับรถด้วยความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือการมีอายุสั้นลง 20 นาที หรืออายุสั้นลง 18 วินาทีทุก 1  ไมล์(1.6 กิโลเมตร)ที่ขับรถ  ส่วนผลสุทธิของการขี่จักรยานด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือการมีอายุยาวขึ้น 2 ชั่วโมง 36 นาที หรืออายุยืนขึ้น 13 นาทีทุก 1 ไมล์ที่ขี่จักรยาน ดังนั้นก็อาจจะไม่ “เว่อร์” ไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า ทิ้งรถหันมาใช้จักรยาน(และขนส่งสาธารณะ)ให้มากขึ้นกันดีกว่า คุณจะได้ทั้งเงินและชีวิต ส่วนในไทยของเรานั้น ยังไม่มีตัวเลขจากการศึกษาผลของการใช้รถยนต์กับผลของการใช้จักรยานมาเปรียบเทียบกัน แต่ก็เป็นไปได้สูงว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทีนี้หากจะ “ทิ้งรถ” หันมาใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะเป็นวิธีในการเดินทางจริงๆ ก็ควรพยายามหาทางทำให้ง่ายให้สะดวกขึ้นด้วย เช่นว่า หาซื้อจักรยานมาใช้เองสักคัน, เรียนรู้ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองของคุณให้ทะลุปรุโปร่ง ขึ้นตรงไหน ลงตรงไหน เปลี่ยนรถ-ต่อรถตรงไหนให้ไปได้สะดวกและรวดเร็วที่สุด หากเป็นไปได้ การย้ายไปอยู่ใกล้จุดที่เข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะ(ป้ายรถประจำทาง สถานีรถไฟฟ้า)ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา และหาข้อมูลด้วยว่าหากต้องใช้แท็กซี่หรือรถเช่า จะใช้บริการของบริษัทไหน คนขับใด ดีที่สุด ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยเคยมีแผ่นพับที่สมาชิกคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า การเปลี่ยนมาใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงานช่วยประหยัดเงินให้เขาได้มากเพียงใด ถ้าจำไม่ผิดก็เดือนละกว่าพันบาท ใช้จักรยานไม่กี่เดือนก็ประหยัดเงินได้มากกว่าราคาจักรยานแล้ว …

Read More »

แมดริดเจ๋ง ทำทางข้ามให้มีสีสันเพิ่มความปลอดภัย

เวลาคุณข้ามถนน  เคยสนใจจริงๆ บ้างไหมครับว่า ทางข้าม(ไม่ว่าจะเป็นทางม้าลายหรือเป็นแบบอื่น)นั้นเป็นอย่างไร คุณสนใจมันก็เพียงว่า ข้ามถนนตรงนั้นแล้ว “คุณอาจจะปลอดภัย ไม่ถูกรถชนตาย” ซึ่งคุณก็รู้ว่าในประเทศไทยเรานี้ไม่จริงเสมอไป แต่ถ้าทางข้ามจะเป็นอะไรมากกว่าการทาเส้นหรือแถบสีขาวลงบนพื้นถนนล่ะ ถ้ามันต่างไปล่ะ มีลวดลายและสีสันสดใสเจิดจ้า จะเป็นอย่างไร? ศิลปินคริสโต เกอลอฟ (Christo Guelov) ได้เปลี่ยนทางข้ามถนนในกรุงแมดริด เมืองหลวงของประเทศสเปน ให้กลายเป็นงานศิลปะ  เขาวาดรูปทรงและแบบแผนทางเรขาคณิตต่างๆ ด้วยสีสันที่สดใสลงในช่องว่างระหว่างเส้นและแถบสีขาวของทางม้าลาย  ผลก็คือทางข้ามนั้นสะดุดตาขึ้นมาทันที ทั้งต่อคนข้ามและคนขับรถ ทั้งยังทำให้ทางม้าลายที่ดูน่าเบื่อนั้นสวยงามด้วย  คุณเกอลอฟหวังว่า ทางข้ามสีสันสดใสนี้จะดึงดูดให้คนใช้ทางข้ามมากขึ้นแทนที่จะข้ามถนนตามใจชอบ และคนขับรถก็เห็นทางข้ามชัดขึ้น ระมัดระวังและเคารพ-หยุดให้คนข้ามถนนมากขึ้นด้วย เชิญทัศนาภาพทางข้ามที่เกอลอฟทำให้เป็นงานศิลปะเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ถนนในกรุงแมดริดได้ข้างล่างนี้เลยครับ กทม. หรือเทศบาล หรือองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่ไหนในไทย จะเอาแนวคิดนี้ไปทำบ้างก็น่าสนใจนะครับ กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการ-เหรัญญิกสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เก็บมาเสนอจาก lostateminor.com

Read More »

เมืองที่น่าเดินเป็นอย่างไร

เดินใต้ร่มเงาซากุระบาน (ภาพโดย Lloyd Alter) การทำให้เมือง “น่าเดิน” คนในเมืองเดินมากๆ กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนและองค์กรที่ทำงานหลายด้าน เนื่องจากการเดิน โดยเฉพาะการใช้การเดินเป็นวิธีเดินทางไปไหนมาไหนเพื่อประกอบกิจในชีวิตประจำวัน เช่น ไปทำงาน ไปเรียน ไปจับจ่ายซื้อของ ฯลฯ ให้ผลดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านคมนาคมขนส่ง ด้านสิ่งแวดล้อม  และแม้แต่ด้านเศรษฐกิจ แล้วทำอย่างไรเล่า เมืองจึงจะ “น่าเดิน” จึงมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ออกมามากขึ้นเรื่อยเช่นเดียวกัน  ขอนำการศึกษาใหม่ชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง ศาสตราจารย์ เจมส์ เอฟ ซาลลิส กับคณะผู้ทำการศึกษาชิ้นนี้ ใช้วิธีการที่ทันสมัย ซับซ้อน และละเอียด มากขึ้นกว่าการศึกษาครั้งก่อนๆ ที่ทำกัน ด้วยการใช้เครื่องติดตามการออกกำลังกายอิเล็กโทรนิก กับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สอดส่องติดตามพฤติกรรมของผู้ใหญ่ 6,822 คนในเมืองใหญ่ 14 แห่งใน 10 ประเทศ  ข้อมูลที่เก็บมาได้ทำให้เขาสามารถเปรียบเทียบปริมาณการมีกิจกรรมทางกาย/การออกกำลังกายของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคน กับข้อมูลการใช้ที่ดินในละแวกบ้านที่อยู่ติดกันของผู้เข้าร่วมการศึกษาแต่ละคน  จากนั้นพวกเขาใช้การวิเคราะห์ทางสถิติมาพิจารณาว่า มีลักษณะเฉพาะของการใช้ที่ดินอย่างใดบ้างไหมที่มีความสัมพันธ์อย่างสำคัญกับการมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางไปจนถึงระดับแข็งขัน   ผลที่ได้ออกมาน่าสนใจ คือพวกเขาพบปัจจัยสี่ประการที่สำคัญเป็นพิเศษ  ปัจจัยทั้งสี่นี้ยิ่งมีมาก คนก็จะเดินมากขึ้นตามไปด้วย ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย: จะต้องมีบ้านพักหรือที่อยู่อาศัยมากถึงจำนวนหนึ่งในละแวกย่านจึงจะมีประชากรมากพอที่ร้านค้าและสถานที่ให้บริการด้านต่างๆ จะดำรงอยู่ได้ในทางเศรษฐกิจภายในระยะที่เดินถึง ความหนาแน่นของจุดตัดของทาง: การมีถนน/ทางที่เชื่อมต่อกันเป็นอย่างดีมักจะทำให้ระยะทางที่ต้องใช้ในการเดินทางสั้นลง และทำให้สถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางอยู่ในระยะที่เดินถึงได้ ความหนาแน่นของขนส่งสาธารณะ: ยิ่งมีจุดที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารของขนส่งสาธารณะ(รถประจำทาง รถไฟฟ้า ฯลฯ)ในระยะที่เดินถึงมากเท่าใด ผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นก็จะมีทางเลือกในวิธีการเดินทางมากขึ้น และเลือกที่จะใช้วิธีเดินและขนส่งสาธารณะนั้นมากขึ้น การเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ: สวน พื้นที่สีเขียว จัตุรัส และพื้นที่ว่างต่างๆ ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ให้คนได้ออกกำลังกาย ได้พักผ่อนหย่อน แต่ยังเป็นสถานที่ให้ชุมชนหรือละแวกบ้านทำกิจกรรมร่วมกันเป็นสังคมได้อีกหลากหลายด้วย  เมื่อมีพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นในระยะที่เดินถึง คนก็จะไปใช้ เดินมากขึ้น และได้มีกิจกรรมทางกาย/ออกกำลังกายขณะที่เดินไปด้วย ดังนั้นหากจะให้เมืองหนึ่งๆ “น่าเดิน” คนในเมืองนั้นเดินมากขึ้น หน่วยงานที่วางผังเมืองในภาพรวมต้องทำงานร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานด้านการจัดสร้างที่อยู่อาศัย หน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่ง ฯลฯ ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของเมืองให้มีปัจจัยทั้งสี่เหล่านี้   กวิน ชุติมา  กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และกรรมการ-เหรัญญิกสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

Read More »

การใช้จักรยานสร้างมูลค่าปีละกว่าห้าแสนล้านยูโรใน 28 ประเทศของยุโรป

สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) คิดคำนวณออกมาได้ว่า การใช้จักรยานใน 28 รัฐที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป สร้างผลประโยชน์เป็นมูลค่าถึงปีละ 513,000 ล้านยูโร หรือราว 20 ล้านล้านบาท  การค้นพบใหม่นี้มีอยู่ในรายงาน “เศรษฐศาสตร์การใช้จักรยานของสหภาพยุโรป” ที่ ECF เป็นผู้จัดทำและเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาในกรุงบรัสเซลล์ รายงานฉบับนี้เป็นฉบับที่สอง (ฉบับแรกออกมาเมื่อปี 2013) โดยใช้ตัวเลขล่าสุด มีการปรับปรุงวิธีการคำนวณและเพิ่มผลประโยชน์ใหม่เข้าไปอย่างเป็นระบบ ออกมาเป็นผลรวมโดยประมาณได้ว่า การใช้จักรยานใน 28 ประเทศของสหภาพยุโรปก่อให้เกิดผลประโยชน์ดังนี้: ด้านสุขภาพ 191 พันล้านยูโร, ด้านเวลาและพื้นที่ 131 พันล้านยูโร, ด้านเศรษฐกิจ 63 พันล้านยูโร, ด้านกิจการสังคม 50 พันล้านยูโร, ด้านการเคลื่อนที่เดินทาง 30 พันล้านยูโร, ด้านเทคโนโลยีและการออกแบบ 20 พันล้านยูโร, ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ 15.5 พันล้านยูโร, ด้านความหลากหลายของวัฒนธรรม 10 พันล้านยูโร และด้านพลังงานและทรัพยากร 3 พันล้านยูโร รายงานแสดงให้เห็นว่า ผลประโยชน์ของการใช้จักรยานไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะด้าน เช่น ด้านการคมนาคมขนส่ง หรือด้านสิ่งแวดล้อม โดยแยกจากด้านอื่นๆ แต่ยังได้ในอีกหลายๆ ด้านที่สหภาพยุโรปทำได้ดีด้วย เช่น อุตสาหกรรม การจ้างงาน และยังขยายออกไปถึงประเด็นทางสังคมอื่น อย่างเช่น การผนวกรวมผู้ลี้ภัยเข้าสู่สังคม การเข้าถึงระบบการเคลื่อนที่เดินทาง เป็นต้น  แสดงให้เห็นว่าการใช้จักรยานมีส่วนช่วยเศรษฐกิจของยุโรปโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก ECF ชี้ว่า เพื่อที่จะให้ได้ประโยชน์ยิ่งๆขึ้นไปอีก รัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องมียุทธศาสตร์การใช้จักรยานร่วมกันที่นำเอานโยบายด้านต่างๆ ทั้งหมดมาพิจารณา  นอกจากนั้นผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จักรยานอาจสูงมากขึ้นไปอีกถ้ามีข้อมูลในการวิเคราะห์มากกว่านี้ บางด้านนั้นเห็นอยู่ว่ามีการได้ประโยชน์จากการใช้จักรยาน แต่ไม่สามารถเอาตัวเลขชัดๆ หรือตัวเลขประเมินมาแสดงได้ ดังนั้นต่อไปก็จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ภาพที่ถูกต้องแม่นยำถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการใช้จักรยาน มามองดูประเทศไทยของเราบ้าง ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาลักษณะนี้ คงเป็นงานหนึ่งที่สถาบันการเดินและการจักรยานไทยจะดำเนินการต่อไปในอนาคตเพื่อให้เรามีภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้จักรยานในประเทศของเรา ซึ่งอาจจะช่วยในการผลักดันให้รัฐบาลไทยหันมาส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมียุทธศาสตร์และแผนแม่บทระดับชาติหน่วยงาน และงบประมาณ สำหรับการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นการเฉพาะ เทียบเท่ากับยานพาหนะและระบบการคมนาคมขนส่งอื่นๆ ———————————————————————————————————————————————- กวิน ชุติมา …

Read More »

จะรับมือกับคนขับรถอารมณ์ร้อนอย่างไร

คุณเคยเผชิญกับคนขับรถอารมณ์ร้อนเวลาขี่จักรยานบ้างไหมครับ ?  อย่างคนในภาพนี้ที่หยุดรถมาชี้หน้าคุณว่า “ขี่จักรยานประสาอะไรกันวะ เดี๋ยวก็ตายห..หรอก” หากคุณเคยมีประสบการณ์มาแล้ว คุณทำอย่างไร  แต่ถ้าคุณยังไม่เคยประสบมาก่อน หากคุณตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณจะทำอย่างไร ? ถ้าเขาแค่หยุดรถ หรือไม่หยุดแต่ขับชะลอความเร็วลง แล้วโผล่หน้ามาด่า จากนั้นก็ขับรถไป เรื่องก็น่าจะจบลงเท่านั้น  แต่ถ้าคุณใช้วาจาตอบโต้กลับไป เขาก็อาจจะหยุดรถลงมาโต้เถียงหนักขึ้น และถึงขั้นลงไม้ลงมือ ถ้าคุณสู้ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นเหมือนในข่าวโทรทัศน์ที่คนขับรถอารมณ์ร้อนลงมาถกเถียง ชกต่อย ทำร้ายร่างกายกัน ซึ่งอาจจะร้ายแรงไปถึงขั้นมีการสูญเสียชีวิต ต่อสถานการณ์เช่นนี้ คุณต้องระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าคุณจะถูกหรือผิดตามหลักการตามกฎการใช้ถนนใดๆ คุณผู้ใช้จักรยานคันเล็กก็อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า เปราะบางกว่า เสียหายได้มากกว่าคนขับรถคันใหญ่เสมอ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนืออื่นใดคือ รักษาตนให้ปลอดภัย และไม่ตอบโต้ เพราะมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวบานปลายยกระดับขึ้นไป  จำไว้ว่า เมื่อคุณรับมือกับคนที่หยุดรถมาตะโกนด่าคนแปลกหน้าที่เขาไม่รู้จักบนถนน คุณไม่ได้รับมือกับคนที่ใช้สติ ใช้เหตุผล ใช้สามัญสำนึก ในการคิด การตัดสินใจกระทำการใดๆ  การพยายามใช้เหตุผล ใช้หลักการความถูกต้อง มาพูดจาทำความเข้าใจกับเขาจึงไม่แก้ปัญหาใดๆ และควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณคิดจะทำ  ไม่ว่าคุณจะมีไหวพริบอย่างไร คุณก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด ของคนขับรถที่กำลังอารมณ์ขุ่นมัวเดือดพล่านถึงขั้นที่ยอมเสียเวลาอันมีค่าหยุดการเดินทางไปยังจุดหมายที่เขาต้องการไป มามีปฏิกิริยากับคุณกลางถนนได้ ยับยั้งชั่งใจ ปิดปากเอาไว้  ถ้าจำเป็นต้องพูดจาอะไรออกไปจริงๆ ก็อย่าได้โต้แย้งให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น  ในทางตรงข้าม ใช้ถ้อยคำและท่าทีที่จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายและอารมณ์ของเขาเย็นลง เช่น รับว่าได้ทำในสิ่งที่ทำให้คนขับรถโกรธ(ไม่ว่าคุณจะได้ทำสิ่งนั้นจริงหรือไม่ก็ตาม)และกล่าวขอโทษ ใช้ท่าทีที่เป็นมิตรเข้าไว้   การที่คนขับรถขาดสติ ถูกครอบงำด้วยอารมณ์โกรธ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องขาดสติ ตกเป็นเหยื่อของความโกรธไปด้วย  มันไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีแต่ทำให้เลวร้ายลง แต่ถ้าเขาลงจากรถตรงเข้ามาหาคุณล่ะ และคุณรู้สึกได้ทันทีว่าคุณกำลังถูกคุกคาม อาจจะถูกทำร้าย จะทำอย่างไร  หนีครับหากทำได้  การหลีกหนีจากสถานการณ์การเผชิญหน้าที่คุณไม่ได้เป็นคนเริ่มไม่ใช่การแสดงความขี้ขลาดแต่ประการใด หนีไปยังที่ที่คุณคิดว่าปลอดภัยและติดต่อตำรวจ  หากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใกล้ๆก็ตรงเข้าไปหาเลย  และที่สำคัญ จดจำรูปพรรณสัณฐานของรถคันนั้น โดยเฉพาะหมายเลขป้ายทะเบียน เอาไว้ให้แม่น ดังนั้นผู้ใช้จักรยาน และความจริงผู้ใช้ถนนทุกคน ควรจะฝึกตนเองให้หูตาไวในการสังเกตสิ่งต่างๆ และให้มีความจำดีต่อสิ่งเหล่านั้น  และจะให้ดียิ่งขึ้นก็หาคนที่อยู่ใกล้ๆ มาเป็นพยาน มันจะช่วยคุณได้มากหากเกิดเหตุที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น  ในทางตรงข้าม หากคุณพบเห็นผู้ใช้จักรยานคนอื่นตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น โดยเฉพาะหากเขาถูกคุกคาม ถูกทำร้าย ก็หยุดลงมาช่วยจดจำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และพร้อมที่จะช่วยเหลือเป็นพยานหากจำเป็น  ผมเคยเห็นคนขับรถช่วยกันในลักษณะนี้มาแล้วหลายครั้ง แล้วทำไมเราผู้ใช้จักรยานจะไม่ช่วยกันในลักษณะนี้บ้าง ผมเคยหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยในวงผู้ใช้จักรยาน และได้คำตอบกลับมาที่ทำให้ผมตกใจ  มีคนบอกผมว่า เขาเคยโดนคนขับรถโผล่มาด่า แล้วเขาทำอย่างไรรู้ไหมครับ  เขาขี่จักรยานตามไปทันเมื่อรถคันนั้นหยุดนิ่งกับสภาพการจราจรที่ติดขัดหรือหยุดรอสัญญาณไฟจราจรอะไรนี่ล่ะ แล้วตรงเข้าไปเตะใส่ประตูรถ อีกครั้งหนึ่งเขาตบใส่กระจกข้างจนบิดไป …

Read More »

เหตุผล 8 ประการที่คุณควรจะเดินให้มากขึ้น

เขียนมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็จริงๆนะ การเดินดีกับคุณมากมาย ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ  มันเป็นเหมือนกับ “ยาวิเศษ” ที่ใช้แก้ได้สารพัดโรค อีกทั้งยังถูกเสียจนใครๆ ก็หามาใช้ได้  เอาเถอะ ถ้าคุณยังเดินน้อย วันนี้ก็ขอยกเอาเหตุผลสัก 8 ประการว่าทำไมคุณควรจะลุกออกไปเดินให้มากขึ้นมาย้ำอีกครั้งหนึ่ง หวังว่าคงจะทำให้คำเชิญชวนของผมมีน้ำหนักมากขึ้น และทำให้คุณออกไปเดินมากขึ้นจริงๆ ข้อ 1 การเดินทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น การออกไปเดินในที่กลางแจ้งทำให้อารมณ์ของคุณดีขึ้นอย่างรวดเร็ว  นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐอเมริกาพบว่า แค่การเดินเร็วๆ หรือวิ่งเล่นๆ เหยาะๆ ไม่ต้องวิ่งอย่างจริงจัง ครั้งละสามสิบนาที สัปดาห์ละสามครั้ง ก็มีประสิทธิผลในการผ่อนคลายอาการหดหู่ เหี่ยวห่อ ท้อถอย ได้ดีพอๆกับการใช้ยาอย่างที่แพทย์ทั่วไปจะจ่ายให้ทีเดียว ข้อ 2 การเดินลดความเครียด คนที่เดินไปไหนมาไหนจะเครียดน้อยกว่าคนที่เดินน้อย เนื่องจากการเคลื่อนไหวร่างกายจะขับฮอร์โมนคอร์ติโซนไปทั่วร่างกาย ช่วยหยุดยั้งความกังวลกลุ้มอกกลุ้มใจ   การศึกษาคน 18,000 คนที่เดินทางไปทำงานเป็นประจำเป็นระยะทางครั้งละไม่น้อยในอังกฤษพบว่า คนที่เดินหรือขี่จักรยานไปทำงานมีระดับความเครียดต่ำกว่าคนที่ขับรถไปทำงาน ข้อ 3 การเดินทำให้สมองปลอดโปร่ง หากรู้สึกว่าสมองล้า ขุ่นมัว หรือหมดเรี่ยวหมดแรงคิด พยายามคิดอะไรก็ทำไม่ได้ชัดเจน ออกไปเดินเลย โดยเฉพาะการเดินในชนบท หรือในสวนในพื้นที่สีเขียวทั้งหลาย สมองของคุณจะแจ่มใสขึ้น ได้พักผ่อนคลาย  การเดินตามถนนในเมืองจะไม่ค่อยได้ผลดีเท่าใดนักเพราะสมองของคุณยังต้องตื่นตัวระแวดระวังสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา  การได้ไปเดินในพื้นที่สีเขียวให้โอกาสสมองคุณได้มองย้อนกลับไปและผ่อนคลาย ข้อ 4 การเดินกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เมื่อคุณได้ขจัดความขุ่นมัวไม่แจ่มใสที่อยู่ในสมองออกไป ความคิดจิตใจของคุณก็จะอ้าแขนเปิดรับความคิดสร้างสรรค์ให้หลั่งไหลเข้ามา การเดิน โดยเฉพาะการเดินในพื้นที่สีเขียว จะให้ผลดังกล่าว   การศึกษาที่เพิ่งทำเมื่อเร็วๆนี้และผลลัพธ์ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Neuroscience (แนวหน้าในวงการประสาทวิทยา) พบว่า การเดินช่วยปรับปรุงความคิดทั้งในแบบที่เข้ามาบรรจบกันและแบบที่แตกต่างออกไป การคิดทั้งสองแบบนี้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มขึ้น ข้อ 5 การเดินทำให้กระดูกแข็งแกร่งขึ้น จงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กระดูกของคุณซะตั้งแต่เดี๋ยวนี้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อหลีกเลี่ยงกระดูกแตกหัก โรคกระดูกพรุน และกระดูกสันหลังหดตัว ในอนาคต  เราสร้างความหนาแน่นของกระดูกได้ด้วยการออกกำลังกาย รวมทั้งการเดิน  การศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในอังกฤษพบว่า คนที่เดินเป็นประจำมีกระดูกที่มีสุขภาพดีกว่า แข็งแกร่งกว่า คนที่เดินน้อย ข้อ 6 การเดินช่วยปรับปรุงการมีสมาธิ การศึกษาของมหาวิทยาลัยอีสท์แองเกลียในอังกฤษพบว่า คนที่เดินหรือขี่จักรยานไปทำงานมีสมาธิดีกว่าเมื่อไปถึงจุดหมายเพื่อทำงาน ผลลัพธ์เช่นนี้ยังพบได้ในเด็กที่เดินไปโรงเรียน  การสำรวจของกระทรวงคมนาคมขนส่งอังกฤษพบว่า ครูเก้าในสิบคนบอกว่านักเรียนของพวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้มากกว่าหากได้เดินไปโรงเรียน ข้อ 7 การเดินเป็นของได้เปล่า ลืมค่าสมาชิกแสนแพงของยิมหรือสถานออกกำลังกายทั้งหลายและค่าน้ำมันในการขับรถไปที่นั่นได้เลย  คุณไม่เสียค่าใช้จ่ายใดเลยในการเดิน แถมยังได้ออกกำลังกายด้วย   ในขณะเดียวกัน …

Read More »

สี่เมืองใหญ่จะห้ามใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2568

คุณภาพอากาศในกรุงปารีสทำให้ผู้บริหารต้องใช้ไม้แข็งแก้ปัญหา นายกเทศมนตรีสี่เมืองหลวงคือ ปารีส เม็กซิโกซิตี้ มาดริด และเอเธนส์ ประกาศในการประชุมนานาชาติของผู้บริหารเมืองใหญ่ที่จัดขึ้นทุกสองปี ซึ่งปีนี้มีผู้บริหารเมืองจากสี่สิบประเทศทั่วโลกไปประชุมกันที่กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก ว่าจะประกาศห้ามใช้ยานยนต์ทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในเมืองของพวกเขาภายใน พ.ศ. 2568 เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น และใช้มาตรการต่างๆ มากระตุ้นและส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยาน  นครทั้งสี่มีปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายมานานแล้ว และปรากฏเป็นข่าวบ่อยขึ้นในระยะหลังนี้ ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมีส่วนสำคัญในการทำให้คุณภาพอากาศในเมืองเลวร้ายลงจากการที่มันปล่อยอนุภาคขนาดจิ๋วและก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ออกมา  อนุภาคขนาดจิ๋วนี้สามารถทะลุผ่านเข้าไปในปอดและทำให้คนที่รับมันเข้าไปมากๆ ป่วยด้วยโรคหัวใจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนไนโตรเจนออกไซด์มีส่วนทำให้เกิดชั้นของก๊าซโอโซนที่ระดับพื้นดิน ทำให้หายใจลำบาก แม้แต่กับคนที่ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบการหายใจมาก่อน  องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ทุกปีมีคนทั่วโลกราวสามล้านคนเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยที่มีส่วนเกิดจากมลพิษในอากาศ ปัญหานี้สร้างความกังวลไปทั่ว ไม่ใช่แต่ผู้บริหารของรัฐบาลระดับต่างๆ เท่านั้น แม้แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมก็เริ่มลงมือปฏิบัติการอย่างจริงจัง   เมื่อเร็วๆนี้ นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมในอังกฤษเพิ่งประสบความสำเร็จในการใช้กระบวนการทางศาลมาบังคับให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหานี้ให้เร็วขึ้น มาดริดนำเอามาตรการจำกัดความเร็วมาใช้และจะห้ามยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลภายในปี 2563 การเอารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลออกไปจากถนนยังช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่ทุกเมืองใหญ่เผชิญควบคู่ไปกับการปัญหามลพิษทางอากาศด้วย นายมิเกล มานเซรา นายกเทศมนตรีนครเม็กซิโกซิตี้ กล่าวว่าจะแก้ปัญหาทั้งบนถนนและในปอดให้ประชากรในเมืองของเขาด้วยการลงทุนขยายช่องทางการคมนาคมขนส่งด้วยวิธีการอื่น ทั้งระบบรถประจำทางสายด่วน(Bus Rapid Transport – BRT) ระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน และการใช้จักรยาน ส่วนนางแอน ฮิดาลโก นายกเทศมนตรีนครปารีส ลงมือไปก่อนหน้าแล้วด้วยการห้ามยานยนต์ที่จดทะเบียนก่อนปี พ.ศ. 2540 และใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เข้ามาในปารีส และเพิ่มขอบเขตการห้ามนี้ให้กว้างขึ้นทุกปี เพื่อให้ในที่สุดก็จะสามารถเอายานพาหนะที่สร้างมลพิษส่วนใหญ่ออกไปจากถนนได้  นอกจากนั้นทุกเดือนจะมีวันหนึ่งที่มีการปิดถนนชองเซลีเซ(ซึ่งเป็นถนนที่ใหญ่โตกว้างขวางคล้ายถนนราชดำเนินของกรุงเทพฯ) ห้ามรถยนต์ทุกชนิดเข้าไป และล่าสุดก็มีการเปลี่ยนทางด่วนสองช่องทางริมฝั่งแม่น้ำเซนยาวสามกิโลเมตรให้กลายเป็นทางเดินเท้า  เธอประกาศชัดว่าปารีสมีเป้าหมายชัดเจนที่จะขจัดยานยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้หมดสิ้นไปจากเมืองของเธอ ตามอย่างกรุงโตเกียวที่ทำไปแล้วก่อนหน้า ทางด้าน นายมานูเอลลา คาร์เมนา นายกเทศมนตรีนครมาดริด กล่าวว่า คุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปเกี่ยวพันโดยตรงกับการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง อากาศก็จะสะอาดขึ้น ตัวเราเอง ลูกหลานของเรา พ่อแม่ของเรา และเพื่อนบ้านของเรา ก็จะมีสุขภาพดีขึ้น หลายเมืองที่มีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้คนลดการใช้รถยนต์ หันมาเดิน ขี่จักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ ก็เริ่มเห็นผลแล้ว อย่างเช่นนครบาร์เซโลนาในสเปนที่มีการนำระบบจักรยานสาธารณะมาใช้ พบว่าการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นของชาวเมืองได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกว่า 9,000 ตัน เท่ากับมีการใช้รถยนต์ขนาดปานกลางน้อยลงไปกว่า 33 ล้านกิโลเมตร สิ่งที่นายกเทศมนตรีทั้งสี่นครใหญ่ทำไปเป็นการแสดงถึงความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความใส่ใจต่อทุกข์สุขของประชาชนภายใต้การดูแลของพวกเขาอย่างจริงจัง และมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ปัญหา  เราไม่ได้ยินอะไรจาก ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ไม่ทราบว่าท่านได้ไปร่วมการประชุมที่เม็กซิโกซิตี้ครั้งนี้ด้วยหรือไม่ ถ้าไปแล้วคิดอะไร แต่นี่คือกระแสโลกที่ในที่สุด เมืองที่เราอยู่อาศัยก็ต้องเดินไปในทิศทางนี้ หันมาส่งเสริมสนับสนุนให้คนเดิน ขี่จักรยาน และใช้ขนส่งสาธารณะ ให้มากที่สุด เพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน …

Read More »

เดนมาร์กบอกอะไรเราเรื่องวัฒนธรรมการใช้จักรยาน

การที่คนในสังคมหนึ่งจะใช้จักรยานกันแพร่หลายเป็นประจำในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ใช่กิจกรรมที่ทำเป็นการเฉพาะพิเศษ การใช้จักรยานก็ต้องเป็น “วัฒนธรรม” หนึ่งของสังคมนั้น  และสังคมที่เรานึกถึงทันทีเมื่อพูดถึง “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” ก็คงไม่พ้นไปจากสังคมเนเธอร์แลนด์หรือสังคมเดนมาร์ก ที่จากสถิติล่าสุด สองประเทศนี้ครองอันดับ 1 และ 2 ของการมีคนใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางเป็นสัดส่วนต่อการเดินทางทั้งหมดสูงที่สุด คือร้อยละ 36 และ 28 ตามลำดับ ก่อนจะลงไปที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” มาดูคำว่า “วัฒนธรรม” กันก่อน  “วัฒนธรรม” ในความเป็นจริงนั้นต่างจากที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ  วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งถาวร อยู่นิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่วัฒนธรรมเกิดได้ รุ่งเรืองได้ เสื่อมถอยได้ และ “ตาย” สิ้นสลายหายไปได้ในบริบทต่างๆ ของสังคม  วัฒนธรรมไม่เพียงแต่กำหนดระเบียบแบบแผน ขนบธรรมเนียมประเพณี และคุณค่าทางสังคมของเราเท่านั้น  แต่เราสร้างวัฒนธรรมได้และทำลายวัฒนธรรมได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาเอาไว้จนสุดฤทธิ์ หากมันก่อให้เกิดความเสียหาย เช่น สร้างความไม่เป็นธรรม หรือทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นั่นหมายความว่า “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” ของสังคมหนึ่งๆ มีความเป็นมา และเป็นไป  ไม่ได้เป็นดังเช่นที่เราเห็นในปัจจุบันมาตลอด  วัฒนธรรมหนึ่งๆ อาจต่างกันและมีผลต่อสังคมต่างกันเมื่ออยู่ในบริบทสังคมที่ต่างกัน ทีนี้มาดูที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยาน” เป็นการเฉพาะ และก็เป็นไปตามชื่อของบทความชิ้นนี้คือ เราเฉพาะเจาะจงมาพิจารณาที่ “วัฒนธรรมการใช้จักรยานของสังคมเดนมาร์ก”               ว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง มาดูกันดีกว่าว่า คนเดนมาร์ก หรือชาวเดน (Danes) เองมองวัฒนธรรมการใช้จักรยานของพวกเขาอย่างไร  และคนหนึ่งที่น่าจะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็ไม่พ้น นายเคลาส์ บอนดาม (Klaus Bondam) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานเดนมาร์ก (CEO, Danish Cyclists Federation) แค่ประโยคเดียวที่นายเคลาส์กล่าวก็บ่งบอกถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของวัฒนธรรมการใช้จักรยานต่อสังคมเดนมาร์กแล้ว  เขาบอกว่า “วัฒนธรรมการใช้จักรยานของเดนมาร์กไม่เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของเราเท่านั้น หากยังเป็นกระดูกสันหลัง เป็นแกนกลางค้ำยันอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของเราอีกด้วย” ชาวเดนมาร์กใช้จักรยานเดินทางไปทำงานยามเช้า ลองคิดดูนะครับว่าเรามีภาพอะไรเมื่อคิดถึงชาติหนึ่งๆ  ถ้าเป็นอังกฤษ หลายคนคงนึกผู้ชายใส่หมวกสูงกลมๆ ถ้าเป็นบราซิลก็น่าจะเป็นการเต้นแซมบ้าใช่ไหมครับ  ภาพเหล่านี้เป็นเหมือน “เครื่องหมายการค้า” ที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น  และสำหรับเดนมาร์กก็คนขี่จักรยานไงครับ  แต่นายเคลาส์บอกว่า วัฒนธรรมการใช้จักรยานของเดนมาร์กเป็นมากกว่านั้น มันเป็นส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวตนที่ชาวเดนเชื่อมโยงพวกเขาเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายเคลาส์จะกล่าวว่า เดนมาร์กมีวัฒนธรรมการใช้จักรยานที่เป็นเอกลักษณ์จนถึงขั้นเป็น “ข้อยกเว้น” ไม่ใช่ลักษณะทั่วไปของชาติต่างๆ …

Read More »

สหประชาชาติเรียกร้องให้จัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน

“ให้รัฐบาลจัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน” ฝันไปหรือเปล่า?  ก็อาจจะเป็นความฝันที่ยังไม่ใช่ความจริงในขณะนี้สำหรับประเทศไทยครับ  แต่เป็นจริงได้ และควรจะต้องเป็นเช่นนั้นด้วย  ข้อเสนอนี้มาจากโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (UNEP) ในรายงานชื่อ Global Outlook on Walking and Cycling 2016 ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2559 นี่เอง รายงานนี้เป็นผลจากการสำรวจความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับ “Active Travel” ในยี่สิบประเทศ  คำว่า Active Travel นี้ยังไม่มีคำศัพท์ไทยที่สั้นกระชับและให้ความหมายตรง แปลออกมาอาจจะได้ว่า “การเดินทางที่ผู้เดินทางได้ขยับเขยื้อนร่างกายอย่างแข็งขัน”  คำนี้ใช้กันมากในยุโรป ลาตินอเมริกา และประเทศในอาฟริกาตะวันตก ให้ความหมายตรงกับ “การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์” (Non-Motorised Transport – NMT) ซึ่ง UNEP ให้นิยามครอบคลุมไว้ตั้งแต่ การเดิน การขี่จักรยานสองล้อและสามล้อ การใช้รถเข็นชนิดต่างๆ การเดินทางด้วยยานพาหนะที่ใช้สัตว์ลากจูง การใช้สัตว์ในการขนส่ง และวิธีเดินทางและการใช้พาหนะอื่นๆที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมไปจนถึงการใช้สเกตบอร์ดด้วย  ยี่สิบประเทศที่เลือกมานี้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง คือมีรายได้ประชาชาติสุทธิต่อหัวต่อปีไม่เกิน 1,025 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,000 บาท) และระหว่าง 1,025 ถึง 12,475 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,000 – 436,000 บาท) ตามลำดับ อยู่ในเอเชีย 6 ประเทศได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล สิงคโปร์ จีน และเกาหลี ไม่มีไทยเราครับ ผลการสำรวจชี้ออกมาเลยครับว่า การไม่ได้ลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินและการใช้จักรยานนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนนับล้านๆ  มีการคำนวณว่าทั่วโลกมีคนตายบนถนนปีละราว 1.3 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้ถนนที่อยู่ในสภาพอ่อนเปราะที่จะได้รับอันตราย คือคนที่เดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว รวมถึงผู้ขับขี่จักรยานยนต์ด้วย แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงแล้วจะต่างกันมาก คนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเสียชีวิตบนถนนมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูงถึงเกือบสองเท่า !!! เปรียบเทียบง่ายๆนะครับ ลองคิดดูว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ หากประชาคมโลกปล่อยให้ประชาชนทั้งหมดของออสเตรเลีย กานา หรือเนปาล ตายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 15 ปี  แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เมื่อเราปล่อยให้ประชากรโลกจำนวนมากกว่านั้นเสียอีกตายไปอย่างเงียบๆ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน  เรายอมรับให้อุบัติเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นทั้งๆ …

Read More »

อัมสเตอร์ดัม – ใช้จักรยานมากๆ ก็มีปัญหา

อัมสเตอร์ดัมอาจเป็นเมือง(หลวง)ที่มีการใช้จักรยานมากที่สุดในโลก ประชากรที่นั่น 1.1 ล้านคนมีจักรยาน 1 ล้านคัน และร้อยละ 68 ของการเดินทางในย่านกลางเมืองทำด้วยจักรยาน จึงไม่แปลกที่อัมสเตอร์ดัมจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาเพราะจักรยาน มากกว่าภาพวาดของจิตรกรเอกอย่างแวนโฮห์และเรมบรานด์ และก็เป็นความจริงที่ชาวอัมสเตอร์ดัมหนึ่งรุ่นเต็มๆ เติบโตขึ้นมาคุ้นเคยกับการใช้จักรยานจนพวกเขามีทักษะที่จะขี่ยานพาหนะสองล้อนี้ไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่ว ไหลลื่น ตื่นตัวอย่างยิ่งกับสิ่งที่อยู่รอบตัว แต่ก็ดูเป็นธรรมชาติเสียเหลือเกิน แม้จักรยานจะเป็นภาพลักษณ์ของอัมสเตอร์ดัม เมืองนี้ก็เป็นสวรรค์ของการใช้จักรยานน้อยกว่าเมืองอื่นในเนเธอร์แลนด์ที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างอูเทรคท์และโกรนิงเก็น ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเวลาเช้าเย็นและบริเวณที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวผู้ไม่คุ้นเคยกับกฎเกณฑ์การขี่จักรยานที่ไม่มีการเขียนเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรของชาวอัมสเตอร์ดัม เราจะเจอกับสภาพ “จักรยานติด” (เหมือนรถติด) ที่ผู้ใช้จักรยานตามเส้นทางสายหลักต้องหยุดทุกจุดที่มีถนนตัดกัน ทำให้แม้แต่ชาวอัมสเตอร์ดัมเองก็เอือมระอา แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่อัมสเตอร์ดัมไม่ใช่นครใหญ่มากมาย หากมีพื้นที่จำกัด ในขณะที่มีจักรยานมากเกินไป สกู๊ตเตอร์มากเกินไป รถยนต์มากเกินไป และแม้แต่คนเดินเท้าก็มากเกินไป  ยิ่งกว่านั้นแม้การเดินทางที่ใจกลางเมืองร้อยละ 68 จะทำด้วยจักรยาน แต่ก็มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพียงร้อยละ 11 ในขณะที่รถยนต์ได้ไปถึงร้อยละ 44  ผิดสัดผิดส่วนเป็นอย่างยิ่ง  แล้วรถสกู๊ตเตอร์ ซึ่งใหญ่กว่า หนักกว่า และเร็วกว่า ยังเข้ามาใช้ทางที่จัดไว้ให้จักรยานอีกด้วย แม้ปัญหานี้กำลังจะได้รับการแก้ไข ข้อเสนอให้ห้ามสกู๊ตเตอร์ใช้ทางจักรยานทั่วประเทศกำลังอยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา จักรยานไฟฟ้าซึ่งขณะนี้ขายดีกว่าจักรยานที่ใช้แรงคนธรรมดาๆ ก็อาจเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาเพราะมันสามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แอนนา ลูเท็น .นายกเทศมนตรีจักรยานคนแรกของโลก (ภาพโดยนิค แมน มีด) จะแก้ปัญหากันอย่างไร กลุ่มผลักดันนโยบายจักรยานชื่อ CycleSpace เอาตัวอย่างความสำเร็จก่อนหน้านี้จากการแต่งตั้งมิริค มิลาน มาเป็น “นายกเทศมนตรีกลางคืน” ของอัมสเตอร์ดัมมาใช้ นายมิริคเป็นตัวกลางให้เกิดการพูดคุยสื่อสารกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียใน “กิจกรรมกลางคืน” ของเมืองที่กำลังขยายตัว ตั้งแต่ผู้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นที่บางครั้งก็ไม่อยากยอมรับว่ามีกิจกรรมเช่นนี้ในพื้นที่รับผิดชอบของตน จนสามารถตกลงกันได้ จากประสบการณ์นี้ CycleSpace จึงเสนอให้มีการสร้างตำแหน่งขึ้นมาใหม่เรียกว่า “นายกเทศมนตรีการจักรยาน” (cycling mayor) โดยเปิดให้ส่งวิดีโอคลิปเข้ามาสมัคร เปิดให้สาธารณชนลงคะแนนเลือกให้เหลือจำนวนน้อยลง จากนั้นเจ้าหน้าที่เมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านจักรยานก็มาเลือกกันเป็นขั้นสุดท้ายได้แอนนา ลูเท็น (Anna Luten) มาเป็นนายกเทศมนตรีการจักรยานคนแรกของอัมสเตอร์ดัมและของโลก ความจริงตำแหน่งคล้ายๆกันนี้ก็ไม่ใช่ของใหม่ หลายเมืองมีตำแหน่งที่เรียกว่า ผู้ตรวจการจักรยาน(bicycle commissioner), หัวหน้าเจ้าหน้าที่จักรยาน(Chief Bicycle Officer – CBO) หรือซาร์จักรยาน(cycle tsar) แต่ตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งทางการ เป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองท้องถิ่น หลายแห่งมาจากการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีการจักรยานของอัมสเตอร์ดัมแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานใดๆ และเป็นงานอาสาสมัคร …

Read More »