Home / บทความ / สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย: การรณรงค์ใช้จักรยานในประเทศไทย (2)

สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญ ต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย: การรณรงค์ใช้จักรยานในประเทศไทย (2)

การรณรงค์ใช้จักรยานในประเทศไทย
เกือบยี่สิบปีที่แล้ว มีนักวิชาการสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญท่านหนึ่ง คือ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ได้เป็นแกนนำริเริ่มเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางไปทำงานและไปเรียนหนังสือ แต่พลังของการรณรงค์ก็ยังไม่อาจทัดทานต่อสู้กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์พาหนะได้เลยแม้แต่น้อย การรณรงค์แต่ละครั้งเป็นเพียงการกระตุ้นสังคมเป็นครั้งคราว หรือบางครั้งก็เป็นการเอากิจกรรมขี่จักรยานไปประกอบกิจกรรมรณรงค์อื่นๆ มีเพียงกทม.เท่านั้นที่จัดสร้างทางจักรยานขึ้นในถนนหลายสายมีระยะทางรวมแล้วกว่าสองร้อยกิโลเมตร แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพราะถูกทิ้งร้าง ซึ่งยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ได้เกิดความเติบใหญ่ของชุมชนคนรักจักรยานยุคใหม่ขึ้นมาทั่วประเทศ คือ จักรยานเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ด้วยความสอดคล้องกับคนวัยอาวุโสยุคใหม่ที่ต้องการออกกำลัง แต่มีปัญหาทางกายภาพ เช่นข้อเข่าเสื่อม ไม่สามารถจ๊อกกิ้งได้ จึงหันมาหาจักรยาน แต่จักรยานที่คนกลุ่มนี้เลือกใช้กลับต้องเป็นจักรยานมีเกียร์ราคาแพงจากต่างประเทศ เป็นที่รู้จักกันว่า “เสือภูเขา” หรือ เอ็มทีบี เมาเท่นไบค์ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ หมื่นบาทไปจนถึงหลายแสน
ชุมชนคนขี่จักรยานกลุ่มนี้มีเครื่องแต่งกายที่ป้องกันอันตรายได้อย่างเต็มยศ  ยังดีที่การผลิตเสื้อผ้าทำในเมืองไทยได้ดีมีคุณภาพ แต่อุปกรณ์อื่นๆก็ล้วนแต่ราคาสูงเพราะต้องนำเข้า ทำให้โดยรวมค่าใช้จ่ายในการใช้จักรยานบางคัน-บางคนราคาสูงถึงขนาดซื้อจักรยานยนต์ได้มากกว่าสองสามคันด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี การเติบโตของชุมชนคนกลุ่มนี้กลับทำให้ประชาชนคนเดินดินทั่วไปมีทัศนคติที่เข้าถึงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้ยากยิ่งขึ้น เพราะเป็นภาพลักษณ์ของคนมีสตางค์เขาเล่นกัน
รวมถึงจักรยานเกียร์เดียว หรือที่เรียกชื่อในสมัยก่อนว่า สเตอร์ลิง ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นคล้ายจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ ก็ราคาเริ่มต้นจากหมื่นขึ้นไปและนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทั้งสิ้น

จักรยานคนไทย จักรยานคนจน
ทั้งที่จักรยานเป็นพาหนะเดินทางของคนไทยมาเกือบ 80-90 ปี โดยนำเข้าจากต่างประเทศในช่วงแรกๆ ต่อมาจึงมีการผลิตเองในประเทศไทย แต่เมื่อยุคที่จักรยานยนต์เริ่มเฟื่องฟูราวสามสิบกว่าปีที่แล้ว สายตาของคนทั่วไปจึงมองว่า คนขี่จักรยานธรรมดาๆ คือคนที่ “ไม่มีหรือยังไม่มีเงินซื้อรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์” ถึงกับมีการแต่งเพลงลูกทุ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนชื่อเพลง จักรยานคนจน
ยิ่งสังคมไทยมีค่านิยมให้ความสำคัญกับคนขับรถเก๋งมากกว่าคนขับรถกระบะและมากกว่าคนขี่มอเตอร์ไซค์ คนขี่จักรยานจึงเป็นเพียงคนส่วนน้อยในท้องถนนที่แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจำนวนมากก็ยังมองว่าเป็นส่วนเกินของถนนในปัจจุบัน

ดังนั้น การที่ชุมชนชาวจักรยานเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว ชาวจักรยานเพื่อการแข่งขัน จะมารวมตัวกันสนับสนุนการสร้างชุมชนจักรยานขึ้นในระดับท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องถอดใจออกไปสร้างมุมมองวิเคราะห์จากภายนอกเข้ามาหาตนเอง แล้วขับเคลื่อนกิจกรรมที่กลมกลืนกับสังคมและชุมชนมากกว่าการสร้างความแปลกแยก
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อชี้นำ และท้าทายสมาชิกชาวจักรยานที่มีความมุ่งมั่น ด้วยทุกท่านมองเห็นถึงคุณูปการของภารกิจร่วมต่อสังคมไทยในอนาคต ในวาระเริ่มต้นของการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมผู้ใช้จักรยานและผู้รักการเดินประจำพื้นที่ จังหวัด เพื่อประสานกันเป็นเครือข่ายสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและรักการเดินนี้ เราจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นข้อสังเกตที่น่าสนใจทุกๆเรื่อง เพื่อนำมาต่อกันเป็นภาพรวมแล้วถักทอให้เป็นภาพผืนใหญ่ที่สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่คนทุกระดับทั้งรายบุคคล กลุ่ม-ชุมชน องค์กร สถาบัน ภาครัฐ-เอกชน องค์กรท้องถิ่น ฯลฯ ที่จะต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้ไปด้วยกัน ทั้งนี้โดยมีกลไกสำคัญในแต่ละภาคส่วนเป็นตัวต่อสำคัญของนโยบาย ซึ่งคณะกรรมการกำกับทิศโครงการผลักดันนโยบายฯและคณะกรรมการชมรมฯจะได้ประสานภาระกิจนี้ต่อไป

โปรดติดตามตอนต่อไป >>>>

ทันตแพทย์อนุศักดิ์ คงมาลัย
ประธานคณะกรรมการกำกับทิศเพื่อการผลักดันการใช้จักรยานฯ
รองประธาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย
อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา 2551-2554

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น