Home / บทความ / ชุมชนเสนอ ให้(ว่าที่)ผู้ว่าฯ กทม.สนอง เรื่องการเดินและการใช้จักรยาน

ชุมชนเสนอ ให้(ว่าที่)ผู้ว่าฯ กทม.สนอง เรื่องการเดินและการใช้จักรยาน

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับมูลนิธิโอกาสจัดการประชุมตัวแทนของชาวชุมชนในกรุงเทพฯ เพื่อระดมความเห็นในประเด็นการเดินและการใช้จักรยาน  เพื่อนำไปเสนอต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งการเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ๒๕๕๖

การระดมความเห็นครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทน(ส่วนใหญ่เป็นกรรมการ ชุมชน)กว่า ๖๐ คนจาก ๓๑ ชุมชนใน ๒๒ เขตของกท.ที่มีประชากรรวมกันประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน และมีตัวแทนชุมชนจากอุบลราชธานีและปทุมธานีมาร่วมสังเกตการณ์และแลกเปลี่ยน ด้วยเพื่อนำความเห็นไปเสนอกับทางอปท.จังหวัดของตนต่อไป

ตัวแทนชุมชนได้หารือกันถึงสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคที่พวกเขาเผชิญอยู่ในการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และได้มีข้อเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมาจากการเลือกตั้งปีหน้า ดำเนินการดังนี้

ในขั้นต้น หากต้องการคะแนนเสียงจากชุมชนผู้สมัครและผู้ว่าฯ กทม.(ที่ได้รับการเลือกตั้ง)จะต้องชูประเด็นการเดินและการใช้จักรยานในนโยบายสาธารณะ และเมื่อจะดำเนินการใดๆก็ต้องให้ประชาชนมีส่วร่วมโดยการหารือกับชุมชน  เมื่อเห็นว่ามีปัญหาใดที่ต้องจัดการแก้ไขโดยเร่งด่วนก็ให้มีคำสั่งไปที่ พื้นที่ให้ดำเนินการทันที และลงมาดูในพื้นที่ด้วย  ชาวชุมชนเห็นว่าหากจะให้ประชาชนเดินหรือใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันมากๆ ก็ต้องมีทางเท้าและทางจักรยานที่ใช้ได้จริงๆอย่างสะดวกและปลอดภัย

ประเด็นเรื่องเดินนั้น ปัญหาใหญ่ที่ชาวชุมชนทุกพื้นที่เห็นตรงกันคือการที่ กทม.ปล่อยให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมายึดครองพื้นที่ที่เป็นทางเท้าจนไม่สามารถ เดินได้สะดวก หลายแห่งต้องลงไปเดินบนถนน เสี่ยงอันตรายจากรถยนต์  ถ้าผู้ว่าฯ จะยอมให้ผู้ค้าใช้ทางเท้าทำมาหากินก็ต้องจัดระเบียบให้ใช้ร่วมกันได้จริง ตีเส้นแบ่งให้ชัดเจน โดยจัดผู้ค้าให้อยู่ด้านในด้านเดียวในบริเวณจุดผ่อนผันและมีพื้นที่ให้เดิน หรือขี่จักรยานได้สะดวก ต้องห้ามจักรยานยนต์ไม่ให้ขึ้นมาแล่นบนทางเท้าอย่างจริงจัง  นอกจากการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าแล้ว ก็จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแลและซ่อมแซมทั้งทางเท้าและทางจักรยานให้ราบเรียบ ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น และมีไฟส่องสว่างตลอดในยามค่ำคืน

ในเรื่องการใช้จักรยาน ดีที่สุดควรทำเส้นทางจักรยานให้แยกเป็นสัดส่วนจากถนนที่รถยนต์ใช้ กว้างอย่างน้อย ๓ ฟุต ทางจักรยานนี้ควรเริ่มจากเส้นทางที่ประชาชนใช้บ่อยเป็นระยะสั้นๆในชีวิตประจำวันก่อน เช่น ไปตลาด ไปติดต่อสถานที่ราชการหรือธนาคาร ไปสวนสาธารณะ ฯลฯ และควรจะเน้น คือ ผู้ว่าฯกทม.ควรส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนใช้จักรยานไปโรงเรียน โดยนอกจากทำทางจักรยานที่ปลอดภัยให้เด็กขี่แล้ว ควรมีการรณรงค์และมีกองทุนจักรยานสำหรับเด็ก รวมทั้งสอนเด็กให้ซ่อมจักรยานเป็นด้วย

ชาวชุมชนเสนอในขั้นต้นให้ผู้ว่าฯ กทม. ทำ “ทางจักรยานต้นแบบ” นำร่องให้ชาวชุมชนใช้ ๑๐ เขตก่อน ที่ชาวบ้านระบุชัดเจนคือที่ถนนรามคำแหง, ถนนพระราม ๙, ถนนพระราม ๔ และหมู่บ้านนักกีฬา ส่วนถนนที่จะสร้างใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะต้องสร้างให้มีทางจักรยานควบ คู่ไปด้วยทุกสาย โดยเมื่อทางจักรยานระยะสั้นเหล่านี้ใช้ได้ดีแล้วจึงค่อยมาทำทางเชื่อมโยงต่อ กันเป็นเครือข่ายทางจักรยานของกรุงเทพฯในภายหลัง  และเมื่อมีทางจักรยานแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ชุมชนตระหนักและตื่น ตัวหันมาใช้จักรยาน

นอกจากมีทางให้ขี่จักรยานได้ สะดวกและปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีที่จอดจักรยานที่ปลอดภัย จอดได้สบายใจ ไม่หาย ตามสถานที่-จุดสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะตามสถานีรถไฟทั้งบนดินและใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และมีห้องน้ำไว้บริการด้วยหากทำได้  บนสะพานข้ามคลองและสะพานลอยข้ามถนนต้องมีทางเรียบๆ ให้เข็น-จูงจักรยานข้ามได้ แต่ต้องจำกัดไม่ให้จักรยานยนต์มาใช้ด้วย  มีศูนย์ซ่อมบำรุงจักรยานทั่วกรุงเทพฯ  ในสวนสาธารณะทุกแห่งก็ให้มีเส้นทางสำหรับขี่จักรยานออกกำลังกาย  กทม.(และรัฐบาล)ควรมีกองทุนสนับสนุนจักรยาน มีโครงการจักรยานคันแรกแบบเดียวกับที่สนับสนุนผู้ซื้อรถยนต์คันแรก และแจกจักรยานทุกชุมชนเป็นการกระตุ้นนำร่อง ให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้ขี่จักรยานและคนเดินเท้าเป็นการเฉพาะ เอาโทษหนักกับผู้ใช้รถยนต์ที่ทำให้เกิดอันตรายกับคนเดินเท้าและผู้ขี่ จักรยาน มีใบขับขี่สำหรับผู้ขี่จักรยาน มีตำรวจสายตรวจจักรยาน และให้การรถไฟ-การรถไฟฟ้าจัดให้มีจักรยานไว้บริการตามสถานีแบบให้ยืมและนำมา คืน

นอกจากนั้นทางตัวแทนชุมชนยังเห็นตรงกันว่า ไม่เพียงแต่เรียกร้องผู้สมัครหรือพรรคการเมืองของผู้สมัคร และผู้ว่าราชการคนใหม่ให้ทำเท่านั้น ชุมชนเองก็ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย โดยที่ตัวแทนหรือกรรมการชุมชนต่างๆ ต้องไปรณรงค์ให้ชาวชุมชนขี่จักรยานกันให้มากขึ้น เพิ่มจำนวนให้เห็นชัด มีการตั้งชมรมจักรยานขึ้นมาในชุมชนเพื่อส่งเสริมการขี่จักรยานและสร้างพลัง ในการต่อรอง ชมรมเหล่านี้สามารถเป็นสาขาของชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ แต่ละชุมชนต้องทำให้การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานเป็นส่วนหนึ่งของงาน การพัฒนาชุมชน ไม่แยกออกมา ทั้งในการทำงานความคิดกับคนในชุมชน และในการประสานงานกับหน่วยงานราชการ ชุมชนที่จดทะเบียนกับเขตแล้วจะมีการประชุมกับเขตเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้วควรใช้โอกาสนั้นผลักดันเรื่องการเดินและการใช้จักรยานในที่ประชุมอย่างเป็นทางการ ท้ายสุดตัวแทนชุมชนดำริที่จะตั้งเครือข่ายส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานของชุมชน โดยมีกรรมการที่เป็นตัวแทนจากทุกชุมชนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น

กวิน ชุติมา

25 ธันวาคม 2555

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น