Home / บทความ / สมาชิกสภายุโรปชวนคนเลิกใช้รถมาขี่จักรยาน

สมาชิกสภายุโรปชวนคนเลิกใช้รถมาขี่จักรยาน

มิชาเอล เครเมอร์เป็นสมาชิกสภายุโรปจากประเทศเยอรมัน และเป็นสมาชิกของกลุ่มกรีน/พันธมิตรเสรียุโรป (Green/European Free Alliance)ในรัฐสภายุโรป ผู้อยากจะให้ประชาชนในทวีปยุโรปที่ประสงค์จะเปลี่ยนมาเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยาน สามารถเลือกวิธีการเดินทางนี้ได้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มงบประมาณของสหภาพยุโรปไปสนับสนุนการสร้างเครือข่ายทางจักรยาน  ตัวเขาเองนั้นเลิกใช้รถยนต์หันมาใช้จักรยานตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ แล้ว มาอ่านกันนะครับว่า สส.ยุโรปเขาคิดเขาทำอะไร และ สส.ไทยเราควรทำอะไร

“ในช่วงเวลาที่มีความยากลำบากทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ดูเหมือนว่าการสนับสนุนการใช้จักรยานไม่น่าจะได้รับความสนใจลงทุนนัก ทางเลือกในการใช้งบประมาณสำหรับการเดินทางขนส่งน่าจะไปลงที่โครงการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่โตน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเช่น ทางหลวง รถไฟความเร็วสูง หรือการเดินทางทางน้ำ มากกว่า  แต่ในความเป็นจริงแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับและส่งเสริมการใช้จักรยานนั้นก็สร้างผลกระทบอย่าง ใหญ่หลวง ให้การตอบแทนอย่างเศรษฐกิจมหาศาล แล้วก็สำคัญพอๆกัน

ทำไมน่ะหรือครับ

“ประการแรกเลย จักรยานสามารถทำให้ภาคขนส่งของเรา “สะอาด” ขึ้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งเท่ากับร้อยละ ๓๐ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในสหภาพยุโรป (ตัวเลขของประเทศไทยคือร้อยละ ๒๖ – ผู้แปล) และตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ เป็นต้นมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙ ในขณะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ ๓๔ ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้นความสำเร็จของภาคส่วนต่างๆในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่สภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ลงทุนไปมหาศาลหลายพันหลายหมื่นล้านยูโรก็จะสูญเปล่าเพราะภาคขนส่ง ดังนั้นผมขอฟันธงว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีการเดินทาง เราก็จะไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตรงนี้เองที่การใช้จักรยานสามารถทำให้เกิดความแตกต่างได้  ดูประเทศเยอรมันเป็นตัวอย่างสิครับ ร้อยละ ๙๐ ของระยะทางทั้งหมดที่เราใช้รถยนต์ในการเดินทางแต่ละครั้งนั้นน้อยกว่า ๖ กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเดินทางด้วยรถไฟ(และรถไฟฟ้า) รถประจำทาง รถราง และจักรยาน  ในเมืองต่างๆของเยอรมัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ ๗๐ มาจากรถยนต์ (ตัวเลขของกรุงเทพมหานครคือร้อยละ ๕๐ – ผู้แปล) ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนนิสัยของเราโดยเฉพาะในเขตเมือง ถ้าเพียงแต่เราแทนที่การเดินทางด้วยรถยนต์ในระยะทางน้อยกว่า ๖ กิโลเมตรร้อยละ ๓๐ ด้วยการใช้จักรยาน ก็จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจราจรขนส่งลงได้ถึงร้อยละ ๔

“การศึกษาของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป(ECF)พบว่า ถ้าเราแต่ละคนในสหภาพยุโรปใช้จักรยานเท่าๆกับชาวเดนมาร์คคือเฉลี่ยวันละ ๒.๖ กิโลเมตร เราจะช่วยให้สหภาพยุโรปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าหนึ่งในสี่ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ทีเดียว เราไม่ควรจะประเมินพลังของการใช้จักรยานในการทำให้ภาคขนส่งสะอาดต่ำเกินไป

“ประการที่สอง การใช้จักรยานให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล จากการใช้เครื่อง HEAT (การประเมินผลของสุขภาพต่อเศรษฐกิจ) ขององค์การอนามัยโลก การใช้จักรยานในระดับปัจจุบันของยุโรปสร้างประโยชน์ทางด้านสุขภาพคิดเป็นมูลค่ามากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๘,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หรือแปดล้านล้านบาท)ในแต่ละปี ไม่มีการเดินทางรูปแบบอื่นใดจะให้ผลประโยชน์ทางด้านสุขภาพทัดเทียมกันได้  การท่องเที่ยวที่ใช้จักรยานสร้างรายได้ให้กับภาคเศรษฐกิจของยุโรปปีละ ๔๔,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๑,๕๖๐,๐๐๐ ล้านบาท)  ตัวผมเอง(สส.เครเมอร์)มีส่วนทำให้เกิด Iron Curtail Trail หรือ “เส้นทางจักรยานหลังม่านเหล็ก” (ใน “ยุคสงครามเย็น” สื่อมวลชนมักเรียกสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ว่า “หลังม่านเหล็ก” – ผู้แปล) ยาว ๙,๐๐๐ กิโลเมตร ผ่าน ๒๐ ประเทศ จากนอร์เวย์ รัสเซีย ไปจนถึงพรมแดนบัลกาเรีย-ตุรกี

“เส้นทางจักรยานนี้เลียบพรมแดนทางตะวันตกของประเทศกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอว์ นั่นก็คือเส้นแบ่งระหว่าง “ตะวันออก” กับ “ตะวันตก” ของยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ใหญ่โตกว่าที่มีชื่อเรียกว่า EuroVelo ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ข้ามพรมแดนประเทศต่างๆไปทั่วยุโรป เครือข่ายนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จากการศึกษาที่รัฐสภายุโรปเป็นผู้จ้างทำ ผลกระทบหนึ่งของเครือข่าย EuroVelo ที่เสร็จสมบูรณ์คือรายได้โดยตรงปีละ ๗,๐๐๐ ล้านยูโร (ราว ๒๘๐,๐๐๐ ล้านบาท) ที่เยี่ยมที่สุดคือเส้นทางจักรยานเหล่านี้จะตัดผ่านนคร เมือง และภูมิภาคต่างๆ ซึ่งคนทั่วไปสามารถใช้เดินทางในชีวิตประจำวันได้

“ในวันอังคารที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ ผมจะผลักดันให้คณะกรรมาธิการขนส่งของรัฐสภายุโรปรวมเอาการใช้จักรยานและเครือข่ายทางจักรยาน EuroVelo เข้าไว้ในแนวทางของเครือข่ายการขนส่งข้ามยุโรป (Trans-European Transport Network หรือ TEN-T)ด้วย เราไม่ควรจะละเลยพลเมือง ๓๕ ล้านคนในยุโรปที่ขี่จักรยานทุกวัน และเราควรกระตุ้นให้คนใช้จักรยานกันมากขึ้นด้วยการให้ทุนทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้จักรยาน นี่เป็นโอกาสแล้วที่รัฐสภายุโรปจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถปรับปรุงสภาพของการใช้จักรยานให้ดีขึ้นทั่วยุโรป (มีข่าวดีว่าการผลักดันนี้ซึ่งมีสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปเป็นหัวแรงสำคัญได้ประสบความสำเร็จไปแล้ว – ผู้แปล)

“ชาวเนเธอร์แลนด์ขี่จักรยานกันคนละมากกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตรในแต่ละปี ประเทศอื่นๆที่มีสภาพเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันใช้จักรยานน้อยกว่ามาก นี่ไม่ใช่เหตุบังเอิญ นี่เป็นเพราะนโยบายขนส่งของเนเธอร์แลนด์ได้รวมเอาการใช้จักรยานเข้าไว้ด้วยและมีการลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง คนใช้จักรยานเพราะมันเป็นทางเลือกที่ง่าย สะดวก ผมไม่ได้ใช้รถยนต์มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๒ แล้ว แต่ผมก็ไม่ใช่คนวิเศษวิโสแปลกประหลาดอะไรในนครเบอร์ลิน เพราะว่าในนครแห่งนี้ทุกครัวเรือนมีคนที่เดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ ผมอยากจะทำให้สิ่งนี้เป็นทางเลือกที่สะดวกง่ายดายของคนทุกคนในยุโรป”

เมื่อใดประเทศไทยของเราจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิกที่คิดที่ทำเช่นนี้บ้าง และใครจะเป็นคนแรกครับ จะต้องคอยไปอีกนานเท่าใดกว่าผู้แทนของเราจะตระหนักถึงข้อดีมากมายของการใช้จักรยานซึ่งจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเมื่อเทียบกับการลงทุนดังตัวอย่างของยุโรปข้างต้นนี้

กวิน ชุติมา

เรียบเรียงแปลจาก Should we give up our cars to cycle and save the planet?

เขียนโดย มิชาเอล เครเมอร์ในเว็บ www.publicserviceeurope.comวันที่ 13 ธันวาคม 2012

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น