Home / บทความ / จักรยานกับเทคโนโลยีจะช่วยยุโรป(และไทย)ให้รอดพ้นจากโรคอ้วนได้หรือไม่

จักรยานกับเทคโนโลยีจะช่วยยุโรป(และไทย)ให้รอดพ้นจากโรคอ้วนได้หรือไม่

จักรยานกับเทคโนโลยีจะช่วยยุโรป(และไทย)ให้รอดพ้นจากโรคอ้วนได้หรือไม่

สัดส่วนและจำนวนของผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนเพิ่มขึ้นๆทั่วทวีปยุโรป การศึกษาเป็นจำนวนมากบ่งชี้ออกมาตรงกันว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเนื่องจากโรคอ้วนจะมากกว่าปีละ 10,000ล้านยูโรหรือ 400,000 ล้านบาท และองค์การอนามัยโลกกล่าวอย่างมั่นใจว่าการตายของคนร้อยละ 10 ถึง 15 มีสาเหตุมาจากโรคนี้ (ในไทย มีตัวเลขว่างบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้ในการรักษาพยาบาลคนที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมากกว่าปีละ ๑ แสนล้านบาท และที่คาดว่าจะต้องจ่ายเพิ่มกับเด็กที่เป็นโรคอ้วนในอนาคตอีกประมาณปีละเกือบ ๒ แสนล้านบาทโดยที่มีผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากโรคอ้วนปีละ ๒๐,๐๐๐ คน – ผู้แปล)

การศึกษาจำนวนมากชี้ว่าการขี่จักรยานเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับโรคอ้วน

คณะกรรมการยุโรป ซึ่งก็คือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของสหภาพยุโรป จัดการประชุม “ต้านโรคอ้วน” ที่เมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2555ที่ผ่านมา เพื่อหาทางยับยั้งสถานการณ์นี้ โดยดูว่าจะเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ(ICT) มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนยุโรปได้อย่างไรบ้าง  ผู้เข้าร่วมการประชุมมีทั้งผู้แทนจากบริษัทไมโครซอฟท์ นักวิชาการ นักวิจัยด้านสุขภาพ และผู้ผลักดันการใช้จักรยาน ซึ่งสังเกตดูจากการพูดคุยกันแล้วดูเหมือนว่ากลุ่มสุดท้ายนี้มีคำตอบที่ง่ายที่สุดให้

นายโทรเอลส์ แอนเดอร์เซ็น ผู้เชี่ยวชาญจากสถานทูตการใช้จักรยานเดนมาร์ค (Danish Cycling Embassy)ได้พูดในที่ประชุมอธิบายว่า “ทางออกที่ง่ายที่สุดและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดในการลดโรคอ้วนคือการให้คนออกมาขี่จักรยานกัน ดังนั้นเราจึงได้พัฒนาแนวคิดที่จะใช้ชิปอิเล็คโทรนิคมาเป็นเครื่องมือในการให้รางวัลผู้ที่เดินทางด้วยจักรยาน” โดยแนวคิด “การให้คะแนนผู้ใช้จักรยานเดินทาง” นี้มีการเอาไปปฏิบัติแล้วในเมืองเฟรดเดอริกาของประเทศเดนมาร์ค

ในเมืองนี้ มีการติดตั้ง “จุดตรวจ” 18 แห่งเอาไว้ตามที่สถานที่สาธารณะต่างๆ ที่คนจะไปหรือเดินทางผ่าน เช่น โรงเรียน ที่ทำงาน โรงภาพยนตร์ เป็นต้น และแจกแผ่นตรวจคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification – RFID) ให้กับผู้ใช้จักรยานในเมือง  เทคโนโลยีทันสมัยนี้จะช่วยให้สามารถติดตามได้ว่าผู้ใช้จักรยานแต่ละคนขี่จักรยานไปไหนมาไหนและให้รางวัลพวกเขาตามระยะทางที่เขาเดินทางเป็นกิโลเมตร  โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในเวลาอันรวดเร็ว โดยในไม่ช้านี้จะมีการให้รางวัลกับผู้ใช้จักรยาน 1,111 คนในเมืองเฟรดเดอริกาซึ่งมีประชากรน้อยกว่า 40,000 คน และแนวคิดได้ขยายออกไปดังไฟลามทุ่งทั่วยุโรปผ่านทางโครงการ B-Track-B ของ ECF ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป โดยมีหกนครใหญ่ของยุโรปพร้อมแล้วที่จะเอาระบบนี้ไปใช้ โครงการยังได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งทำให้ไม่จำเป็นต้องแผ่นตรวจคลื่นความถี่วิทยุหรือจุดตรวจอีกต่อไป

แผ่น RFID ชนิดหนึ่งที่ใช้ในเมืองเฟรดเดอริกา ประเทศเดนมาร์ค

คุณเควิน เมน ผู้อำนวยการด้านระดมทุนของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรปและอดีตหัวหน้าของ CTCสมาคมผู้ใช้จักรยานแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ให้ข้อมูลว่า “การศึกษาในอังกฤษแสดงให้เห็นว่าโรคอ้วนในผู้หญิงเริ่มตั้งแต่พวกเธออายุเพียง 9 ปี ผมว่ามันน่ากลัวจริงๆนะครับ นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องการโครงการอย่าง B-Track-B  ในสหราชอาณาจักร มีเด็กผู้หญิงอายุ 14 ปีที่ไม่ผ่านการตรวจสอบความฟิตสำหรับคนอายุ 65 ปีคุณรู้ไหมว่าการตรวจสอบนั้นคืออะไร คือการเดินขึ้นบันไดโดยไม่ต้องมีราวเกาะให้หยุดหายใจ”

“ถ้าคุณต้องการให้คนขี่จักรยานกัน คุณก็ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เขาและเธออายุยังน้อย และคุณต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรมในวิธีที่ครอบครัวเดินทาง วิชาเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรมบ่งบอกว่าการให้รางวัลในเชิงบวกมีพลังมากกว่าการลงโทษเยอะ และถ้าเทคโนโลยีทำให้เด็กทุกวันนี้อ้วนขึ้น บางทีการใช้เทคโนโลยีมาเสริมการใช้จักรยานอาจช่วยทำให้พวกเขาหุ่นดีขึ้นก็เป็นได้”

เป็นที่น่ายินดีว่า ในขณะนี้(กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖) มีคนไทยกลุ่มหนึ่งสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในเมืองไทย ความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อไป

กวิน ชุติมา

เรียบเรียงแปลจาก Fat Europe: Can Bicycles And Technology Save The Day?เขียนโดย Henk Hendriks เจ้าหน้าที่ของ Fietserbond ซึ่งเป็นสมาคมจักรยานแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ และผู้จัดการโครงการ B-Track-Bของ European Cyclists’ Federation (ECF) ใน ECF Newsletter, 03 October 2012

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น