Home / บทความ / ทางข้ามแบบ “ชุลมุน” ที่ไทเป

ทางข้ามแบบ “ชุลมุน” ที่ไทเป

          ถนน โดยเฉพาะถนนที่กว้างขวาง และการอนุญาตให้ยานพาหนะแล่นเร็ว ได้ตัดแบ่งชุมชน ตัดแบ่งเมือง ออกเป็นส่วนๆ หากไม่มีวิธีการที่จะทำให้คนสามารถ “ผ่าน” ถนนไปได้อย่างสะดวกและปลอดภัย คนก็จะไม่อยากเดินไปมาหาสู่กันหรือเดินไปประกอบกิจในชีวิตประจำวัน ความเป็นชุมชนจะถูกบั่นทอนหรือเสื่อมลง และความสามารถในการเดินทางของประชาชนถูกจำกัด  การสร้างสะพานลอยหรืออุโมงค์ให้คนใช้ เป็นวิธีการที่ตั้งอยู่บนหลักคิดว่า “รถยนต์เป็นใหญ่” อย่างชัดเจน คนต้องหลีกทางให้รถและผ่านไปอย่างลำบากยากเย็นกว่าด้วยการ “ข้าม” หรือ “ลอด” ถนนไป  แต่การข้ามหรือลอดถนนมิใช่วิธีที่ดีที่เหมาะสมที่สุด เพราะผู้สูงอายุและคนพิการจำนวนมากไม่สามารถใช้ได้ หรือใช้ได้ก็อย่างยากลำบากยิ่ง  การทำให้ประชาชนคนเดินเท้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่สุดของเมือง สามารถข้ามถนนได้บนพื้นราบอย่างสะดวกและปลอดภัยจึงเป็นประเด็นสำคัญของการออกแบบถนน-ออกแบบเมือง ซึ่งจะซับซ้อนขึ้นไปอีกตรงบริเวณที่ถนนตัดกันเป็นสี่แยก

         หลายคนคงเคยเห็นภาพนิ่งหรือวีดิทัศน์ที่แสดงให้เห็นคนมากมายเดินข้ามถนนตรงสี่แยกแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นมาแล้ว  ที่เอามาดูกันก็เพราะคนไม่เพียงข้ามถนนจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งธรรมดาๆ อย่างที่เราทำและเห็นกันทั่วไปตามสี่แยกในไทย แต่ยังมี “ทางม้าลาย” ตัดทแยงข้ามสี่แยกให้คนเดินข้ามได้ด้วย และคนก็เดินข้ามกันอย่างยุบยับ ดังในภาพซ้ายซึ่งเป็นทางข้ามตรงสี่แยกที่ว่ากันว่าจอแจหรือมีคนข้ามกันอย่าง “ชุลมุน” ที่สุดในโลก อยู่ตรงจัตุรัสฮาชิโกะ ในย่านชิบูยะของกรุงโตเกียว  ส่วนภาพขวาเป็นทางข้ามตรง Oxford Circus ที่ Oxford Street ตัดกับ Regent’s Street ตรงกลางย่านชอปปิ้งที่จอแจที่สุดของกรุงลอนดอน

                                                  

                                       ทางข้ามตรงสี่แยกที่ว่ากันว่าจอแจที่สุดในโลกที่จัตุรัสฮาชิโกะ ย่านชิบูยะ กรุงโตเกียว                                ทางข้ามตรงสี่แยกที่ Oxford Circus ในกรุงลอนดอน

              ทางข้ามตรงสี่แยกที่มีระบบไฟสัญญาณที่จังหวะหนึ่งจะหยุดรถทั้งหมดให้คนเดินเท้าสามารถข้ามถนนได้ทุกทิศทางในเวลาเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Pedestrian scramble ซึ่งแปลเป็นไทยตรงๆ จะได้ว่า “ความชุลมุนของคนเดินเท้า” และมีชื่ออื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น ในอังกฤษเรียกว่า “ทางข้ามกากบาท” (X Crossing), ในสหรัฐอเมริกาเรียก “ทางข้ามทแยงมุม” (Diagonal Crossing), ในคานาดาเรียก “สี่แยกชุลมุน” (Scramble Intersection) และชื่อสุดท้ายนี่ฟังดูไม่เป็นทางข้ามเลยคือ “การเต้นรำบาร์นส” (Barnes Dance) 

ป้ายในสหรัฐอเมริกาที่บอกว่า สี่แยกข้างหน้ามีทางข้ามแบบทแยงมุม

            ขอเล่าเรื่องความเป็นมาของชื่อนี้สักหน่อย  เหตุที่เรียกว่า “การเต้นรำบาร์นส” นั้นก็มาจากนามสกุลของ เฮนรี บาร์นส วิศวกรจราจร ที่แม้จะไม่ได้เป็นคนที่คิดทางข้ามแบบนี้ขึ้นมา แต่ก็เป็นคนที่ผลักดันให้มีการนำมาใช้อย่างแข็งขันจากการที่ลูกสาวของเขาพบกับความยากลำบากในการข้ามถนนเมื่อเดินไปโรงเรียน โดยนำมาใช้ครั้งแรกที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ของสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1940  บาร์นสเขียนไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาเล่าว่าผู้สื่อข่าวคนหนึ่งชื่อ จอห์น บูคานาน เป็นคนประดิษฐ์คำว่า Barnes Dance ขึ้นมา เมื่อเขาเขียนข่าวว่า “บาร์นสทำให้คนมีความสุข จนพวกเขาออกมาเต้นรำกันบนถนน”

            อย่างไรก็ตาม ทางข้ามแบบนี้มีทั้ง “ข้อดี” และ “ข้อเสีย”  ข้อดีคือเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายให้คนเดินเท้าในการข้ามถนนบริเวณสี่แยก  และเป็นการเอาพื้นที่ถนนกับเวลาในการใช้ถนน ซึ่งที่ผ่านมายกไปให้รถยนต์อย่างเกินสัดส่วน กลับคืนมาให้คนเดินเท้า  แต่ถ้าจะให้คุ้มค่าและปลอดภัยที่สุด ทางข้ามแบบนี้ควรใช้ตรงสี่แยกที่มีคนข้ามมากๆ และมีทางเท้าหรือพื้นที่ให้ยืนรอกว้างๆเท่านั้น  นอกจากนั้น เมื่อเอามุมมองของผู้ใช้รถยนต์หรือหน่วยงานที่ดูแลการจราจรของรถมาพิจารณา การที่มีช่วงเวลาที่การจราจรของรถทั้งหมดถูกหยุดไว้อย่างสิ้นเชิงให้คนเดิน ทำให้เวลาหยุดโดยรวมที่สี่แยกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิด “การติดขัดล่าช้าของรถ” หรือ “การเสียเวลา” มากขึ้น  นี่เป็นสาเหตุที่ประเทศที่ถูกครอบงำด้วย “วัฒนธรรมรถยนต์” เลิกทางข้ามแบบนี้ไปหลายแห่งเมื่อนำมาใช้

            ทางข้ามแบบ “ชุลมุน” นี้มีใช้ในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย คานาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้จะเป็นประเทศแรกที่มีทางข้ามแบบนี้ กลับมีอยู่ไม่มาก หลายแห่งถูกยกเลิกไป  ปัจจุบัน ญี่ปุ่นน่าจะเป็นประเทศที่มีทางข้ามแบบนี้มากที่สุดคือมีมากกว่า 300 แห่ง คนญี่ปุ่นเรียกว่า สุคุรันบุรุ-โคซาเต็น (sukuranburu-kosaten) ซึ่งก็ตรงกับ Scramble crossing ในภาษาอังกฤษ หรือ “ทางข้ามแบบชุลมุน” ตามสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นที่สี่แยกนั้น   

        “ทางข้ามแบบชุลมุน” นี้มีหลายแบบ  บางแห่งทาสีเป็นทางม้าลายเต็มรูปทุกเส้น(แบบในโตเกียวตามภาพ)  บางแห่งก็มีแต่เส้นกรอบบอกแนวทางข้าม(แบบในลอนดอนตามภาพ) และบางแห่งก็ไม่มีการทาสีตีเส้นใดๆ เรียกว่าทั้งคนขับรถและคนเดินเท้ารู้เองเมื่อไฟสัญญาณบอกให้หยุดหรือเดิน-ขับไปได้  นอกจากนั้นก็มีทางข้ามบางแห่งที่อนุญาตให้ข้ามทแยงมุมได้เฉพาะตามเวลาที่กำหนดคือ เวลาที่คาดว่าจะมีคนข้ามถนนมากๆ เท่านั้น  และบางแห่งก็เป็น “ลูกผสม”

            “ทางข้ามแบบชุลมุน” ที่ผมพบในไทเปตรงสี่แยกระหว่างศาลาว่าการเมืองไทเปกับตึกไทเป 101 และอาคาร World Trade Centerเป็น “ลูกผสม” คือ ทางข้ามที่ตั้งฉากกับถนนเป็นทางม้าลายธรรมดา ส่วนทางข้ามทแยงมุมจะมีแต่การตีเส้นกรอบไว้ และมีการกำหนดเวลาให้ข้ามทแยงมุมได้เฉพาะช่วง 07.00 น. ถึง 19.00 น. คาดว่าเนื่องจากตรงนี้เป็นย่านธุรกิจการค้าและมีสถานที่ท่องเที่ยวกับสถานที่สำคัญทางราชการหลายแห่ง

                    

    ทางข้ามทแยงมุมหรือทางข้ามแบบชุลมุนแห่งหนึ่งในไทเป ไต้หวัน  สังเกตการทาสีตีเส้นบนถนน ตัวเลขบอกเวลาที่อนุญาตให้ข้ามทแยงมุม และสัญญาณไฟสีเขียวให้ข้ามได้

            โปรดสังเกตว่ามีกรอบสี่เหลี่ยมอยู่เลยทางม้าลายออกไปข้างหน้าในสี่แยกและมีจักรยานยนต์จอดอยู่  นี่เป็นบริเวณที่จัดให้จักรยานยนต์ที่ต้องการเลี้ยวซ้ายแล่นตรงมาจอดรอสัญญาณไฟ  การจราจรในไต้หวันเป็นแบบขับขี่ทางขวา จักรยานยนต์ที่ต้องขี่ชิดขวาเมื่อจะเลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกก็จะต้องตัดแนวการจราจร คงจะมีการชนกันบ่อย เขาจึงหาทางลดความเสี่ยงด้วยวิธีการนี้  พื้นที่พิเศษข้างหน้าสำหรับจักรยานยนต์นั้นมีให้เห็นในเมืองทั่วไปของไต้หวัน ไม่เฉพาะในไทเป  ในไทยนั้น ผู้เขียนเห็นอยู่บ้างบางสี่แยกในกรุงเทพฯ เท่านั้น  และเคยเห็นในกรุงลอนดอนของอังกฤษว่ามีการทำพื้นที่คล้ายๆ กันนี้ไว้ให้จักรยาน คนขี่จักรยานจะได้ไม่ต้องมาแอบหรือถูกรถเบียดอยู่ริมถนน และไม่ไปจอดบนทางม้าลาย ขวางทางคนข้ามถนน ขณะที่ทำให้คนขับรถเห็นคนขี่จักรยานได้ชัด  และคนขี่จักรยานก็ออกตัวได้ก่อนรถทั้งหลาย เพิ่มความปลอดภัยทั้งที่จะขี่ตรงไปหรือเลี้ยวตัดแนวจราจร

กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น