Home / บทความ / คุยก่อนคลอด ‘สมาพันธ์การจักรยานเอเซีย’

คุยก่อนคลอด ‘สมาพันธ์การจักรยานเอเซีย’

       มีข่าวดี  หรืออาจไม่ดีนักก็ได้  มาเล่าสู่กันฟัง คือ กลุ่มคนที่สนใจประเด็นจักรยานในประเทศต่างๆในเอเซีย  กำลังคุยกันถึงการที่จะก่อตั้งสมาพันธ์การจักรยานเอเซีย หรือ  Asian Cycling Federation (ACF) ในรูปแบบที่เลียนมาจาก ECF หรือ European Cyclists’ Federation หรือสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป แต่จะแตกต่างกันที่ชื่อและวิธีคิดเล็กน้อย คือของ ECF นั้นไปเน้นที่‘ผู้ใช้จักรยานหรือ Cyclists’ แต่ ACF ของเราจะเน้นที่ ‘การจักรยานหรือ Cycling’ ซึ่งจะรวมเอาหลากหลายภาคีเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพาะนักจักรยานหรือผู้ใช้จักรยานเท่านั้น  แต่จะรวมเอาเจ้าหน้าที่รัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ นักออกแบบ นักวิจัย อาจารย์ เอ็นจีโอ นักขับเคลื่อน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอาจมีนักการเมือง เข้ามาร่วมขบวนด้วย 

      และที่ว่าไว้แต่ตอนแรกว่าอาจไม่เป็นข่าวดีนักก็ได้ ก็เพราะเราเพิ่งคุยกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก  สุดท้ายอาจไม่สำเร็จ ต้องยกเลิกทิ้งเสียก็ได้  ไม่มีใครรู้ 

       งานนี้จริงๆแล้ว  เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ตอนที่ผมไปประชุมนานาชาติว่าด้วยเมืองจักรยาน
Velo-City Vienna 2013 ที่จัดโดย ECF ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ผมเกิดไอเดียแวบขึ้นมาว่าชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) ได้ไปเป็นสมาชิกสมทบประเทศแรกและประเทศเดียวจากทวีปเอเชียแล้ว  แล้วทำไมเราไม่ตั้งสมาพันธ์ของพวกเราชาวเอเซียด้วยกันเองล่ะ ผมจึงได้เดินคุยกับคนเอเซียที่ไปร่วมประชุม  ที่จำได้ก็มีจากจีน(แต่เป็นนักเรียนปริญญาเอกไปเรียนต่อที่ออสเตรีย) ญี่ปุ่น(ศาสตราจารย์อาวุโสคนหนึ่ง) สิงคโปร์(เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับอุทยานและการจักรยานในสวนสาธารณะ) เกาหลี(เป็นนักวิชาการเหมือนกัน)  และอีกหลายคน ชวนมาก่อตั้ง ACF กัน 

       ทุกคนพยักหน้ากันหงึกหงัก ว่าเห็นด้วย 

       แต่พอกลับบ้านหลังประชุมเสร็จ  และตามเรื่องไปทางอีเมล์ ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบสนองดีและมากพอ  บางคนไม่ตอบอีเมล์  บางคนบอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สะดวกมาร่วม 

       มาคราวนี้ไปประชุมเมืองจักรยานโลก Velo-City Global 2014 Adelaide ที่ประเทศออสเตรเลีย (ที่นี่ไม่ใช่ออสเตรียนะครับ ออสเตรียอยู่ที่ยุโรปโน่น)เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ผมจึงใช้วิธีนัดประชุมเลย  แม้จะประชุมแบบไม่เป็นทางการนัก  คุยแบบนั่งจับเข่าคุยกันที่โต๊ะระหว่างกินข้าวกลางวัน  ซึ่งวิธีกินข้าวเที่ยงของฝรั่งเขาง่ายๆ อยู่แล้ว แค่แซนด์วิชคนละชิ้นสองชิ้น  ผลไม้คนละผลก็จบแล้ว  การประชุมจึงดำเนินไปได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเช่าห้อง 

(ที่ 4 จากซ้าย) Prof Hiro Koike จากญี่ปุ่น
ผู้หญิงขวามือมาจากปีนัง 
กินไป  ประชุมไป 

       รายชื่อคนที่ประชุม ซึ่งมีทั้งนักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม เจ้าหน้าที่รัฐ  ที่ปรึกษาองค์กร ฯลฯ ดูได้จากตารางที่แนบมา  มีคนน่าสนใจอยู่คนหนึ่ง เป็นผู้หญิง ชื่อ วิกกี้ หยัง (Vicky Yang) เธออายุ 56 ปี ขี่จักรยานรอบประเทศหรือเกาะไต้หวันมาแล้วในเวลา(ดูเหมือนจะ) 6 วัน (ไม่แน่ใจนะ)  เธอไปดูแลพ่อของเธอซึ่งอายุ 82 ปี (ไม่แน่ใจอีกเช่นกัน) ที่ตั้งใจจะขี่จักรยานรอบประเทศในวันนั้นให้ได้……ก่อนที่จะขี่ไม่ได้ 

       พ่อเธอเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตจักรยานในไต้หวันและเป็นเจ้าของบริษัท GIANT ครับ 

       ผมถามเธอว่า ถ้า ACF เกิดขึ้นได้จริง  เธอจะสนับสนุนหรือส่งเสริมไหม เธอตอบแบบมั่นใจและทันทีว่า…แน่นอน 

       คราวนี้มันอยู่ที่เราแล้วล่ะ   พวกเราชาวเอเซียจะก่อร่างตัวองค์กรนี้ขึ้นมาเป็นรูปธรรมได้อย่างไร 

       พูดถึงรูปธรรม ก็มีคำถามตามมามากมาย มีสำนักงานไหม สำนักงานจะอยู่ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร  งบปีล่ะเท่าไร  ใครจะเป็นคนจ่าย  มีค่าสมาชิกไหม จะหางบประมาณอย่างไร  เจ้าหน้าที่จะเป็นใคร  โครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร  จะมีวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง  องค์กรนี้จะขึ้นเป็นรูปธรรมเมื่อไร  

       สารพัดคำถาม ที่ฟังแล้วชวนหดหู่ ว่ามันคงไม่เกิดขึ้นเกิดแล้วกระมัง   

       ผมตอบว่าใจเย็นๆ  อเมริกานั้นประกาศเป็นรัฐธรรมนูญมา 200 กว่าปีแล้วว่าทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ป่านนี้ยังมีคนไร้บ้าน(Homeless)ในอเมริกาอยู่เลย  และกว่าจะเลิกทาสได้ก็ใช้เวลาเป็นหลายสิบปี 

       ทุกคนเมื่อฟังผมพูดอธิบายไปแบบนี้ก็ยิ้มยอมรับในเงื่อนไขของเวลา  ว่าต้องรอ  และต้องลอง ไม่ลองไม่รู้  ไม่เริ่มก็ไม่สำเร็จ 

       ต่อมาก็เรื่องงบประมาณที่ดูทุกคนจะเป็นห่วงมาก  ผมบอกว่าแม้แต่การก่อตั้ง WCA หรือพันธมิตรจักรยานโลกซึ่งชมรมจักรยาน TCC ได้เป็นองค์กรก่อตั้งด้วยนี้   ช่วงแรกนี้เขายังไม่เก็บค่าสมาชิกเลย ช่วงนี้เขาต้องการแค่ความร่วมมือ  ความยอมรับ  ความช่วยเหลือด้านอื่น  ดังนั้นเราก็ใช้วิธีนี้แหละลองทำงานไปก่อนถ้ามันเวิร์กมันมีประโยชน์จริงแต่มันมีค่าใช้จ่าย เราก็ค่อยไปคิดอ่านหาทางเอาอีกทีในตอนนั้น 

       แต่ถ้ามันไม่เวิร์คก็จบ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ลองทำ คือ Nothing Much to Lose

       ส่วนเรื่องการทำงานของแต่ละองค์กรในแต่ละประเทศก็ใช้วิธีต่างคนต่างทำในส่วนของตน แล้วเอามาแชร์แลกเปลี่ยนกันในเฟซบุ๊คหรือสื่อรูปแบบอื่นที่จะคิดกันขึ้นต่อไป  ซึ่งนั่นจะเป็นงานของกองเลขาธิการ ซึ่งกรุงไทเปโดยนาย Cho Yeang Ren รับหน้าที่นี้ไปพลางๆก่อน ในฐานะที่เป็นเมืองที่จะจัดประชุมจักรยานโลกในปี 2559  ซึ่งคาดว่าจะจัดให้ตรงกับงานโชว์จักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกไปพร้อมๆ กัน  

       ใครอยากไปก็เก็บเงินใส่กระปุกไว้  ชมรมฯอาจจัดทริปไปประชุม  ดูงาน  ไปปั่นจักรยานเที่ยวที่นั่น 

       เอาไว้เจอกันที่ไทเปครับ  

       อ้อ…..มีอีกเรื่อง  เกือบลืม  คือ ในองค์กร ACF นี้ไม่จำกัดจำนวนสมาชิก  ใครก็เป็นได้ เพียงแต่ในต้องเป็นสมาชิกในรูปขององค์กร  จะเป็นสมาชิกรายบุคคลไม่ได้ และมีได้ไม่จำกัดจำนวนองค์กรในแต่ละประเทศ  ฉะนั้นถ้าชมรมใด  สมาคมใด กลุ่มใด อบต.ใด เทศบาลใด ฯลฯ สนใจจะเป็นองค์กรสมาชิก ACF โดยเฉพาะเป็นองค์กรร่วมก่อตั้ง  ก็แสดงความจำนงไปได้เลยนะครับที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยมีผู้ประสานคือ คุณอภิรดี สุนงาม โทรศัพท์ 02-618-4430  E-mail : tcc@thaicycingclub.org  

ผู้หญิงทางซ้ายมือคือ Vicky Yang เจ้าของ GIANT

                     (ซ้าย) Jeffrey Lim, NGO จากมาเลเซีย
(ที่ 3 จากซ้าย) Cho Yeang Ren จากกรุงไทเป

รายชื่อผู้ร่วมประชุมริเริ่มก่อตั้ง ASIAN CYCLING  FEDERATION

วันที่ : พฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม 2557

สถานที่ :  ศูนย์การประชุม ACC

Adelaide Convention Center Australia

ประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุม
1. Indonesia  – Adrian Wigone (live in Auckland)  
2. Japan  – Prof Hiro Koike

– Hideo Yamanaka

3. Korea – Hee Cheol Shin
4. Malaysia – Jasmine Chia Ming (Penang)

– Jeffrey Lim (KL)

– Yap Soo Muey (Penang)

5. Singapore  – Adrian  Leow

– Maria  Boey

– Thomas Yee

6. Taiwan  – Wang Sheng Wei

– Cho Yeang Ren

– Vicky Yang

– Jason  Chang

7. Thailand  – Thongchai  Panswad

อ.ธงชัย  พรรณสวัสดิ์

16 มิ.ย. 2557

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น