Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้เสนอโครงการ

โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้เสนอโครงการ

โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะจัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้เสนอโครงการ

trs_1991

ในช่วงวันที่ ๑๖-๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาศักยภาพภาคีและติดตามสนับสนุน โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะ ที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ดำเนินการให้สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก ๖) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีพัฒนาศักยภาพผู้เสนอโครงการและชี้แจงแนวทางการดำเนินงานชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะขึ้นที่โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร นับเป็นกิจกรรมแรกของโครงการหลังจากได้คัดเลือกโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามาได้ตามเป้าแล้ว

เวทีครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม ๑๗๘ คน จาก ๑๐๔ โครงการที่ได้รับเลือกมาจากทุกภาคของประเทศ กระจายตัวอยู่ใน  จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร  ผู้ดำเนินโครงการมีทั้งองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

รายการในวันแรก (๑๖ มิ.ย.) ช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยการแนะนำ สสส. และกล่าวเปิดเวที โดย ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.  จากนั้นศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้ให้แง่คิดต่างๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้จักรยานในบริบทของสังคมไทย

 

 trs_1981

ศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ให้แง่คิดการส่งเสริมการใช้จักรยานในบริบทสังคมไทยแก่ผู้ร่วมเวที

รายการหลังอาหารกลางวันเริ่มต้นด้วยการแบ่งปันประสบการณ์บทเรียนการทำงานโครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะของ “รุ่นพี่” ที่ทำโครงการในปีที่ ๑ ประสบความสำเร็จโดดเด่น สู่ “รุ่นน้อง” ที่จะมาเริ่มทำโครงการในปีที่ ๒  โดยรุ่นพี่ที่มาแบ่งปันประสบการณ์ได้แก่ คุณเกรียงไกร ทวีกาญจน์ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลหนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, คุณจุรีรัตน์ เบญศรี ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และคุณดวงตา เรืองบุรพ แกนนำชุมชนจักรยานรำมะสักรักษ์ถิ่น อ.รำมะสัก จ.อ่างทอง  

 

photo_5_2

เวทีแบ่งปันประสบการณ์ (ซ้ายไปขวา) คุณอาระดิน รัตนภู หัวหน้าโครงการ, คุณเกรียงไกร ทวีกาญจน์, คุณจุรีรัตน์ เบญศรี และ คุณดวงตา เรืองบุรพ

รุ่นพี่ทั้งสามได้ให้แง่คิดจากประสบการณ์มากมายที่ได้รับจากการทำโครงการเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี เช่น การทำงานกับเด็กและเยาวชน การใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมต่างๆ การทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องไม่ขาดไม่ลดละ การตั้งกลไกในการทำงานสำคัญ เช่น คณะทำงาน  การใช้ชุมชนเป็นฐาน การใช้จักรยานเป็นแบบอย่างให้เห็นของผู้นำ-แกนนำ ดังที่นายกฯเกรียงไกรกล่าวว่า “ถ้าผู้นำไม่ทำไม่ปั่น(จักรยาน) พูดอย่างไรก็ไม่เกิดผล” การหาภาคีมาทำงานด้วยกัน-แกนนำโครงการต้องไปพูดคุยชักชวนผู้บริหารหน่วยงานต่างๆในท้องถิ่นมาส่งเสริมการใช้จักรยานด้วยกัน หากเป็นไปได้ ผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนของหน่วยงาน-องค์กรนั้น การเริ่มทำทันทีจากที่ง่ายก่อนและจากน้อยไปหามาก การเชื่อมโยงกับชุมชน-ชมรมจักรยานอื่นๆ การมองหาช่องทางในการขยายผลขยายเครือข่ายทุกช่องทางที่เป็นไปได้ การทำป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ให้คนทั่วไปทราบ มีการสรุปบทเรียนการทำงานเป็นระยะ ฯลฯ  ที่สำคัญคือความสำเร็จเหล่านี้สามารถวัดได้ด้วยผลที่เกิดขึ้นเห็นได้นับได้ในเชิงประจักษ์นำมาแสดงยืนยันได้ เช่น จำนวนจักรยานที่มีการใช้เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน จำนวนร้านขาย-ซ่อมจักรยานที่เปิดขึ้นมาจากที่ไม่เคยมีมาก่อน จำนวนสมาชิกของชมรมจักรยานที่มีการตั้งมาใหม่ในท้องถิ่น ฯลฯ  รุ่นพี่ทั้งสามยังได้พูดถึงอุปสรรคปัญหาในการส่งเสริมการใช้จักรยานว่าต้องพบแน่นอน เช่น ความล่าช้าในการดำเนินงานจากการที่เทศบาลมีงานต้องทำหลายอย่างหลายด้านพร้อมๆกัน คณะทำงานหรือคณะกรรมการมีการงานที่ต้องทำหาเลี้ยงชีพ การขาดทักษะของคนขี่จักรยานทำให้เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ  ท้ายสุดนายกฯเกรียงไกรยังได้ให้กำลังใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยากจะส่งเสริมการใช้จักรยานว่า อย่ากังวลเรื่องงบประมาณ สามารถจัดสรรเองได้ด้วยการให้ประชาชนทำโครงการขอมา และสามารถไปประสานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นในจังหวัด

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016