Home / บทความ / สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย (4)

สถานการณ์และข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยสำคัญต่อโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย (4)

ปรากฏการณ์-สถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน   (ตอนจบ)

ด้านการรณรงค์เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการจราจร-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

พร้อมไปกับความสะดวกสบายที่ได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมการผลิตจักรยานเพื่อการแข่งขัน จึงมีการนำจักรยานแข่งขันมาใช้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีฐานะดี เนื่องจากจักรยานประเภทนี้ต้องนำเข้าละมีราคาแพงมาก รวมถึงเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่มีราคาระดับที่ประชาชนธรรมดาถึงยากด้วย

· การรณรงค์เพื่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เริ่มขึ้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปีโดยเฉพาะกลุ่มจักรยาน MTB เพื่อสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ทุกจังหวัดมีการใช้จักรยานเป็นสัญลักษณ์การรณรงค์หลายๆเรื่อง ได้แก่การรณรงค์กิจกรรมเพื่อสุขภาพ  กิจกรรมสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมการศึกษา แต่ก็เพียงเป็นการรณรงค์เชิงสัญลักษณ์และเป็นครั้งคราวเท่านั้น

· รูปแบบกิจกรรมการรณรงค์เพื่อการขี่จักรยานซึ่งดูเหมือนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจึงมีภาพลักษณ์ไปทางด้านกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เพื่อการท่องเที่ยว และอยู่จำกัดเฉพาะกลุ่มมากกว่าจะแพร่หลายกระจายออกสู่ชุมชนซึ่งกำลังมีลักษณะถดถอยมากกว่า ซึ่งทำให้เห็นความขัดแย้งกับวิถีชีวิตจริงของประชาชนส่วนใหญ่ และยังไม่ส่งผลกระทบที่ดีต่อประเด็นการประหยัดพลังงานและและการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก

· การศึกษาวิจัยและประมวลองค์ความรู้ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับสากล เคยมีอยู่พอสมควร และขณะนี้กำลังมีความพยายามดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปใหม่ๆในสังคมยุคปัจจุบัน  แต่องค์ความรู้เหล่านี้ยังมิได้รับการจัดระบบเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่มชุมชน  กลุ่มผู้ใช้จักรยาน ผู้บริหารทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับราชการ และระดับการเมืองได้รับทราบและนำไปคิดวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นแผนงานสำคัญขงท้องถิ่นแต่อย่างใด

· กรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรปกครองพื้นที่ที่มีผลงานเด่น นอกจากเคยมีการสร้างเส้นทางจักรยานไว้ในหลายพื้นที่แล้ว ยังจัดให้มีหน่วยงานผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น สามารถเชื่อมโยงต่อเนื่องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในชุมชน เช่น การจัดกิจกรรม”วันอาทิตย์ปลอดรถ”(Car Free Sunday)เป็นต้น

· สสส. สำนักงานคณะกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน โดยให้มีกิจกรรมทางกาย (Physical Activity)เป็นพื้นฐานของการสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ จึงสนับสนุนนโยบายการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะในระดับชาติ โดยมอบให้ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (Thailand Cycling Club,TCC)เป็นองค์กรรับผิดชอบดำเนินการ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554

การมีส่วนร่วมของประชาชน-ชุมชน-และท้องถิ่น และโอกาสใหม่ๆในการสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ

· การมีส่วนร่วมของประชาชนปัจจุบัน มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค กำลังดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายจังหวัด เพื่อรวมตัวเป็นสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและรักการเดินประเทศไทยขึ้น ทำหน้าที่ผลักดันการเดินและการใช้จักรยานที่ปลอดภัยสู่วาระแห่งชาติ โดยเน้นเป้าหมายร่วมเพื่อสุขภาพ-สุขภาวะ เพื่อการลดอุบัติเหตุในการเดินทาง เพื่อการประหยัดพลังงาน และเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม

· การดำเนินการในระยะสั้นให้เป็นรูปธรรมคือ การแสวงหาชุมชนต้นแบบ ที่จะนำกระบวนการผลักดันการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันให้มีจำนวนผู้ใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อทุกเป้าหมาย ส่งเสริมให้มีการเดินที่ปลอดภัย-ได้สุขภาพมากขึ้น ภายใต้การนำการผลักดัน การขับเคลื่อนที่เอาจริงเอาจังของผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชน และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาคี การขับเคลื่อนกิจกรรมทุกรูปแบบที่จะนำไปสู่การรองรับนโยบายดังกล่าว จะถือเป็นภาพต่อย่อยๆที่สำคัญ ที่จะเติมเต็มช่องว่างของจุดอ่อนด้านทัศนคติ แรงคุกคามด้านโครงสร้างและยวดยานพาหนะ และเสริมจุดแข็งซึ่งประกอบขึ้นจากความมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย และโอกาสที่มีอยู่จากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

หากชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สามารถกำหนดสภาพแวดล้อมของการขี่จักรยานให้ปลอดภัยจากยวดยานความเร็วสูงอื่นๆได้ จักรยานน่าจะเป็นพาหนะที่ปลอดภัยที่สุดและได้รับผลพลอยได้หลากหลายด้านอย่างพอเพียง ในการเดินทางระยะไม่ไกลมากนัก โดยที่จักรยานยนต์ก็จะเป็นทางเลือกสำหรับการเดินทางในระยะทางไกลขึ้นไปตามประโยชน์มุ่งหมาย หากแต่ละท้องถิ่นได้มีการลงมือจัดลำดับความสำคัญของการใช้ยวดยานได้อย่างเป็นระเบียบแล้ว ก็น่าจะเกิดผลดีแก่ทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ในที่สุด

ทันตแทพย์อนุศักดิ์  คงมาลัย

ประธานคณะกรรมการกำกับทิศโคงการผลักดันการเดินและการใช้จักรายานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย

รองประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

อดีตสมาชิกวุฒิสภาสรรหา 2551-2554

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น