Home / บทความ / การใช้จักรยานในไต้หวัน ตอนที่ 1: “ทาง” สำหรับคนเดินและขี่จักรยานในไต้หวัน

การใช้จักรยานในไต้หวัน ตอนที่ 1: “ทาง” สำหรับคนเดินและขี่จักรยานในไต้หวัน

          เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปไต้หวันมาสิบวัน จึงถือโอกาสสังเกตดูว่า ที่นั่นเขาทำ “ทาง” ไว้ให้คนเดินและขี่จักรยานอย่างไร ทั้งในกรุงไทเปที่เป็นเมืองหลวง ใน “เมือง” รองลงไปทั้งขนาดใหญ่และเล็ก และใน “ชนบท”  จึงขอเก็บนำมาเล่าให้ฟัง พร้อมภาพ

          ในไทเปนั้น  โดยทั่วไปในตัวเมืองเราจะไม่พบ ทางจักรยานในลักษณะที่เป็น Bike Pathคือทางที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับจักรยาน แยกจากทางเดินเท้าและถนน หรือ Bike Lane คือการ “ทาสีตีเส้น” แบ่งพื้นถนนให้เป็น “ช่องทาง(สำหรับ)จักรยาน” คล้ายกับ Bus Lane หรือช่องทาง(สำหรับ)รถประจำทาง   แผนที่ไทเปสำหรับนักท่องเที่ยว (Taipei Metro Tourist Map) แสดง “ทาง” ที่แนะนำให้ขี่จักรยานเป็นเส้นจุดสีเขียวเรียกว่า Bikeway ซึ่งเมื่อไปดูของจริง มันก็คือทางเท้าที่กว้างขวาง หลายเส้นมีต้นไม้ให้ร่มเงา เขาจึงให้ขี่จักรยานขี่บนทางเท้านี้เอง โดยมีป้ายบอกไว้ว่า “คนเดินเท้าได้สิทธิใช้ทางนี้” (Pedestrians Have Right of Way)พร้อมสัญลักษณ์เป็นรูปคนกับจักรยานมีเส้นแบ่งกัน แปลว่า ทางนี้ให้คนเดินเท้ากับจักรยานแบ่งกันใช้ แต่ให้สิทธิคนเดินเท้าก่อน โปรดขี่จักรยานอย่างระมัดระวัง ถ้าท่านขี่จักรยานมาพบกับคนเดินเท้าก็ต้องหลีกหรือหยุดให้เขาไปก่อน และก็น่าจะหมายความด้วยว่า หากเกิดชนกัน คนขี่จักรยานผิดนะโดยไม่มีข้อแก้ตัว  เท่าที่สังเกตก็เห็นขี่กันได้สะดวกไม่มีปัญหา โดยทางเท้าที่นี่แม้จะกว้างและเรียบคล้ายในญี่ปุ่น แต่จะยกสูงขึ้นจากพื้นถนนเล็กน้อย ไม่เหมือนในญี่ปุ่นซึ่งทางเท้านอกจากกว้างแล้วยังอยู่ในระดับเดียวกับถนน และไม่เห็นมีจักรยานยนต์ขึ้นไปแล่นบนทางเท้าแม้แต่คันเดียว แม้ไต้หวันจะมีคนใช้จักรยานยนต์มากเหมือนไทย ขนาดมีคำกล่าวว่า ความฝันของคนที่อายุถึง 18 (ที่สามารถมีใบขับขี่ได้)คือการมีจักรยานยนต์

                           

                               คนเดินเท้ากับคนขี่จักรยานใช้ทางเท้าร่วมกันในไทเป                     แผนที่นักท่องเที่ยวไทเป เส้นจุดสีเขียวคือทางที่แนะนำให้ขี่จักรยาน(เที่ยว)

         Bikeway ของไทเปที่เป็น Bike Path นั้นก็มีอยู่ เป็นทางราดยางกว้างราว 2-2.5 เมตร เลียบตามริมแม่น้ำทุกสาย(ไทเปมีแม่น้ำใหญ่น้อยไหลผ่าน 6 สาย)ทั้งสองฝั่งไปตลอด จนแม่น้ำไหลออกสู่ทะเล ชาวไทเปบอกว่าถ้าเป็นทางเลียบแม่น้ำสายหลักก็เป็นระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร แต่ถ้ารวมทุกเส้นทางก็หลายร้อยกิโลเมตร ทางนี้มีไว้สำหรับขี่เที่ยวเล่นและออกกำลังกาย วันเสาร์อาทิตย์จึงมีคนมาขี่กันมากมายทั้งวัน

        ที่เถ้าหยวน (Taoyuan) อันเป็นจังหวัดที่ตั้งของสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน(คล้ายสนามบินสุวรรณภูมิที่ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ)นั้น พบว่ามี “ทาง” ให้จักรยานขี่อยู่ 4 แบบ  แบบที่ 1 คือ การให้ขี่จักรยานบนทางเท้าร่วมกับคนเดินเท้า โดยไม่มีการทำเป็นช่องทางสำหรับจักรยานชัดเจน และมีป้ายกำกับ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับไทเป และมีไฟสัญญาณสำหรับจักรยานตรงทางแยกเช่นเดียวกับคนเดินเท้าด้วย  แบบที่ 2 คือ การทำเป็นทางจักรยานบนทางเท้าชัดเจน ราดยางสีดำ ต่างจากทางเท้าส่วนอื่นที่ปูกระเบื้องหรือเทคอนกรีต  แบบที่ 3 คือ การตีเส้นบนถนนให้เป็น “ช่องทางจักรยาน” และก็มีช่องทางสำหรับจักรยานยนต์ด้วย (สังเกตว่าสัญลักษณ์ที่ทาสีไว้บนถนนสำหรับจักรยานยนต์กับจักรยานนั้นต่างกัน สำหรับจักรยานยนต์จะเหมือนกับที่เรามองเห็นด้านหน้า ส่วนจักรยานจะเหมือนกับที่เราเห็นด้านข้าง) และแบบที่ 4 ก็คือขี่จักรยานบนถนนร่วมไปกับพาหนะอื่นที่เรามักเรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Share The Road หรือ “แบ่งกันใช้ถนน” นั่นเอง

ทางเท้าที่คนเดินเท้ากับคนขี่จักรยานใช้ร่วมกันที่เถ้าหยวน “ทางจักรยาน” บนทางเท้า
ช่องทางสำหรับจักรยานยนต์และช่องทางสำหรับ    จักรยานบนถนน ไฟสัญญาณสำหรับจักรยานคู่กับไฟสัญญาณสำหรับ     คนเดินเท้า

         ที่เมืองรองๆ ลงไปอีก ถ้าจะเทียบกับไทยเราก็เป็นเมืองที่เป็นที่ตั้งของจังหวัดเล็กๆ หรือตัวอำเภอ จะไม่พบ “ทางจักรยาน” รูปแบบใดๆ นอกจากการขี่บนถนนร่วมกับยานพาหนะอื่นๆ  “ช่องทางพิเศษ” ถ้ามีก็จะเป็นช่องทางสำหรับจักรยานยนต์ กว้างราว 1 เมตรอยู่ริมถนน  นอกจากนั้นก็จะมีการตีเส้นระบุว่า นอกออกไปเป็น “ไหล่ทาง”  ไหล่ทางในไต้หวันไม่ว่าจะเป็นถนนสายใด ทั้งในเมืองและระหว่างเมือง อยู่ในระดับเดียวกับถนนเป็นผืนเดียวกัน ไม่มีการลดระดับลงไปเหมือนถนนในไทยหลายสาย และไหล่ทางที่ว่านี้คือพื้นที่เอนกประสงค์ครับ รถยนต์ก็จอดได้ จักรยานก็ขี่ได้ คนใช้เดินเท้าไปไหนมาไหนก็ตรงนี้ และในหลายเมืองรองเหล่านี้ ไหล่ทางก็เป็นพื้นที่ค้าขายของพ่อค้าแม้ค่าเช่นเดียวกับในไทย

                         

                    ไหล่ทางเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ พอสายมากๆ พ่อค้าแม่ค้าก็เลิกขาย                                  คุณแม่พาคุณลูกขี่จักรยานมาจ่ายตลาด

          ผมพบว่า “ทางเท้า” แบบที่เราคุ้นเคยในไทยเป็นสิ่งที่ค่อนข้างหายากในไต้หวัน นอกจากในไทเปและเมืองใหญ่แล้ว แทบจะไม่มีทางเท้าเลย  แม้ในไทเปและเมืองใหญ่เหล่านี้ ในถนนรองก็ไม่มีทางเท้า ซึ่งคล้ายในญี่ปุ่น (แต่ในญี่ปุ่น มักพบว่ามีการตีเส้นบอกไว้ว่า ริมถนนนอกนี้ออกไป กว้างราว 1 เมตรหรือน้อยกว่า จัดไว้ให้คนเดินและขี่จักรยาน รถยนต์อย่าเข้าไปแล่นนะ ซึ่งคนขับรถยนต์ก็จะเคารพเป็นอย่างดี) คนลงมาเดินบนถนนกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งได้รับการยืนยันจากคนไต้หวันว่าเขาก็ทำกันอย่างนี้แหละ ไม่เห็นเป็นปัญหา  แรกๆ ผมก็คิดว่า “เอ้อ เฮะ ไม่อันตรายหรอกหรือ ทำไมรัฐบาลหรือเทศบาลไม่สนใจเรื่องนี้เลย” แต่อยู่ไปพักหนึ่งก็พบว่า จริงอย่างคนไต้หวันบอก มันไม่อันตรายอย่างที่ผมคิดตอนแรก เพราะคนที่นี่เขาคงยอมรับว่าถนนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนใช้ ก็ต้องแบ่งกันใช้ ใช้อย่างระวัดระวัง  นอกจากนั้นคนที่นั่นขับรถไม่เร็วครับ แม้ถนนกว้างๆ โล่งๆ ก็สังเกตเห็นว่าเขาไม่ขับเร็วมาก จักรยานยนต์ก็เช่นกัน เราจะไม่พบจักรยานยนต์ที่ขี่ฉวัดเฉวียนเลย  ถามคนไทยที่ขี่จักรยานที่นั่น เขาบอกว่าที่อันตรายมากกว่าคือการที่คนใช้รถเปิดประตูโดยไม่สนใจว่ามีคนเดินหรือขี่จักรยานผ่าน   

          เรื่องความเร็วนี้เป็นปัจจัยสำคัญของความปลอดภัยบนท้องถนน  ดังที่ผมเคยเล่าก่อนหน้าจากประสบการณ์ขี่จักรยานในกรุงมนิลาของฟิลิปปินส์และกรุงพนมเปญของกัมพูชาว่า รู้สึกปลอดภัยกว่าขี่ในกรุงเทพฯ ทั้งที่การจราจรก็แออัดเหมือนๆ กัน เพราะเขาขับรถไม่เร็วมาก  ทั้งนี้มีการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า เมื่อความเร็วลดลง อัตราการชนและอันตรายที่เกิดจากการชนจะลดลงอย่างมาก  ที่ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราการเสียชีวิตที่เกิดจากการชนจะลดลงถึงร้อยละ 95  ที่ยุโรปจึงมีการจำกัดความเร็วของยานพาหนะบนถนนในเมือง โดยเฉพาะในย่านชุมชน ไว้ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เขตเมืองใดที่ยังอนุญาตให้ใช้ความเร็วสูงกว่านี้ก็มีการรณรงค์ผลักดันกันอย่างแข็งขันให้จำกัดความเร็วลงมาที่ระดับนี้ครับ

          ส่วนในชนบทนั้น เนื่องจากไต้หวันกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกันอย่างจริงจัง จึงมีการสร้างทางจักรยานสำหรับทางท่องเที่ยวไว้หลายแห่งและกำลังสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเปิดเส้นทางใหม่เลยและเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางที่มีอยู่แล้วให้เป็นเครือข่ายต่อเนื่องขนาดใหญ่  ตัวอย่างเช่นการที่ภาควิชาการจัดการการพักผ่อนหย่อนใจและนันทนาการ วิทยาลัยการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยชุงฮว่า ที่เมืองชินจู๋ ได้ร่วมกับฝ่ายบริหารเมืองแปดเมืองตอนเหนือสุดของเกาะไต้หวัน สำรวจทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวที่มีอยู่ และเสนอแนวทางการปรับปรุงเส้นทางที่มีอยู่แล้วและสร้างเส้นทางในส่วนที่ยังขาดไปให้เป็นเครือข่ายต่อเนื่อง สามารถขี่ได้อย่างสะดวกปลอดภัยหลายร้อยกิโลเมตร และเจรจาขอให้รัฐบาลกลางของไต้หวันจัดงบประมาณมาสนับสนุน

 

แผนที่ทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งไต้หวันตอนบนสุด 8 เมือง                      ทางจักรยานท่องเที่ยวเลียบเขื่อนกั้นน้ำท่วมจาก                   แม่น้ำ Puzi ใกล้เมืองตงชิ                    

เส้นทางจักรยานตามแนวเขื่อนกั้นทะเลรอบพื้นที่ชุ่มน้ำเอากู (Aogu Wetlands) ซึ่งเป็นแหล่งดูนกน้ำที่สำคัญชายฝั่งตะวันตกของเกาะไต้หวัน

กวิน ชุติมา

กรรมการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ไฟติดล้อจักรยาน เพิ่มทั้งความปลอดภัยและความสนุก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น