Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ผู้ใช้จักรยานและรักการเดินในภาคเหนือตอนบน ร่วมประชุมเครือข่ายอย่างคึกคัก

ผู้ใช้จักรยานและรักการเดินในภาคเหนือตอนบน ร่วมประชุมเครือข่ายอย่างคึกคัก

เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา  ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยร่วมกับเทศบาลนครเชียงรายได้จัดการประชุม “รวมพลังเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดิน ผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ”  ขึ้นที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงราย โดยมีผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ความสนใจเข้าประชุมอย่างคับคั่ง ประกอบด้วยผู้แทนจากชมรมจักรยานของภาคเหนือตอนบนทั้ง ๗ จังหวัด  สมัชชาสุขภาพจังหวัด ผู้บริหารจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขนส่งจังหวัด ตำรวจ สภาทนายความ การท่องเที่ยว สมาคมกีฬาและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา รวมแล้วมีผู้เข้าประชุมกว่า ๑๔๐ คน

ช่วงแรก:ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงรายให้เกียรติกล่าวต้อนรับและเปิดการประชุม

ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย รองประธานชมรมฯ และประธานคณะกรรมการกำกับทิศโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย ได้แนะนำชมรมฯ และชี้แจงรายละเอียดการทำงานของโครงการฯ และผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมา และก้าวต่อไปของโครงการฯ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายผู้ใช้จักรยานและรักการเดินในจังหวัดต่างๆ อันนำมาสู่การประชุมครั้งนี้

ดร.ปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย และท่านปลัดฯ คุณสุรนิตย์ อ่องฬะ

ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานคณะกรรมการกำกับทิศโครงการฯ

และคุณกวิน ชุติมา กรรมการชมรมฯ

ช่วงที่สอง: การเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นายผจญ ใจกล้า ประธานเครือข่ายชมรมจักรยานฯ จ.เชียงราย เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ และผลการดำเนินงานของชมรมจักรยานในเครือข่ายฯ จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง อาทิ ดร.นิรันดร โพธิกานนท์ ที่ปรึกษาชมรมจักรยานวันอาทิตย์จังหวัดเชียงใหม่ เชิญชวนคนที่ปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพตนเอง ให้ปั่นไปเรียนหรือทำงานทำธุระต่างๆ เพื่อสุขภาพเมืองด้วย ส่วนนายสมบูรณ์ สุรินทร์ธรรม ประธานชมรมจักรยานลำพูน  เสนอว่า นิคมอุตสาหกรรมที่ลำพูนน่าจะจัดที่ให้รถยนต์จอดไว้แห่งเดียว แล้วใช้จักรยานสำหรับการเดินทางภายในนิคม ขณะที่อาจารย์ชูศักดิ์ นพบุรี ชมรมจักรยาน ส.สะพานดำ จ.ลำพูน ข้าราชการบำนาญจากกระทรวงศึกษาธิการ เสนอว่าโรงเรียนควรสอนการใช้จักรยานเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างจริงจัง  ทางด้านนายสุรพล ตันสุวรรณ ประธานชมรมจักรยานจังหวัดลำปาง และอดีตรองนายกเทศมนตรีนครลำปาง ให้ความเห็นว่า จักรยานจะไปสู่การใช้ในชีวิตประจำวันก็ต้องมีแบบอย่าง กลุ่มล้านนาน่ายกจังหวัดน่านมาเป็นตัวอย่างเพราะมีเมืองเก่า เมืองต่างๆที่มีเมืองเก่าควรทำทางเดินและทางจักรยานให้มากขึ้น ลดถนนและความเร็วของรถยนต์  “โกแดง” ชี้ด้วยว่าน่าเอากรณีที่ศาลพิพากษาให้เทศบาลนครอุบลราชธานีสร้างทางเท้าทดแทนที่รื้อออกไปมาประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวาง

คุณผจญ ใจกล้า ประธานเครือข่ายชมรมจักรยานฯ จ.เชียงราย

เล่าถึงกิจกรรมต่างๆ

บรรยากาศการประชุมเครือข่ายฯ ผู้แทนชมรมจักรยานของภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด

ทางด้านผู้เข้าร่วมจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดนั้นอาจารย์สนั่น เนตรสุวรรณ ประธานสมัชชาสุขภาพภาคประชาสังคม จ.เชียงราย แสดงความชื่นชมที่มีความพยายามนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาขับเคลื่อนในระดับจังหวัด  ส่วน นายสมัย รัตนจันทร์ ประธานคณะทำงานประสานสมัชชาสุขภาพล้านนา กล่าวว่าสมัชชาสุขภาพล้านนาขอรับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อนในสมัชชาสุขภาพจังหวัดในเครือข่าย และพระฤทธิชัย อภิเมธี สมัชชาสุขภาพภาคประชาสังคม จ.เชียงใหม่ เสนอว่าน่าจะต้องมีพื้นที่รูปธรรมในแต่ละจังหวัด

นอกจากนี้นักวิชาการที่เข้าร่วม ดร.กาญจน์ นทีวุฒิกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ ชี้ว่า ถ้าจะให้ชาวบ้านใช้จักรยานเป็นประจำวัน  ก็ต้องดูว่าชาวบ้านขี่จักรยานไปไหน และสร้างสภาพแวดล้อมและโครงสร้างเมืองที่เอื้ออำนวยให้ขี่จักรยานจากบ้านไปจุดหมายปลายทาง หรือขี่มาต่อขนส่งสาธารณะได้สะดวกและปลอดภัย

ทางด้านกฎหมาย นายเพ็ชร บุญพุ่มพวง กรรมการสภาทนายความภาค ๕ เชียงราย พูดถึงสิทธิของประชาชนในการใช้จักรยานว่า กฎหมายมี แต่มีปัญหาในด้านการบังคับใช้  ส่วนนายบัณฑูร มณีรัตน์ ประธานสภาทนายความจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ผู้ใช้จักรยานต้องเรียนรู้การใช้จักรยานให้ถูกต้องเสียก่อนที่จะพูดถึงสิทธิของตน ซึ่งควรปลูกฝังให้เป็นนิสัยมาตั้งแต่เด็ก  คนที่ใช้จักรยานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย สภาทนายความเชียงรายพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายเต็มที่  ทางด้าน พ.ต.ท. ไสว ขำภูเขียว สารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย เห็นด้วยว่า ความปลอดภัยเริ่มที่ผู้ใช้จักรยานขี่ให้ถูกต้อง และเสนอว่าทางจักรยานควรสูงเท่ากับทางเท้า

ทางด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นางสุรนิตย์ อ่องฬะ ปลัดเทศบาลนครเชียงรายกล่าวว่า เชียงรายยังมีวิถีชีวิตของคนล้านนาอยู่ คือการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน การฟื้นฟูให้กลับมาใช้อีกและส่งเสริมจึงจะทำได้ง่ายขึ้น  เทศบาลมีหน้าที่ให้บริการคนที่ใช้จักรยานทุกกลุ่ม ทุกวัย เพื่อวัตถุประสงค์ทุกอย่าง

ในช่วงท้าย นายกวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้เล่าถึงการสร้างชุมชนจักรยาน-เมืองจักรยาน จากการศึกษาของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว ไทยอยู่ในกลุ่มเริ่มต้นเท่านั้น จึงควรเน้นไปที่การสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยาน พร้อมกับกระตุ้นให้คนหันมาใช้จักรยาน  การสร้างความปลอดภัยนั้นเกี่ยวกับระบบและโครงสร้างสำหรับการใช้จักรยาน จึงต้องทำงานผลักดันนโยบายของหน่วยงานรัฐซึ่งออกมาเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ และจะผลักดันนโยบายให้เกิดผลทางปฏิบัติได้ก็ต้องมีพลังจากคนใช้จักรยาน จึงต้องมีการรวมกลุ่มและประสานเป็นเครือข่าย  ส่วนทางผู้ใช้จักรยานก็ต้องออกมาขี่กันให้มากๆ เป็นประจำ จึงขอชวนให้ผู้ที่ขี่จักรยานเพื่อสุขภาพ ท่องเที่ยว หรือแข่งขัน มาขี่จักรยานไปเรียนหรือทำงานทำธุระต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วย

กวิน  ชุติมา
กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

รายงาน

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น