Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ไม่ใช่แค่ฝัน!!! ‘พนัสนิคม’ ต้นแบบเมืองจักรยาน

ไม่ใช่แค่ฝัน!!! ‘พนัสนิคม’ ต้นแบบเมืองจักรยาน

       ไม่ใช่แค่ฝัน!!! ‘พนัสนิคม’ ต้นแบบเมืองจักรยาน

กรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ยังคงเป็นเมืองในฝันที่ยังห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะหากเปรียบเทียบอัตราส่วนการเดินทางด้วยจักรยาน หรือนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน ถือว่าน้อยอยู่มาก และด้วยการจราจรแสนคับคั่งในเมืองหลวง ความไม่ปลอดภัย ก็เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสู่การเป็น“เมืองจักรยาน” 

ทว่าที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ที่แม้จะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม บริเวณโดยรอบหนาแน่นไปด้วยโรงงานจำนวนมาก ทำให้มีรถขนาดใหญ่วิ่งเข้าออกบ่อยครั้ง หลายคนอาจมองว่าเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างมากจะสามารถพัฒนาสู่การเป็นเมืองจักรยานได้จริงหรือ? คำตอบคือ มีโอกาสเป็นจริงได้แน่ !!!

จากผลการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในการนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตความรับผิดชอบ เทศบาลเมืองพนัสนิคมของนางกุสุมา ถาวร นักวิชาการอิสระ ในงานการประชุมวิชาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2 : การเดินและจักรยานปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริงในบริบทไทย จัดโดยชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ ผลวิจัยบ่งชัดว่าผู้บริหารของเมืองพนัสนิคมสนใจต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยได้ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน และแนวทางการนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มตัวอย่างมีทั้งผู้บริหารพนัสนิคม ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน ตำรวจจราจร ผู้นำชุมชน และประชาชนประมาณ300 คน พบว่าปัญหาและอุปสรรคในการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันคือ ความปลอดภัยของผู้ขับขี่

“จากการทำวิจัยมีข้อเสนอแนะคือ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน การส่งเสริมอบรมความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียนเกี่ยวกับการขี่จักรยานอย่างปลอดภัยในเมืองพนัสนิคม เป็นต้น ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลพื้นฐานให้ผู้บริหารนำไปใช้พัฒนาชุมชนต่อ โดยกำหนดแนวทางเพื่อนำไปปฏิบัติ เช่น จัดโครงการรณรงค์ให้ความรู้แก่เยาวชนและครอบครัว โดยมีสมาชิกจากชมรมจักรยานกว่า 70 คน มาอบรมทั้งเรื่องของกฎจราจร การดูสัญญาณไฟจราจร วิธีการขี่จักรยานอย่างปลอดภัย เช่น ต้องชิดซ้าย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะต้องทำเช่นไร การใส่เสื้อผ้าขี่จักรยาน การสวมหมวกนิรภัย เป็นต้น ซึ่งจากการอบรมพบว่า พ่อแม่มีความสนใจถึงขั้นซื้อจักรยานให้ลูกเลย” นางกุสุมา แจกแจง

นางกุสุมาเล่าอีกว่า เมืองพนัสนิคมโชคดีที่ทุกคนต่างให้ความสนใจเรื่องการขี่จักรยานในชีวิตประจำวัน เพราะอย่างผู้บริหารสถานศึกษาก็มีนโยบายให้เด็กที่บ้านใกล้โรงเรียนภายใน 1-3 กิโลเมตร ปั่นจักรยานมาเรียนแทนอย่างปลอดภัย นอกจากนี้เมื่อถึงเทศกาลสำคัญๆ ก็มีการจัดกิจกรรมโดยมีจักรยานเข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ปลูกป่าชายเลน ก็จะปั่นจักรยานไปปลูกป่าชายเลนกันเป็นกลุ่ม หรือจัดทอดผ้าป่าขบวนก็จะเป็นขบวนรถจักรยาน เป็นต้น คือ มีความพยายามในการนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

“ก่อนหน้าการอบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมต่างๆ พนัสนิคมมีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพียง 10% เท่านั้น แต่น่าเสียดายที่หลังจัดอบรมต่างๆ แล้วเปอร์เซ็นต์การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันยังไม่เพิ่มสักเท่าไร เนื่องจากติดขัดอุปสรรคเรื่องความปลอดภัยหลายประการ แต่ที่แน่ชัดคือประชาชนมีความสนใจและตื่นตัวต่อการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างมาก ซึ่งผู้บริหารพนัสนิคมก็รับปากแล้วว่าจะเร่งดำเนินการ เพื่อทำให้การขับขี่จักรยานในชีวิตประจำวันมีความปลอดภัย โดยเร็วๆ นี้จะมีการจัดตำรวจจราจรประจำตามจุดต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยาน มีการจัดจุดให้เช่ายืมรถจักรยาน พร้อมทำที่จอดรถจักรยานและป้องกันการขโมย รวมไปถึงทำป้ายบอกทางสำหรับจักรยานให้สวยงามชัดเจน เป็นต้น”

แม้ผลการวิจัยจะพบว่าประชาชนกังวลเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ แต่หากสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนกังวลและดำเนินตามข้อเสนอแนะได้ ก็ไม่ใช่เรื่งยากที่พนัสนิคมจะกลายเป็นเมืองจักรยาน และเป็นเมืองจักรยานต้นแบบได้อย่างเต็มตัวก่อนใครๆ

ทีมา: หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2557

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น