Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมฯ ร่วมสัมมนาเสนอผลการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์

ชมรมฯ ร่วมสัมมนาเสนอผลการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์

          สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์(Non-Motorised Transport – NMT) และการการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการขนส่งอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการมาเป็นระยะรวม ๕ ครั้ง และลงพื้นที่ ๒ ครั้งที่หัวหินและพิษณุโลก ซึ่งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับเชิญเข้าร่วมมาโดยตลอดดังที่ได้รายงานข่าวไปแล้วหลายครั้งในเว็บไซต์นี้  และเนื่องจากโครงการจะเสร็จสิ้นลงในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ นี้  สนข.จึงได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการเพื่อเผยแพร่รายงานการศึกษา ครั้งที่ ๒ ขึ้นในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

              

                                                  ผู้เข้าร่วมสัมมนา                                                                                  ตัวแทนชมรมฯ กับจักรยานและป้าย

                                                                                                                                                            ประชาสัมพันธ์หน้าห้องสัมมนา
          สำหรับการจัดทำมาตรการส่งเสริมการเดินทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจบริเวณสถานีรถไฟฟ้า สถานีรถโดยสารด่วนพิเศษ(BRT) สถานีรถไฟ ป้ายรถโดยสารประจำทาง และท่าเรือ ๑๕๐ แห่ง (ซึ่ง ๗๙ แห่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสองระบบ)  การสำรวจมีทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และการสำรวจความเห็นของผู้เดินทางบริเวณนั้น ซึ่งพบว่ามีผู้ใช้จักรยานร้อยละ ๔ และเดินร้อยละ ๖   ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานที่คณะผู้ศึกษาได้มาก็ตอกย้ำสิ่งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยและผู้ใช้จักรยานเรียกร้องมาโดยตลอด นั่นคือต้องการให้มีทางเดินเท้าและทางจักรยานที่เป็นทางเฉพาะสำหรับการเดินและใช้จักรยาน ได้มาตรฐาน ใช้สะดวก ครอบคลุม มีความต่อเนื่องของเส้นทาง ปลอดภัย มีขอบกันรถ และมีไฟส่องสว่างเพิ่ม  คณะผู้ศึกษาได้คัดเลือกพื้นที่ที่ได้คะแนนสูงมา ๑๕ แห่งและเสนอให้เป็นพื้นที่โครงการนำร่องพร้อมรายละเอียดในการออกแบบ ๓ พื้นที่/โครงการคือ (๑) บริเวณป้ายรถโดยสารและสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (๒) บริเวณสถานีรถไฟฟ้าพญาไท และ (๓) บริเวณท่าเรือปากเกร็ด การสัมมนาประกอบด้วยการนำเสนอของคณะผู้ศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เริ่มต้นด้วยความเป็นมาและภาพรวมโดย รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส, ภาพรวมการดำเนินการและผลการศึกษาโดย ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์, การจัดทำมาตรการส่งเสริมการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดย ดร.อรรถวิทย์ อุปโยธิน, การพัฒนาเมืองต้นแบบ “เมืองแห่งจักรยาน” โดย ดร.กีรติ, การศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพในการลดปริมาณการระบายก๊าซเรือนกระจกและปริมาณการลดการใช้พลังงานที่ได้จากการพัฒนาโครงการทางเท้าและทางจักรยาน โดยนายนทชัย วงษ์ชวลิตกุล และแนวทางการพัฒนาจากนโยบายสู่การปฏิบัติ โดย ดร.กีรติ  ข้อมูลที่เป็นรายละเอียดในการนำเสนอมีอยู่มากมาย ผู้สนใจกรุณาติดต่อกับ สนข.

                

                               ทางข้ามแบบข้ามได้ทุกทางที่เสนอให้ทำ                                                              แผนแม่บทพัฒนาเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองจักรยาน

                                  บริเวณสี่แยกสถานีรถไฟฟ้าพญาไท     

          สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานภาคขนส่ง คณะผู้ศึกษาให้ความรู้ว่ามีแนวทางในการวิเคราะห์และวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่หลายแนวทาง แต่สรุปว่าต้องใช้แนวทางใดแนวทางหนึ่งแนวทางเดียวโดยตลอด เพื่อให้ข้อมูลเชื่อถือได้ และเสนอให้ใช้โปรแกรมที่ชื่อ Transport Emissions Evaluation Models for Projects (TEEMP)ซึ่งหลายหน่วยงานประยุกต์นำไปใช้อยู่ มาประยุกต์ใช้ในไทย และคำนวณให้ด้วยว่า การพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ในไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในปี ๒๕๘๐ คิดเป็น ๗๓๑,๔๙๐ ตัน  ส่วนการพัฒนาเมืองต้นแบบ “เมืองแห่งจักรยาน” ในต่างจังหวัดนั้น คณะผู้ศึกษาได้พิจารณาเมืองที่มีเทศบาลและประชากรมากกว่า ๕๐,๐๐๐ คนขึ้นไป ซึ่งทั้งไทยมีอยู่ ๒๐ เมือง คัดเมืองที่มีศักยภาพสูงสุดเมื่อพิจารณาลักษณะทางกายภาพ สภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมา ๕ เมือง ได้เมืองพิษณุโลก ขอนแก่น ลำปาง หาดใหญ่ และนครราชสีมา ตามลำดับ  เมื่อนำมาพิจารณาควบคู่กับความพร้อมและนโยบายเชิงรุกที่ได้ดำเนินการไปแล้วของเทศบาลนั้น คณะผู้ศึกษาได้เลือกเทศบาลนครพิษณุโลกให้เป็นเมืองต้นแบบ “เมืองแห่งจักรยาน” (คณะผู้ศึกษามิได้แจกแจงเหตุผล แต่ผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพิษณุโลกมีระบบจักรยานสาธารณะเป็นเมืองที่สองของไทย ปัจจุบันมี ๑๐ สถานี จักรยาน ๑๐๐ คัน) และได้เสนอแผนแม่บทการพัฒนาเมืองพิษณุโลกเพื่อเป็นเมืองจักรยาน มี ๓ ระยะ โดยแผนระยะสั้น ระยะทาง ๑๓ กิโลเมตร มุ่งเน้นนักท่องเที่ยว มีจุดจอดหลักที่สถานีรถไฟพิษณุโลกและเส้นทางผ่านสถานที่ท่องเที่ยว  แผนระยะกลาง ระยะทาง ๒๔ กิโลเมตร เน้นการเดินทางในเมืองมากขึ้น มีทางจักรยานเป็นเส้นทางสายหลักตามผังเมืองรวมเมืองพิษณุโลก และแผนระยะยาว ระยะทาง ๒๓ กิโลเมตร เน้นการเดินทางในเขตตัวเมืองหนาแน่น มีการใช้รถยนต์น้อยกว่าจักรยาน โดยมีเป้าหมายให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายนอกเขตตัวเมืองใช้จักรยานเดินทางเข้าเมืองมากขึ้น และได้เสนอเส้นทางนำร่องเบื้องต้น ๕ เส้นทางบริเวณริมแม่น้ำน่าน เพื่อการออกกำลังกาย เป็นระยะทาง ๔ กิโลเมตรไว้ด้วย

วันขี่จักรยานไปทำงาน ตัวอย่างมาตรการส่งเสริมและรณรงค์ทางตรง

          การนำเสนอสุดท้ายเป็นเรื่องแนวทางการพัฒนาจากนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยศึกษาบทเรียนการขับเคลื่อนวัฒนธรรมจักรยานในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้ ว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินงานสี่ด้านคือ เริ่มต้นด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กับการบังคับใช้มาตรการทางด้านกฎหมาย  แต่สองด้านนี้ไม่พอ จำเป็นต้องมีการให้ความรู้หรือการศึกษา เช่น การอบรมการใช้จักรยาน การทำวารสารให้ข้อมูล เว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ฯลฯ ไปเปลี่ยนทัศนคติด้านลบที่มีต่อการใช้จักรยาน ตามด้วยการใช้สื่อโฆษณาและการจัดกิจกรรมแสดงจุดยืนของความต้องการในการใช้จักรยานต่อที่สาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการส่งเสริมและรณรงค์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยคณะผู้ศึกษาได้ยกมาตรการในต่างประเทศมาเป็นตัวอย่าง เช่น โครงการวันขี่จักรยานไปทำงาน (Bike to Work Day) ในสหรัฐอเมริกา, การจัดเทศกาลจักรยานบรรทุก (Cargo Bike Championships) ในเดนมาร์ก และการสร้างกระแสแฟชั่นจักรยาน (Cycle Chic) เป็นต้น

          ในช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสอบถามและแสดงความคิดเห็น ตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้แสดงความเห็นว่า เนื่องจากระบบราชการไทยเป็นระบบแนวดิ่งที่แบ่งแยกงานไปตามส่วนราชการต่างๆ ในขณะที่การขับเคลื่อนวัฒนธรรมจักรยานต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการมากมาย ไม่น้อยกว่าสิบกระทรวงดังที่ระบุในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ “การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน”  การส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์จึงไม่อาจเป็นจริงได้ด้วยการขับเคลื่อนของ สนข. หรือกระทรวงคมนาคมตามลำพัง แต่ต้องเป็นวาระแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มียุทธศาสตร์แห่งชาติเป็นกรอบให้หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกัน ส่งเสริมสนับสนุนประสานเป็นหนึ่งเดียว

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)ด้วย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น