Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / เยี่ยมเยียนภาคีชุมชนจักรยาน: สุพรรณบุรี อ่างทอง และหารือแนวทางพัฒนาชุมชนจักรยานที่อยุธยา

เยี่ยมเยียนภาคีชุมชนจักรยาน: สุพรรณบุรี อ่างทอง และหารือแนวทางพัฒนาชุมชนจักรยานที่อยุธยา

ตามที่ชมรมจักรยานฯ TCC ได้สนับสนุนองค์กรในท้องถิ่นต่างๆส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ด้วยการสนับสนุนชุมชนให้เป็น “ชุมชนจักรยาน” ภายใต้โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย และ “โครงการชุมชนจักรยาน ชุมชนสุขภาวะ” ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ โดยมีชุมชนทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนไปแล้วมากกว่า ๑๐๐ ชุมชน และผู้ดำเนินโครงการย่อยเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

เพื่อติดตามความก้าวหน้า เยี่ยมเยียนและเรียนรู้บทเรียนนำมาปรับปรุงการดำเนินงานสร้างชุมชนจักรยานให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นในพื้นที่นั้นๆ เองและนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ในระหว่างวันที่ ๒๒-๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ทีมงานของชมรมฯ ประกอบด้วยผู้จัดการ ผู้ประสานงาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และกรรมการ-อนุกรรมการด้านชุมชนจักรยาน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโครงการชุมชนจักรยานสองโครงการที่จังหวัดสุพรรณบุรีและอ่างทอง (website ทต.เขาพระ http://www.khaophra.go.th/index.php?op=gallerycontent_detail&gallerycontent_id=11390&id=11286)

โครงการที่ไปเยี่ยมเยียนที่สุพรรณบุรีคือ โครงการสร้างต้นแบบชุมชนจักรยาน-เมืองน่าอยู่ เทศบาลตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างชุมชนจักรยานแรกๆ ที่โครงการฯ สนับสนุนมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ และมาในปี ๒๕๕๗ นี้ได้ขยายออกไปยังสองตำบลที่อยู่ติดกันทางเหนือและทางใต้คือตำบลเดิมบางกับตำบลนางบวช ซึ่งผู้ดำเนินโครงการในพื้นที่คือเทศบาลตำบลเดิมบางและเทศบาลตำบลนางบวช ร่วมไปกับเทศบาลตำบลเขาพระที่ดำเนินโครงการในพื้นที่ตำบลบางพระมาตั้งแต่ต้น

ดร.ปรีชา องค์ประเสริฐ นักวิชาการ กรมป่าไม้
บรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการปลูกต้นไม้ในเมือง
สร้างความร่มรื่น อีกแนวทางปรับกายภาพ ส่งเสริมคนใช้จักรยานมากขึ้น
ทีมงานลงภาคสนามสำรวจเส้นทางที่จะปลูกต้นไม้ และขึ้นเขาหารือแนวทางเพิ่มต้นไม้ในพื้นที่ นำทีมโดย ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานกำกับทิศโครงการฯ

นอกจากไปเยี่ยมเยียนทั่วไปแล้ว ในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ชมรมฯ ได้ประสานกับกรมป่าไม้ขอผู้เชี่ยวชาญไปให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ตามแนวถนนเพื่อสร้างร่มเงาให้เกิดความร่มรื่นเย็นสบายแก่ผู้เดินและผู้ใช้จักรยาน เป็นโครงการเสริมในชื่อ โครงการสำรวจนิเวศสิ่งแวดล้อมชุมชน…สนับสนุนการสร้างชุมชนจักรยาน โดยชมรมฯได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ดร.ปรีชา องค์ประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนฝึกอบรม และนายมนตรี อินต๊ะเสน นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ สำนักบริหารกลาง กรมป่าไม้ ไปร่วมกิจกรรม โดยในช่วงเช้าเป็นการให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นในห้องประชุมและภาคบ่ายเป็นการลงภาคสนาม สำรวจเส้นทางและพื้นที่ที่น่าจะปลูกต้นไม้ รวมทั้งการหารือถึงชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นไม้ท้องถิ่น โดยเฉพาะไม้ที่เป็นเอกลักษณ์หรือมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม เชื่อมโยงกับพื้นที่/ชุมชน เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่นำเสนอแนวคิดต่อผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อปรับภูมิทัศน์เมืองส่งเสริมการเดิน-ใช้จักรยานของชาวชุมชน

ขบวนจักรยานก่อนออกเดินทางจากตำบลเดิมบาง ผ่านตำบลเขาพระไปตำบลนางบวช สนทนากลุ่มร่วมกันจาก 3 พื้นที่ (ทต.เขาพระ ทต.นางบวช และทต.เดิมบาง)

“เดิน-จักรยาน สานฝันชุมชนจักรยานน่าอยู่ 3 ตำบล”

ส่วนในวันที่ ๒๓ ช่วงเช้าเป็นการขี่จักรยานจากวัดเดิมบาง (วัดคงคาราม) ผ่านตลาดท่าช้าง ตำบลเขาพระ ไปยังสำนักงานเทศบาลตำบลนางบวช และขึ้นเขาไปวัดนางบวช ที่วัดนี้ได้มีการสนทนาแลกเปลี่ยนถึงแนวคิดและแนวการดำเนินการในเรื่องการปลูกต้นไม้ โดยมีนายกเทศมนตรี (นายยุทธดนัย แจ่มศรี – เขาพระ, นายจุมพฎ หิรัญรัตนากร – เดิมบาง และนายสุทธิพล ขวัญเมือง – บางบวช) และเจ้าหน้าที่บางส่วนจากเทศบาลตำบลทั้งสาม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งครู (รองผู้อำนวยการ รร.ธรรมโชติศึกษา) นักธุรกิจท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านและแกนนำชุมชนเข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน  ส่วนช่วงบ่าย คณะของชมรมฯ และผู้ดำเนินโครงการได้กลับมาหารือติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานโครงการที่ตลาดท่าช้าง ได้บทเรียนจากการทำงานที่น่าสนใจหลายประการ ทั้งโอกาสและข้อจำกัด รวมทั้งแนวคิดในการขยายโครงการออกไปยังพื้นที่ตำบลหัวเขาที่อยู่ติดกัน ซึ่งมีเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากมีการปลูกต้นไม้ตามแนวทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมดังที่ได้มีการหารือกัน ทั้งมีกลุ่มชมรมจักรยานที่แข็งขันเช่นเดียวกับตำบลเดิมบาง

ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ สิงหาคม คณะเดินทางไปยังสำนักงานเทศบาลตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมเยียนโครงการชุมชนจักรยานที่นั่น ซึ่งเป็นโครงการใหม่เพิ่งเริ่มต้นไปเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมานี่เอง โดยนายชวลิต วิเศษสิทธิกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลบางจัก นำทีมขี่จักรยานดูสภาพชุมชน หมู่ ๒, ๓, ๖ และ ๗ ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินงานในปีแรกของโครงการ เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อเรียงกันบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน้อย(สาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา) มีถนนภายในที่มีรถน้อย ทั้งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเทศบาลและโรงเรียนประถมของตำบลนี้ด้วย และมีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันในสัดส่วนสูงกว่าชุมชนอื่น 

การลงพื้นที่สร้างความประทับใจให้คณะของชมรมฯ อย่างยิ่ง เนื่องจากนายกเทศมนตรีเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และทุ่มเททำงานให้ชุมชนอย่างจริงจัง เทศบาลบางจักได้ส่งเสริมการใช้จักรยานมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้ด้วยการแจกจักรยานให้เด็กนักเรียนเป็นประจำทุกปี และเมื่อเริ่มโครงการก็มีการดำเนินงานอย่างแข็งขันมีผลงานความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ขณะนี้เทศบาลมีจักรยานให้ยืมใช้กว่า ๓๐ คัน มีการจัดขี่ทุกเช้าวันเสาร์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ คน (ชุมชน ๔ หมู่ของพื้นที่โครงการมีประชากรราว ๔๐๐ ครัวเรือน) และมีเส้นทางถึง ๑๐ เส้นทาง โดยนายกเทศมนตรีร่วมขี่ด้วยทุกครั้ง  เทศบาลมีทีมงานโครงการชุมชนจักรยานที่แข็งขัน สนธิกำลังหลายส่วนงานมาทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายพัฒนา ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายความปลอดภัย และฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีการประสานงานกับโรงพยาบาลสุขภาพตำบล มีการทำแผ่นพับเชิญชวนคนขี่จักรยานในชีวิตประจำวันขึ้นมาเอง แนะนำว่าจะขี่อย่างไร ได้ประโยชน์อะไร (website ทต.บางจัก http://www.bang-jak.go.th/condition.php)

และที่เด่นเป็นพิเศษคือมีการทำสมุดบันทึกประจำตัวผู้ขี่จักรยานขึ้นมาเองแจกให้ผู้ร่วมโครงการทุกคน ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลสุขภาพทำให้ได้เห็นผลดีต่อสุขภาพจากการขี่จักรยาน บันทึกรายการค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากการขี่จักรยาน และตารางสะสมแต้มเมื่อขี่จักรยานไปซื้อของที่ร้านค้ามูลค่า ๒๐ บาทขึ้นไป เมื่อครบ ๓๐ ดวงสามารถนำไปแลกรางวัลที่กองสาธารณสุขของเทศบาลได้ถึง ๖ ครั้ง  สมุดบันทึกนี้นอกจากจะเป็นเครื่องมืออย่างดีในกระตุ้นให้ชาวบ้านใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ยังจะทำให้เทศบาลบางจักและชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยมีข้อมูลนำไปศึกษาขยายผลต่อได้อย่างดียิ่งด้วย นับเป็นโครงการชุมชนจักรยานแห่งแรกที่มีการทำเครื่องมือนี้ขึ้นมาใช้อย่างเป็นระบบ

เสื้อยืดเดินไป ปั่นไป ให้ท่านนายกฯ ก่อนลงพื้นที่สำรวจชุมชนกัน นายกฯ ชี้แจงทำไมเลือกพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานปีแรก 3 ชุมชน
คนหลังท้องจริงๆ นะฮะ ทีมงานที่เข้มแข็ง กองสาธารณสุข กองช่าง ป้องกัน และประชาสัมพันธ์ คึกคัก แววตามุ่งมั่น

ช่วงบ่าย คณะของชมรมฯ ได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบปะกับตัวแทนทีมงานสมัชชาสุขภาพประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มอาสาสมัครที่ร่วมเป็นสายตรวจจักรยานกับสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา(เป็นอาสาสมัครสายตรวจจักรยานที่เป็นทางการกลุ่มแรกในประเทศไทย) และกลุ่มจักรยาน กลุ่มกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพต่างๆ ในอยุธยาประมาณ ๑๐ คน   คณะทำงานของชมรมฯ เล่าถึงแนวคิดและหลักการทำงานของโครงการที่ชมรมดูแล รวมถึงแนวทางสนับสนุนการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ซึ่งชมรมฯให้ความสนใจอยุธยาเป็นพิเศษ เนื่องจากยังไม่มีกลุ่มใดในพื้นที่ดำเนินการกับชมรมฯมาก่อนเลย และได้รับฟังสภาพของพื้นที่โดยเฉพาะข้อจำกัดต่างๆ รวมทั้งความสนใจในการส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานของคนอยุธยา ทำให้เห็นความเป็นไปได้ในความร่วมมือทั้งในการสร้างเครือข่ายชมรมหรือผู้ใช้จักรยาน และการสร้างชุมชนจักรยาน ซึ่งทั้งสองกรณีอาจเริ่มต้นด้วยการสำรวจศึกษาให้ได้ข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่ชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป ซึ่งทางกลุ่มในพื้นที่จะนำไปประชุมกันและประสานในต่อไป

หารือเพื่อสร้างความร่วมมือทำชุมชนจักรยานที่เกาะเมืองของอยุธยา

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการ และอนุกรรมการด้านชุมชนจักรยาน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

—————————————————————————————————————————————————————————

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)ด้วย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น