Home / บทความ / จักรยาน บทเรียนรู้จากต่างประเทศ

จักรยาน บทเรียนรู้จากต่างประเทศ

เมื่อ ๒๐ ปีเศษ ผมได้ริเริ่มก่อตั้งชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย โดยต้องการผลักดันให้เกิดสังคมจักรยานขึ้นในเมืองไทย ทั้งนี้เพื่อลดการ ใช้พลังงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาจราจร เพิ่มความน่าอยู่ของเมือง และเพิ่มระดับสุขภาวะของชุมชน ตลอดไปจนถึงลดปัญหาสภาวะโลกร้อนในขณะที่ผู้คนในสมัยนั้นยังไม่รู้จักคำนี้เสียด้วยซ้ำ
ทั้งหมดที่ได้ทำไปนั้นไม่รู้เลยว่าต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปกำลังมุ่งเน้นกับเรื่องนี้อย่างมาก โดยได้เริ่มทำก่อนหน้าที่ผมจะทำในเมืองไทยราว ๑๐ ปี เขาทำไปจนถึงระดับจัดตั้งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ชื่อว่า สมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานแห่งยุโรป หรือ ECF (European Cyclist Federation) ซึ่งรณรงค์เรื่องการใช้จักรยานในสังคมเมืองอย่างแข็งขัน และจัดประชุมใหญ่ต่อเนื่องกันทุก ๒ ปี
ผมเคยไปประชุมกับเขา ๔-๕ ครั้ง เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากเขา และได้พบสิ่งที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เป็นต้นว่าการประชุมนี้เป็นการประชุมนานาชาติ แม้จะจัดโดยสมาพันธ์ของยุโรป แต่ก็มีผู้คนจากทุกทวีป (ไม่เว้นแม้แต่เอเชียและไทย) ไปร่วมด้วย คนที่ไปประชุมมีหลากหลาย ตั้งแต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางหรือสังคม นักธุรกิจ นักวางแผนเมือง นักการเมือง ผู้บริหารเทศบาล ผู้ผลิตจักรยาน ตลอดไปจนถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และประชาชนคนธรรมดาผู้สนใจ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าในความคิดของเขาแล้วเรื่องการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันเพื่อสร้างเมืองให้น่าอยู่และประโยชน์อื่นๆ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องของคนมาขี่จักรยานเป็นแฟชั่น ที่ทำตามกระแส แต่เป็นเรื่องจริงจังที่จะหาทางออกให้กับสังคมของเขาได้จริงๆ

ดังจะเห็นได้ว่าแทบทุกเมืองในยุโรปได้จัดให้มีระบบเส้นทางจักรยานขึ้นกันถ้วนหน้า เทศบาลหลายแห่งแข่งขันที่จะเป็นเมืองจักรยาน หรือเมืองปลอดรถ (car free city) และหลายเมืองเริ่มมีจักรยานให้เช่าจอดอยู่ตามสี่แยกหรือจุดที่สำคัญ เช่น สวนสาธารณะ ย่านธุรกิจ ที่ทำการเทศบาลหรืออำเภอ ฯลฯ ผู้ที่ต้องการใช้จักรยานเดินทางในระยะใกล้ๆ ก็สามารถใช้บัตรเครดิตไปรูดเอาจักรยาน (ที่ปกติจะล็อกโดยอัตโนมัติ) มาใช้ได้ และสามารถนำส่งที่ใดก็ได้ที่มีที่จอดในระบบของบริษัทหรือของเทศบาล โดยไม่ต้องขี่กลับมาจอด ณ บริเวณที่ “เช่า” และนำจักรยานไปตอนแรก จึงนับเป็นความสะดวกของผู้ที่สัญจรในเขตเมืองได้อย่างมาก

             ตู้สำหรับรูดการ์ดเพื่อนำจักรยานออกจากหัวล็อกอัตโนมัติ                           จักรยานให้เช่าตามถนนในเมืองโดยใช้ระบบบริการตัวเอง

๕ แนวคิดการขี่จักรยานจากต่างแดน

๑.เขาทำกันจริงจังและต่อเนื่อง ทำทั้งด้านรณรงค์และการผลักดันนโยบายสาธารณะว่าด้วยสังคมของคนใช้จักรยาน (ไม่ใช่นักจักรยาน) บางองค์กรมีอายุเกือบร้อยปีแล้ว เช่น ชมรมจักรยานในอังกฤษ (ไม่ใช่เฉพาะของกรุงลอนดอน ซึ่งนั่นเป็นอีกชมรมหนึ่งซึ่งมีขนาดเล็กกว่า) มีสมาชิกหลายหมื่นคน สมาชิกจะได้ประโยชน์มากมาย เช่น เบี้ยประกันถูกลง ซื้อสินค้าได้ในราคาย่อมเยา สามารถขอบริการด้านทนายหากมีปัญหาเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับจักรยาน  ฯลฯ

๒.เนื่องจากเขาเน้นการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านธรรมดา ไม่ใช่นักจักรยาน ซึ่งมักนิยมใส่หมวกกันน็อก ยกเว้นในประเทศอังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถิติการใช้จักรยานแบบชาวบ้านต่ำมาก ไม่เหมือนประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เยอรมนี อิตาลี สเปน ฯลฯ ที่มีคนใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันสูงมากๆ แต่ประชาชนในประเทศเหล่านี้แทบจะไม่มีคนสวมหมวกกันน็อกขี่จักรยานกันเลย แต่มาถึงวันนี้มีข้อสังเกตว่ากระแสออกกำลังกายแบบเข้มข้นเอาจริงเอาจังกำลังมาแรงในทุกสังคม

คนใช้จักรยานหลายคนที่ใช้จักรยานเดินทางไปทำงานไกลๆ จึงได้เริ่มหันมาขี่อย่างเร็วเพื่อรีบไปทำงาน ซึ่งจะเสี่ยงอันตรายมากขึ้น จึงชอบที่จะใส่หมวกกันน็อกขี่จักรยาน และก็มีปัญหาสังคมตามมาอีกแบบหนึ่ง คือไปแย่งการใช้ผิวทางจักรยานกับชาวบ้านที่ใช้จักรยานในละแวกบ้าน และเป็นกลุ่มคนที่ได้รณรงค์ให้เกิดระบบทางจักรยานขึ้นมาแต่แรก เกิดการชนกันและถกเถียงกันมากขึ้น ทางจักรยานกว้าง ๑.๕๐ เมตร ที่เคยคิดว่ากว้างพอ ก็เริ่มไม่พอ
             

การเอาพื้นที่ถนนมาทำเป็นทางจักรยานโดยใช้ก้อนซีเมนต์มาวาง               สะพานข้ามแม่น้ำในสเปนเฉพาะสำหรับคนเดินและจักรยาน
เป็นแนวกัั้น (ด้านขวามือคือช่องทางถนนเดิม)

๓.ที่ทำงานหรือสำนักงานหลายแห่งได้จัดเตรียมให้มีห้องอาบน้ำไว้บริการพนักงานที่ขี่จักรยานมาทำงาน มีงานวิจัยพิสูจน์ออกมาว่าคนที่ออกกำลังสม่ำเสมอจะมีประสิทธิภาพการทำงานดีกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย หลายบริษัทจึงอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้พนักงานเพื่อเป็นการกระตุ้นให้พนักงานขี่จักรยานมาทำงาน

เหตุผลอีก ๒ ประการ คือเป็นเสียงเรียกร้องจากพนักงานเอง รวมทั้งผู้บริหาร (คนหนุ่มสาว) สมัยใหม่ก็มักจะเป็นคนใช้จักรยานมากอยู่แล้ว จึงเข้าใจและเห็นใจคนใช้จักรยานที่ไม่มีที่อาบน้ำในที่ทำงาน และพร้อมที่จะจัดงบประมาณในส่วนนี้ให้

๔.ในบางประเทศ บริษัทประกันจะลดค่าใช้จ่ายด้านเบี้ยประกันสุขภาพให้แก่บริษัทที่มีบุคลากรสุขภาพดี บริษัทจึงถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายโดยการจัดเตรียมที่จอดจักรยาน สถานที่อาบน้ำยามเฝ้า ฯลฯ ไว้บริการพนักงาน ซึ่งนอกจากเบี้ยประกันของบริษัทลดแล้ว บริษัทยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของพนักงาน (ที่แข็งแรงเพราะขี่จักรยานมาทำงาน) อีกด้วย

๕.เรื่องภูมิอากาศ หลายคนมักติงว่าขี่จักรยานในประเทศไทยไม่ได้ เพราะอากาศร้อนและฝนตกชุก ผมเคยขี่จักรยานทั้งขณะที่อุณหภูมิสูงถึงเกือบ ๔๐ องศา (เดือนเมษายนประเทศไทย)  และขี่กลางฝนตกหนัก (โดยไม่เคยป่วยเป็นไข้จากการขี่จักรยาน) มาเป็นเวลาหลายสิบปี

จากประสบการณ์ตรงของตัวเองพบว่าการขี่จักรยานท่ามกลางอากาศร้อนและฝนตกหนัก ง่ายและปลอดภัยกว่าการขี่จักรยานในเมืองหนาว มีหิมะตกหรือน้ำบนผิวถนนแข็งตัวเป็นคราบแผ่นน้ำแข็งฉาบอยู่บนผิวถนนมากมาย เพราะถนนจะลื่นมาก โอกาสล้มเกิดได้เกือบตลอดเวลา และนิ้วมือก็อาจชาเพราะความหนาวเย็นจนอาจบีบเบรกไม่อยู่

การใช้จักรยานในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยจึงดีกว่า ง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าในประเทศเขตเมืองหนาวอย่างมาก

ความจริงแล้วประสบการณ์จากต่างแดนยังมีอีกหลายเรื่องที่เราสามารถเก็บเกี่ยวมาใช้ในบ้านเราได้ แต่ไว้โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟังใหม่

สำหรับวันนี้ ขอให้โชคดี เมืองไทยมีทางจักรยาน… เย้!

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
บทความนี้พิมพ์ในวารสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 34 ฉบับที่ 401 กันยายน 2555

Comments

comments

Check Also

แล้ว SDG มันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่อง เดินเรื่องจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น