Home / บทความ / Generation Walk

Generation Walk

            Generation Walk

อีกสัก 10 ปี 20 ปี ข้างหน้า ถ้าเด็กในรุ่น Generation Y จัดงานคืนสู่เหย้า “พวกเขา” ก็คงจะมีอะไรที่พูดถึงอย่างภาคภูมิใจ เหมือนกับคนรุ่น Generation X อย่างผม  และถ้าไม่ใจแคบกันเกินไป ทุกยุคสมัยก็จะมีข้อดีข้อด้อยของรุ่นตัวเอง  เพียงแต่ใครจะดีกว่าด้อยกว่า อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ไม่อย่างไร พวกเราล้วนเป็นหนี้บุญคุณของ Baby boomer หรือคนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พวก XX YY อะไรนั้นเป็นชื่อรหัสรุ่น แต่ในมุมมองของพฤติกรรมรุ่น ยังมีชื่อเรียกไม่เป็นทางการเกิดขึ้น และสะท้อนได้จริงถึงไลฟ์สไตล์และชีวิตของพวกเขา ช่วง 10 ปีที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง Generation M กับ Generation Thumb ที่คล้องแขนกันมา อย่างแรกคือ ต้องมี Mobile กิน Mcdonald ติด MTV และดู Movie กันทุกสัปดาห์

ขณะที่ Generation Thumb ในปี 2000 เป็นการเริ่มต้นการเสพติดพฤติกรรมใช้ “นิ้วโป้ง” กดโทรศัพท์ส่ง Message และข้อความ จนมาถึงตอนนี้ดูเหมือนมันจะมากขึ้นทบเท่าทวีคูณ เพราะปุ่มเครื่องมือสื่อสารกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ

วันเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2012 ที่ “กบ” ยังคงบอกอะไรเกี่ยวกับ “สภาพดินฟ้าอากาศ” แม่นกว่า “กรมอุตุ” และถูกมากกว่านอสตราดามุส ฝรั่งเขามีศัพท์อีกคำมาเรียกพฤติกรรมใหม่ของยุคใหม่ คำที่ว่าก็คือ Generation Walk

คุณสมบัติของมันก็คือ “การไม่แต่งงาน ไม่ซื้อบ้าน ไม่ซื้อรถ”

ถ้าดูจากแนวทางหรือบุคลิกของมัน นัยที่พอจะเข้าใจอย่างง่ายๆก็คือ การนำชีวิตเดินหรือไปข้างหน้า โดยไม่มีภาระหนักหน่วง แบกอยู่บนไหล่จนเต็มไปด้วยหนี้สินและเงื่อนไขชีวิต ไม่ใช่คนเดินไปในที่ต่างๆแต่เลี่ยงจากการมีรถ  ไปใช้ยานพาหนะลัดเลาะเอาเอง  รถไฟฟ้าบนดินถือว่าใช่ทั้งนั้น (จักรยานก็ยังได้อีก)

ฝรั่งเขามองว่า ยิ่งถ้ามีบ้านมีรถ ท่ามกลางเศรษฐกิจย่ำแย่ยอบแยบ กระเป๋าแห้งแบบนี้ ชีวิตจะมีแต่ความทุกข์มากกว่าสุข ฉะนั้น : Generation Walk จึงคือการปลดปล่อย หันมาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ง่ายๆ แต่ไม่ใช่มักง่าย

เมื่อชายตามองไปยังบริบทของรุ่นเดินที่ว่านี้ เราก็จะพบว่า เขาไม่ซื้อบ้านเดี่ยวแล้วไปอยู่ชานเมือง เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ แต่จะอาศัยอยู่ในคอนโดกลางเมืองไปมาเข้าออกอย่างสะดวก หรือจักรยานที่ “บางคน” กลับมาเห่อกันมากขึ้นอย่างมีนัยนั้น ก็เป็นตัวสะท้อนอันหนึ่ง (เพราะจักรยานอยู่ตรงข้ามกับรถเก๋งอยู่แล้ว)

อันที่จริง แม้เงื่อนไขทางสังคมจะเป็นตัวบีบให้มีพฤติกรรมแบบนี้ แต่จะว่าไปมันไปสอดรับกับแนวคิดของพวก “เซน” คือมีรูปแบบชีวิตที่เรียบง่าย เน้นความเข้าใจตัวตน เป็นอะไรที่ back to the basic (แต่ถ้าไฮโซมาออกทวีแล้วบอกว่า ตอนนี้เลิกสะสมเพชรแล้วหันมาสะสมทอง อันนี้ไม่ใช่ back to the basic อันนี้เรียก “ตอแหล” ค่ะ คุณขา)

ถึงฝรั่งจะชูแคมเปญ Generation Walk ขึ้นมา แต่ถ้าจะถอยมามองสังคมไทยในเชิงเปรียบเทียบ ผมก็ยังรู้สึกแบบกลาง ๆ ว่า บ้านเราน่าจะนิพพานได้ยากกับแนวทางแบบนี้ เพราะแม้จะน่ายินดีที่คนไทยส่วนหนึ่งหันมาขี่จักรยานมากขึ้น แต่มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า มีไม่น้อยที่ขี่จักรยานเพราะแฟชั่น (เหมือนสะพายกระเป๋าย่าม 3  วันเลิก หรือต่อต้านโลกร้อน 1 สัปดาห์พอ)

สังคมเราน่ะหรือ ที่จะเป็นแบบ Generation Walk ได้ ไม่แต่งงานยังพอเชื่อ แต่ไม่ซื้อบ้านและไม่อยากมีรถไม่น่าจะเป็นไปได้ ฝรั่งอาจจะบอกว่า “กุญแจรถ” คือสัญญาของการถูกจองจำ เป็นดั่งโซ่ตรวน แต่ถามพี่ไทยเรา มีใครบ้างไม่อยากถือกุญแจรถ เพราะถ้ามีรถแล้วมันจะจองจำอะไร พี่ไทยคงต้องร้องว่า let it be (ซึ่งคำนี้ไม่ได้แปลว่า “ช่างแม่มัน” เพราะถ้า let it be แปลว่า “ช่างแม่มัน” เพลง yesterday ก็แปลได้ว่า “ไม่ได้กลับ”ฮา)

เช่นนี้แล้วฝรั่งจะชูแคมเปญอะไรขึ้นมา จะเดินหรือวิ่ง คลานหรือขับรถ ที่สุดก็คงสู้ความเข้าใจในชีวิต

ตัวเองอย่างเหมาะสมไม่ได้ ถ้าบ้านผมห่างกับทำงาน 70 กิโล แล้วไปป้อนสองล้อน่องปูด เผลอ ๆ ได้โชครถกระบะวิ่งมาชน ก็คงไม่ใช่วิธีการที่ฉลาดนัก หรือถ้าผมจะแต่งงานกับดาราเกาหลีสักคน ก็คงไม่ใช่เรื่องบาปกรรมอะไรของยุคสมัย

            สรุปก็คือ ไม่ว่าเราจะเดินหรือวิ่ง

            ใช้ทางชีวิตที่เหมาะสม นั่นคือดีที่สุด

ดูแลตัวเองกันดี ๆ นะครับ “คุณตู่” เขาจะเป็นผู้บริหารประเทศแล้ว

นันทขว้าง สิรสุนทร

กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ หน้าม่านมายา พุธที่ 9 พ.ค. 55

Comments

comments

Check Also

แล้ว SDG มันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่อง เดินเรื่องจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น