Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมร่วมการรับฟังความเห็นโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง

ชมรมร่วมการรับฟังความเห็นโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง

ชมรมร่วมการรับฟังความเห็นโครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง

                  เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๑ โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ ๑ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมีเข้าร่วมประมาณ ๓๐๐ คน ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย และมีนายกวิน ชุติมา เป็นผู้แทนไปร่วมการประชุม

                 ที่ประชุมได้รับฟังการเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าเน้นไปทางด้านวิศวกรรมมากในขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชนและสังคมยังมีค่อนข้างน้อย ในช่วงการแสดงความคิดเห็น จึงมีผู้เข้าร่วมหลายคนได้ซักถามและแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศได้เสนอความเห็นทั้งด้วยวาจาและลายลักษณ์อักษร ย้อนไปถึงการประชุม Rio+20 ที่นครริอูเดอจาเนรู ประเทศบราซิล เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งมีผู้แทนรัฐบาลไทยไปร่วมด้วยและมีข้อสรุปว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นจริงได้ องค์ประกอบหนึ่งคือการมีระบบการขนส่งที่ยั่งยืน(Sustainable Transport) ซึ่งประกอบด้วยระบบรางสำหรับการเดินทางระหว่างเมือง กับระบบการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Transport) สำหรับการเดินทางในเมือง โดยให้ระบบทั้งสองนี้เชื่อมต่อกัน การเชื่อมต่อหรือการเข้าถึงระบบรางที่สถานีตามเส้นทาง (Feeder System) ซึ่งรวมถึง “ระบบจักรยาน” นี้ควรทำควบคู่ไปกับการศึกษาและออกแบบก่อสร้างระบบราง ซึ่งในที่นี้คือระบบรถไฟความเร็วสูง ตั้งแต่แรก ให้สร้างเสร็จใช้ได้ไปพร้อมกัน  เรื่องระบบการเชื่อมต่อกับระบบรางนี้เป็นส่วนหนึ่งของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๕ ในเรื่อง “ระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน” ด้วย ซึ่ง สนข.มีส่วนร่วมในการจัดทำร่างมติด้วย มติสมัชชาสุขภาพนี้กำลังจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

                 ตัวแทนชมรมฯ ได้เสนอแนวทางขั้นต้นในการออกแบบและจัดทำระบบรถไฟความเร็วสูงนี้ว่า ควรมีที่จอดจักรยานที่ปลอดภัยและเพียงพอ พร้อมกับตู้ล็อคเกอร์ให้บริการทุกสถานี โดยสามารถเก็บค่าบริการได้ตามความเหมาะสม, ควรออกแบบและจัดทำตู้โดยสารให้สามารถนำจักรยานขึ้นไปเก็บได้เช่นเดียวกับกระเป๋าเดินทางและรถเข็นคนพิการ โดยสามารถออกแบบให้สามารถบรรทุกจักรยานได้มาก เช่น ๑๐ คัน ในพื้นที่จำกัด อาจจะทดลองให้มีตู้โดยสารเช่นนี้หนึ่งตู้ก่อนในแต่ละขบวน และไม่เก็บค่าระวางจักรยาน

                 สำหรับการเข้าถึงสถานีควรออกแบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคน รวมทั้งผู้พิการทั้งทางกายและทางสายตา สามารถใช้ได้สะดวก(universal design)ไม่ว่าจะเป็นทางลาด ลิฟท์ และสัญลักษณ์บอกการใช้งานต่างๆ

                ท้ายสุด ตัวแทนชมรมได้เสนอให้นำแนวคิดนี้ไปปรับปรุงการเข้าถึงและระบบเชื่อมต่อของสถานีในระบบรางอื่นๆที่มีอยู่แล้ว หรือจะสร้างขึ้นต่อไปด้วย  อนึ่งรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นี้จะแล่นด้วยความเร็ว ๓๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระยะทาง ๗๐๐ กว่ากิโลเมตรและสถานี ๑๒ แห่ง กำหนดสร้างเสร็จให้ใช้บริการได้ปลายปี ๒๕๖๑ หรือต้นปี ๒๕๖๒ รายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ที่ www.thaihispeedtrain.com

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

มกราคม 2556

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น