Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ยุโรปมีเส้นทางจักรยานข้ามประเทศ ไทยเราก็มีได้

ยุโรปมีเส้นทางจักรยานข้ามประเทศ ไทยเราก็มีได้

ยุโรปมีเส้นทางจักรยานข้ามประเทศ ไทยเราก็มีได้

                             

ภาพแสดงเส้นทางจักรยานยุโรป (EuroVelo) ทั้ง 17 เส้นทาง

มื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2015 สหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) ผู้ประสานงานเครือข่ายเส้นทางจักรยานในทวีปยุโรป ได้ประกาศให้เส้นทางจักรยานแม่น้ำโรน (Rhone Cycle Route) เป็นเส้นทางจักรยานยุโรป (EuroVelo) หมายเลข 17 นับเป็นเส้นทางจักรยานยุโรปเส้นใหม่เส้นแรกนับแต่ปี 2011 หลังจากผ่านกระบวนการสมัครและพิจารณาเป็นเวลาสามปี

เส้นทางจักรยานยุโรปหมายเลข 17 ยาว 1,115 กิโลเมตร เริ่มจากจุดที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำโรนสูงลิบขึ้นไปที่ความสูง 2,432เมตรเหนือระดับน้ำทะเลบนเทือกเขาแอลป์สในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ลัดเลาะเรื่อยลงมาตามแนวแม่น้ำจนไปสิ้นสุดที่ปากแม่น้ำโรนบนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในประเทศฝรั่งเศส ผ่านนครใหญ่ที่สำคัญอย่างเยนีวาในสวิสเซอร์แลนด์และลีอองในฝรั่งเศส และเมืองขนาดเล็กลงมากับหมู่บ้านที่งดงามอีกมากมาย

พันธมิตรที่เสนอเส้นทางจักรยานนี้ได้แก่ภูมิภาคAuvergne – Rhone-Alpes, Provence-Alpes-Côte d’Azur และ Languedoc-Roussillon-Midi-Pyréenées Regions ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆในฝรั่งเศส, SwitzerlandMobility Foundation, และเขตปกครอง Uri, Valais, Vaud/Lake Geneva Region และ Geneva ในสวิสเซอร์แลนด์ โดยหวังให้เส้นทางจักรยานแม่น้ำโรนเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยจักรยานชั้นนำเส้นทางหนึ่งในยุโรป ตามความสำเร็จของเส้นทางจักรยานยุโรปอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำและทะเล อย่างเส้นทางจักรยานยุโรปหมายเลข 6 ระหว่างทะเลดำกับมหาสมุทรแอตแลนติกที่เลียบเคียงแม่น้ำดานูบและแม่น้ำลัวร์, เส้นทางจักรยานยุโรปหมายเลข 12 เลียบชายฝั่งทะเลเหนือจากนอร์เวย์เรื่อยลงมาเดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ข้ามทะเลไปอังกฤษ เลาะฝั่งขึ้นไปสก็อตแลนด์ และเส้นทางจักรยานยุโรปหมายเลข 15 หรือเส้นทางจักรยานแม่น้ำไรน์ซึ่งหลังจากเข้าเครือข่ายเส้นทางจักรยานยุโรปในปี 2011 ก็มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวด้วยจักรยานชาวเยอรมันนิยมใช้ขี่ไปต่างประเทศมากเป็นอันดับสอง  แสดงว่าเส้นทางจักรยานที่สัมพันธ์กับน้ำเป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากและนับวันเพิ่มขึ้น

การเพิ่มเส้นทางจักรยานแม่น้ำโรนเข้าไปในเครือข่ายเส้นทางจักรยานยุโรปจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งจากในยุโรปเองและจากทวีปอื่น เข้าไปพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกับที่สนับสนุนเศรษฐกิจของพื้นที่เหล่านั้น สร้างงานและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ  การท่องเที่ยวด้วยจักรยานสร้างรายได้อย่างสำคัญอยู่แล้วให้สวิสเซอร์แลนด์ คือปีละ 1,030 ล้านยูโร และให้ฝรั่งเศสปีละ 7,490 ล้านยูโร  ทวีปยุโรปเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วยจักรยานอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของยุโรปปีละ 44,000 ล้านยูโร มากพอๆกับรายได้จากอุตสาหกรรมเรือสำราญท่องมหาสมุทรของยุโรป

ป้ายให้ข้อมูลของเส้นทางจักรยานยุโรป เฉพาะป้ายนี้อยู่ข้างเส้นทางในเยอรมนี

มองกลับมาที่ประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานปกครองในท้องถิ่นต่างๆ ได้สร้างเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยวมาบ้างแล้ว เช่น เส้นทางจักรยานเลียบอ่าวไทยในจังหวัดระยองและจันทบุรี เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในรายการคืนความสุขให้ประชาชนในเดือนตุลาคม 2557 ว่ารัฐบาลจะส่งเสริมการใช้จักรยานด้วยการสร้างทางจักรยาน พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับการสร้างทางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างทางจักรยาน ก็ได้มีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกในทุกจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว-ออกกำลังกาย หลายเส้นผ่านทิวทัศน์ที่สวยงามและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมต่างๆ ล่าสุดกรมทางหลวงชนบทมีแผนจะสร้างทางจักรยานยาว 180 กิโลเมตรตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างจังหวัดปทุมธานีกับจังหวัดชัยนาท 

จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นเส้นทางจักรยานยาวๆ เช่น เส้นทางจักรยานอ่าวไทยที่ยาวเลียบไปตลอดอ่าวจากพรมแดนกัมพูชาถึงพรมแดนมาเลเชีย หรือเส้นทางจักรยานตัดข้ามประเทศตามแนวตะวันออก-ตะวันตก จากพรมแดนลาว/กัมพูชาถึงพรมแดนพม่า และในที่สุดก็เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายเส้นทางจักรยานประเทศไทย  เชื่อแน่ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวด้วยจักรยานจะเพิ่มขึ้นจากตัวเลขของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี 2558 ที่เป็นชาวไทยราว 300,000 คนและชาวต่างประเทศราว 35,000 คน ไปอีกมาก และสร้างรายได้ที่กระจายไปอุดหนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นตามเส้นทางเช่นเดียวกับในทวีปยุโรป  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น น่าจะมาชวนกลุ่มองค์กรผู้ใช้จักรยานต่างๆ มาหารือกันทำวิสัยทัศน์และแผนงานออกมา มีเป้าหมายชัดเจน ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณประจำปีมาใช้ในการก่อสร้างเส้นทางจักรยาน พร้อมกับระบบสนับสนุนอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนได้เป็นเครือข่ายเส้นทางประเทศไทยในที่สุด

หมายเหตุดูรายละเอียดเกี่ยวกับ EuroVelo 17 ได้ที่ http://www.eurovelo.com/en/eurovelos/eurovelo-17/

เก็บมาเขียนจากใบแถลงข่าวของ ECF “The Rhone Cycle Route Joins the EuroVelo Network” 08/03/2016 โดย กวิน ชุติมา กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC)   ในปี 2013 TCC ได้กลายเป็นสมาชิกองค์กรแรกในทวีปเอเชียของ ECF และในปี 2014 TCC ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรการจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA) 

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น