Home / Highlight / การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานถูกบรรจุในแผนพัฒนาประเทศเป็นครั้งแรก

การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานถูกบรรจุในแผนพัฒนาประเทศเป็นครั้งแรก

Print

การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานถูกบรรจุในแผนพัฒนาประเทศเป็นครั้งแรก

ในราชกิจจานุเบกษา (หนังสือที่รัฐบาลใช้ประกาศกฎหมายต่างๆ) เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๑๑๕ ก ฉบับวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๙  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔

แผนพัฒนาประเทศฉบับนี้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ ๑๐ ยุทธศาสตร์ โดยยุทธศาสตร์ที่ ๗ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ได้แจกแจงแนวทางการพัฒนาไว้ ๖ ด้าน ด้านแรกคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง โดยในส่วนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง หัวข้อที่ ๔ มีข้อความดังนี้

“๔) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (Non–Motorized Transport: NMT) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางข้าม ทางเท้า และทางจักรยานในพื้นที่ที่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง และการสร้างมาตรฐานและคุ้มครองความปลอดภัยของผู้สัญจรทางเดินเท้า และผู้ใช้จักรยานในเขตเมือง เพื่อเพิ่มสัดส่วนของการเดินทางที่ไม่ใช่เครื่องยนต์ในภาพรวม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะต่อไปต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยออกแบบพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะของภาครัฐ ให้สามารถอำนวยความสะดวกและรองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักการการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design)”

และในยุทธศาสตร์ที่ ๙ การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แจกแจงแนวทางการพัฒนาไว้ ๓ ด้าน  ด้านที่ ๒ การพัฒนาเมือง มีแนวทางการพัฒนาหลัก ๕ ด้าน โดยมีหัวข้อที่ ๓ ดังนี้

“๓) พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรและให้ประชาชนเข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะซึ่งมีต้นทุนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อระบบรถประจำทาง ระบบทางจักรยาน ทางเท้า และการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะในเขตเมือง ภายใต้หลักการส่งเสริมความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางของคนทุกช่วงวัยและผู้พิการ รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างเมืองและชนบท”

นี่เป็นครั้งแรกนับแต่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาประเทศมากว่าห้าสิบปีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่แผนพัฒนาประเทศได้ระบุถึงการส่งเสริมสนับสนุนการเดินและการใช้จักรยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเป็นการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (ไม่ใช่การเดินและการใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกายหรือนันทนาการ) เป็นอีกครั้งหนึ่งที่การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานได้กลายเป็นนโยบายสาธารณะของไทย  ครั้งนี้แม้จะมีเนื้อสาระไม่มากนัก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาประเทศโดยรวม ต่างจากมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่แม้จะให้รายละเอียดไว้มากกว่า แต่ก็เป็นการกล่าวถึงที่มีฐานอยู่บนเรื่องสุขภาพ-สาธารณสุข

การส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการมาตลอดยี่สิบห้าปีนับแต่ก่อตั้ง และได้ผลักดันอย่างจริงจังให้เป็นนโยบายสาธารณะในช่วงเวลาห้าปีหลังนี้ และขณะนี้สถาบันการเดินและการจักรยานไทยได้รับช่วงต่อไปดำเนินการให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น  แต่ความสำเร็จนี้มิใช่เป็นของชมรมฯ แต่ผู้เดียว แต่ยังมาจากการร่วมมือร่วมใจของผู้ใช้จักรยาน ภาคเอกชน และหน่วยงานราชการต่างๆ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้

*http://www.thaicyclingclub.org/wp-content/uploads/2017/01/แผนพัฒนาฉบับที่-12.pdf*

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย และสถาบันการเดินและการจักรยานไทย

(หมายเหตุ: การเน้นข้อความด้วยตัวหนาทั้งหมดข้างบนนี้เป็นของชมรมฯ และสถาบันฯ เอง)

Comments

comments

Check Also

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน