Home / ข้อมูลความรู้ / ความเดินได้ (1)

ความเดินได้ (1)

ความเดินได้ (1)

ความเดินได้’ นี้คนไทยที่ได้อ่านหรือฟังครั้งแรกคงรู้สึกแปลกๆเพราะคงไม่เข้าใจว่าหมายถึงอะไร ความเดินได้นี้จริงๆแล้วเป็นการย่อหรือลดรูปของคำศัพท์ ‘ความสามารถในการเดินได้’ ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Walkability  กล่าวคือ Walk แปลว่าเดิน  Walkable แปลว่าสามารถเดินได้ (เพราะ able แปลว่า สามารถทำอะไรๆได้) ดังนั้น Walkability ซึ่งเป็นคำนาม จึงหมายถึงความสามารถในการเดินได้ แต่พูดแบบนี้มันยาว จึงขอบัญญัติศัพท์โดยลดรูปคำให้สั้นๆว่า ‘ความเดินได้’
ซึ่งฟังใหม่ๆคงแปร่งหูอยู่พอสมควร แต่ฟังไปๆใช้ไปๆ ก็น่าจะชิน และรู้สึกได้เองว่าหมายถึงอะไร แล้วจริงๆแล้วมันหมายถึงอะไรกันแน่เล่า เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดี ……. แบบนี้คงต้องยกตัวอย่างให้เห็นจึงจะเข้าใจ
สมมุติเราไปเดินตามทางเท้าในเมืองใหญ่ของประเทศไทยเรามักจะเดินไปสะดุดไป เดินไปต้องหลบซ้ายหลบขวาไปเพราะขืนเดินไปตรงๆก็จะไปชนเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ ป้ายรถเมล์ กระถางต้นไม้ ฯลฯ ซึ่งวางกันระเกะระกะไม่ได้แนว และเดินไปก็ต้องก้มดูทางไปไม่ให้ไปเหยียบกับระเบิด (ขี้หมา) หรือตกหลุมหรือท่อระบายน้ำ
ทางเท้าแบบนี้สากลเขาเรียกว่าเป็นทางเท้าที่เดินไม่ได้ ดังนั้นทางเท้าที่ดีและเดินได้จึงควรเป็นทางเท้าที่น่าเดินและเดินแล้วปลอดภัยรวมทั้งสบายใจ
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าทางเท้าที่เดินได้หรือไม่ได้นั้นรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ทางกลุ่มนานาชาติเขาก็เลยตั้งกติกาหรือตัวชี้วัดขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า ‘ดัชนีความเดินได้’ ทีนี้บ้านไหนเมืองไหนอยากรู้ว่าทางเท้าของตัวเองใช้เดินได้หรือไม่ได้ตามมาตรฐานสากลก็ไปสำรวจเทียบกับดัชนีหรือตัวชี้วัดนี้ แล้วก็ออกมาเป็นคะแนนบอกชาวบ้านและนักท่องเที่ยว(โดยเฉพาะคนต่างชาติ) ก็จะรู้ได้ทันทีว่าทางเท้าตรงนั้นตรงนี้เดินได้ หรือได้ดี หรือไม่ได้
นอกจากนี้ดัชนีความเดินได้นี้ยังเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งของการบอกว่าเมืองไหนน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ครับ เรื่องนี้จึงมิใช่เรื่องเล่นๆหรือไร้สาระอย่างที่บางคนคิด
เพราะหากเป็นเรื่องไร้สาระจริง ธนาคารโลกเขาคงไม่กำหนดออกมาเป็นคู่มือการวัด ซึ่งดัชนีของธนาคารโลกนี้เขาเรียกกันในหมู่นักวิชาการด้านเดินว่า จีดับเบิลยูไอ หรือ GWI หรือ Global Walkability Index อันแปลเป็นไทยได้ว่า ‘ดัชนีความเดินได้ระดับโลก’ ทั้งนี้ต่อไปนี้เราจะเรียกกันสั้นๆว่า GWI ก็น่าจะสะดวกต่อการสื่อสารและทำความเข้าใจกันและกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้บริหารรัฐและเมือง
จำกันไว้นะครับ ‘ความเดินได้’ นี้เป็นเครื่องมือในการวัดทางเท้าว่าเดินได้หรือไม่ได้ และกินความไปถึงดีหรือไม่ดีด้วย และเราคงจะได้ยินคำนี้กันบ่อยขึ้นเมื่อเวลาเราพูดถึงเมืองน่าอยู่หรือคุณภาพชีวิต รวมทั้งพื้นที่สุขภาพและสิ่งแวดล้อมประดิษฐ์ (Built Environment)

ขอบคุณภาพประกอบจากผู้ส่งเข้าประกวดกิจกรรม “ทางเท้า…เล่าเรื่อง” ,กันยยน 2555

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ตุลาคม 2555

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น