Home / ข้อมูลความรู้ / ข้อที่ควรแก้ไขใน พ.ร.บ.จราจรฯ

ข้อที่ควรแก้ไขใน พ.ร.บ.จราจรฯ

ข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.จราจรฯ 2522 ที่ควรแก้ไขปรับปรุง
เพื่อพัฒนาระบบจราจร … ให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน
เสนอแนะโดย ชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม

          ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ประสบกับปัญหารถติด มลพิษมาก และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ก็เริ่มประสบปัญหาเดียวกันนี้ เพราะขาดระบบรถขนส่งสาธารณะ

          ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งในคุณภาพและเส้นทาง  ระบบรถประจำทางที่ดำเนินการโดยเทศบาลนครเชียงใหม่จึงประสบกับการขาดทุนจนรายรับไม่เพียงพอต่อการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดีได้  ทำให้ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ทั้งโดยค่านิยมที่เกินความจำเป็นและสภาวะที่มีความจำเป็นจริง โดยการใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ส่วนบุคคล จำนวนมาก และเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนเกิดปัญหารถติด-มลพิษมากคล้ายในกรุงเทพมหานคร  ทำให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรวมทุกชนิดสูงมาก มีการปล่อยก๊าซก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์(CO2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นทุกปีแม้วิ่งในระยะทางเท่าเดิม  ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมในเชิงนโยบายของรัฐให้คนใช้จักรยาน ไปทำงานและไปเรียน ซึ่งถือว่าเป็นที่หมายของการเดินทางของคนส่วนใหญ่ ให้เพิ่มมากขึ้น  โดยการสร้างระบบจราจรที่ทำให้ผู้ใช้รถอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเร็วสูงกว่า ดูแลผู้ใช้จักรยานและเคารพในสิทธิ์ของผู้ใช้จักรยานให้เกิดความมั่นใจว่ามีความปลอดภัย ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่คนไทย คนเชียงใหม่ส่วนหนึ่ง สามารถใช้ชีวิตพอเพียงสนองพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ และสามารถร่วมกับประชากรโลกในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศไปมากแล้ว  ซึ่งแม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนจากเหตุการณ์แห้งแล้ง น้ำท่วมบ่อยครั้งในรอบปีและการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ริมทะเลหลายจังหวัด  แต่จากการดำเนินการรณรงค์และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสำหรับส่งเสริมการใช้จักรยาน  ก็ได้รับประสบการณ์ว่า ยังขาดความร่วมมือที่สำคัญจากเจ้าพนักงานจราจรของรัฐจำนวนมาก  ที่มีอำนาจหน้าที่หลักบังคับใช้กฎหมายจราจรซึ่งมีทัศนคติที่ไม่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้จักรยานอยู่บ่อยครั้ง และไม่มีหลักประกันว่าจะมีความยั่งยืนแน่นอน  จึงจำเป็นต้องเสนอแนะให้มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นระดับต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกสุขของประชาชน และมีงบประมาณของตนเอง มีอำนาจหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบจราจรในพื้นที่ของตนได้ด้วยเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานจราจรหรือตำรวจจราจรแต่เพียงฝ่ายเดียว
ประเทศไทย มี พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายหลักที่มีกำหนดกฎเกณฑ์ของการการจราจร ซึ่งหมายถึง การใช้ทางของผู้ขับขี่ คนเดินเท้า หรือคนที่จูง ขี่ หรือไล่ต้อนสัตว์ รวมถึงการขับขี่และการใช้รถใช้ทาง(หรือถนน)ของรถทุกชนิดเอาไว้ ยกเว้นทางรถไฟ
พ.ร.บ. นี้ ได้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานจราจรที่มีวิสัยทัศน์ กำหนดช่องทางเดินรถประเภทใดประเภทหนึ่งขึ้นได้ เช่น ช่องเดินรถประจำทางสวนถนนจราจรทางเดียวใน กทม. หรือสามารถออกประกาศ กำหนดทางเดินรถสองทางให้เป็นทางเดินรถทางเดียวได้ เมื่อเห็นว่าสะดวก ปลอดภัยและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ในเชียงใหม่ ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ได้กำหนดให้ถนนรอบคูเวียงเดิมซึ่งเป็นการจราจรสองทาง เปลี่ยนเป็นทางเดินรถทางเดียว เมื่อราว พ.ศ.2525 เนื่องจากมีปัญหารถติดมาก..เดิมรถสามารถวิ่งผ่านสี่แยกต่างๆรอบคูเวียงเข้าสู่คูเวียงได้ การปรับเปลี่ยนถนนเดินรถสองทางให้เป็นทางเดียว ทำให้รถที่เคยติดนานวิ่งไหลลื่น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถนนนอกคูเวียง เช่นถนนท่าแพ ถนนช้างม่อย และถนนลอยเคราะห์ให้เป็นถนนทางเดียว นอกจากนั้นการเข้า-ออกของรถสู่พื้นที่สี่เหลี่ยมคูเวียง และถนนช้างม่อยตัดใหม่เลียบวัดแสนฝาง ถูกปรับเปลี่ยนตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เปิดทางไว้ให้ กลายเป็นถนนสวนชิดขวาเหมือนในประเทศลาว ประเทศพม่าและประเทศในยุโรป ซึ่งแตกต่าง หรือตรงกันข้ามกับระบบจราจรสวนชิดซ้ายส่วนใหญ่ของประเทศไทย รวมทั้งยังมีการกำหนดให้ซอยต่างๆที่เชื่อมโยงถนนช้างม่อย กับถนนท่าแพและถนนลอยเคราะห์เป็นถนนจราจรทางเดียวด้วย เนื่องจากถนนแคบจนรถยนต์สวนกันไม่ได้หรือเกิดปัญหารถติด การเปลี่ยนให้เป็นถนนทางเดียวมีเหตุผลดี เพราะทำให้รถยนต์วิ่งได้สะดวกกว่าต้องวิ่งสวนกันในซอยที่ถนนแคบ  แต่มีผลให้รถทุกชนิดวิ่งทางเดียวทั้งหมดรวมทั้งจักรยานด้วย ผู้ใช้จักรยานจึงถูกบังคับให้ต้องขับขี่อ้อมวน เพื่อเดินทางมายังจุดหมายเริ่มต้น โดยต้องใช้แรงกายของตน ทำให้เสน่ห์ของการใช้จักรยานในเมืองเชียงใหม่หายไป การทำให้จักรยานวิ่งสวนได้ดังเดิม จะทำให้เสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และอย่างยั่งยืน
เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 ให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรกำหนดช่องเดินรถสำหรับรถแต่ละชนิดได้ และปรับเปลี่ยนทางเดินรถจากกฎเกณฑ์ทั่วไปได้ ก็ย่อมสามารถที่จะกำหนดให้เฉพาะจักรยานวิ่งสองทางได้เช่นเดิม ในถนนที่เป็นทางเดินรถทางเดียว เพื่อจูงใจและส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นทางเลือกให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน ร่วมแก้ปัญหารถติด-มลพิษมาก และร่วมหยุดโลกร้อน-ด้วยชีวิตพอเพียงได้  และใช้จักรยานกันมากขึ้น จนเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมใหม่
ต่อไปนี้จะยกข้อกฎหมายบางมาตราที่ เจ้าพนักงานจราจรสามารถยกขึ้นมาใช้สนับ สนุนและส่งเสริมการใช้จักรยานทั่วประเทศในชีวิตประจำวันได้ และควรเริ่มทดลองใช้ในเชียงใหม่ในเส้นทางจักรยานที่ อจร.จ.เชียงใหม่ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อกันยายน 2547 แต่เจ้าพนักงานจราจรของเชียงใหม่ในระหว่างปี พ.ศ.2547 -2551 ยกเหตุผลที่ไม่เป็นความจริงหลายประการขึ้นคัดค้านหรือไม่สนับสนุน ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่ ทำให้การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายสนับสนุนการใช้จักรยานให้เป็นเมืองน่า-น่าเที่ยวอยู่ในภาวะชงักงัน  อย่างไรก็ดี  หลายมาตราควรจะมีการปรับปรุงไปพร้อมๆกันดังต่อไปนี้

มาตรา 21 ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ทราบ
สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจรและเครื่อง หมายจราจร ให้อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีรูปตัวอย่างแสดงไว้ในประกาศด้วย
[ในมาตรานี้ กรมทางหลวงแผ่นดิน และกรมทางหลวงชนบท หรือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ควรออกประกาศใช้ป้ายเครื่องหมายจราจรที่มีการเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้จักรยาน ตามเส้นทางจักรยานที่จะมีการจัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเฉพาะจักรยานหรือถนนจักรยาน เพื่อให้ผู้ใช้รถอื่นๆ ดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานอย่างเต็มที่]

มาตรา 26 ในทางเดินรถที่มีสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรตามมาตรา 22 หรือสัญญาณจราจรตามมาตรา 23 ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการจราจรในทางเดินรถนั้น เห็นสมควรเพื่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร จะให้สัญญาณจราจรเป็นอย่างอื่นก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติการเดินรถ ตามสัญญาณที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้
[ตามมาตรา 26 นี้ ควรแก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานจราจรและหรือนายกองค์กรปกครองท้องถิ่น สามารถกำหนดให้จักรยานวิ่งสองทางในถนนจราจรทางเดียวได้ โดยมีเส้นกำหนดเป็นช่องเดินรถจักรยาน หรือใช้เครื่องหมายจราจรที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติม ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทั้งหมดทราบว่า ทางช่วงนั้นๆ เป็นถนนจักรยาน หรือทราบว่าตั้งแต่วันที่กำหนดให้เป็นต้นไปนั้น จักรยานสามารถจะวิ่งสองทางได้ ตราบใดที่ไม่เป็นการวิ่งย้อนศร หรือวิ่งสวนกันผิดไปจากการจราจรสวนชิดซ้าย ซึ่งเป็นกฎจราจรหลักของประเทศไทย]

มาตรา 27 สัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เมื่อมีเหตุอันสมควรให้อธิบดีมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
[มาตรานี้ควรแก้ไขโดยระบุให้ชัดเจนว่า อธิบดี กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และ/หรือนายกองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลถนนสายดังกล่าว มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาณจราจร หรือเพิ่มเติมเครื่องหมายจราจรได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือโดยการออกเทศบัญญัติ หรือบัญญัติขององค์กรบริหารส่วนจังหวัด แล้วแต่กรณี]

มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ ขับรถ
(7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วยหรือคนพิการ
[ตามมาตรานี้ ทางเท้าทั่วไปห้ามใช้จักรยาน ถ้าเจ้าพนักงานจราจรไม่กำหนดให้จักรยาน ใช้ทางเท้าที่มีความกว้างขวางเพียงพอไว้ จึงควรแก้ไขปรับปรุงให้ นายกองค์กรปกครองท้องถิ่น ออกเทศบัญญัติหรือบัญญัติท้องถิ่น เปลี่ยนแปลงได้]

มาตรา 55 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ
(1) ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถ ในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
[มาตรานี้ควรเพิ่มเติมข้อความบ่งชี้ให้ชัดเจนว่า การหยุดรถในช่องเดินรถจักรยานนั้นเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรมีหน้าที่ดูแลหรือบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย รถอื่นๆ นั้นให้หยุดชิดขอบซ้ายของทางเดินรถของตนซึ่งมิใช่ช่องเดินรถจักรยาน เหตุผล คือ ปัจจุบันมีการจอดรถเครื่องยนต์ทุกชนิดในช่องเดินรถจักรยาน..โดยผู้ใช้รถอื่นๆไม่คิดว่าเป็นการผิดกฎหมาย]

มาตรา 57 เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติ กฎ หรือข้อบังคับตามพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ
(1)    บนทางเท้า
(2)    ในลักษณะกีดขวางการจราจร
[มาตรา 57 ควรแก้ไขโดยระบุให้ชัดเจนว่า   เว้นแต่จะได้มีบทบัญญัติ กฎ หรือข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถ 1) บนทางเท้าและช่องเดินรถจักรยาน 2) ในลักษณะกีดขวางการจราจรของรถทุกชนิด/ประเภท]

มาตรา 79 ทางใดที่ได้จัดทำไว้สำหรับรถจักรยาน ผู้ขับขี่รถจักรยานต้องขับในทางนั้น
[ผู้ใช้จักรยานในถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง ไม่สามารถใช้ทางหรือช่องเดินรถจักรยานที่สร้างขึ้นไว้ได้..ตามที่กฎหมายกำหนด และขาดการดูแลจากตำรวจจราจรมาตั้งแต่เริ่มแรก จึงควรมีข้อความเพิ่มเติมว่า ”ทั้งนี้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจหน้าที่ต้องดูแล และบังคับให้ทางสำหรับจักรยานไร้สิ่งกีดขวางจากรถอื่น”]

มาตรา 128 ห้ามมิให้ผู้ใดวาง เท หรือทิ้งเศษแก้ว ตะปู ลวด น้ำมันหล่อลื่น กระป๋องหรือสิ่งอื่นใด หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บนทางอันอาจทำให้เกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล หรือเป็นการกีดขวางการจราจร
[ควรแก้ไขหรือเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่า ผู้ใดหรือองค์กรใด มีอำนาจหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการกระทำ หรือจัดการดูแลหลังเกิดการกระทำนั้นๆ]

มาตรา 139 ในทางสายใด หรือเฉพาะทางตอนใด ที่เจ้าพนักงานจราจรเห็นว่า ถ้าได้ออกประกาศข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการจราจรแล้ว จะเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้
(7) กำหนดช่องหรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง
(8) กำหนดทางเดินรถทางเอกและทางเดินรถทางโท
(9) กำหนดการจอดรถหรือที่จอดพักรถ
(10) กำหนดระเบียบการใช้ทางหรือช่องเดินรถสำหรับรถบางประเภท
(15) ขีดเส้นหรือทำเครื่องหมายจราจรบนผิวทาง หรือติดตั้งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมาย
[ มาตรา 139 ชี้ให้เห็นชัดเจน ว่าเจ้าพนักงานจราจร สามารถจะใช้ความในวงเล็บ 7, 8, 9, 10 และ 15 ในการกำหนดกฎจราจรหรือระบบจราจร สำหรับดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานได้ แต่ต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ในการมองเห็นคุณประโยชน์ ของการสนับสนุนส่งเสริมการใช้จักรยานสำหรับเมืองต่างๆ อย่างแท้จริง แต่ในช่วงปีพ.ศ.2547 – 2551 นั้น เจ้าพนักงานจราจรอ้างกฎหมายมาตรานี้ ในการไม่ออกประกาศเส้นทางจักรยาน ด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นความจริงตามอำเภอใจติดต่อกันถึง 4 ชุด และไม่มีหลักประกันว่า เจ้าพนักงานจราจรทุกท่านซึ่งเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดด้วย จะสนับสนุนการใช้จักรยาน จึงควรแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 139 ในข้อความเดิม “ให้เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจออกประกาศข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้” เป็น “ให้เจ้าพนักงานจราจร หรือนายกองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกระดับ ในพื้นที่รับผิดชอบประชาชนของตน มีอำนาจออกประกาศ ข้อบังคับ หรือระเบียบดังต่อไปนี้”]

ชมรมจักรยานวันอาทิตย์เชียงใหม่

Comments

comments

Check Also

Mn/DOT Bikeway Facility Design Manual

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น