Home / Highlight / สหประชาชาติเรียกร้องให้จัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน

สหประชาชาติเรียกร้องให้จัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน

%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%99

ให้รัฐบาลจัดงบประมาณคมนาคมขนส่งอย่างน้อยร้อยละ 20 ให้กับการเดินและการใช้จักรยาน

ฝันไปหรือเปล่า?  ก็อาจจะเป็นความฝันที่ยังไม่ใช่ความจริงในขณะนี้สำหรับประเทศไทยครับ  แต่เป็นจริงได้ และควรจะต้องเป็นเช่นนั้นด้วย  ข้อเสนอนี้มาจากโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (UNEP) ในรายงานชื่อ Global Outlook on Walking and Cycling 2016 ที่เพิ่งออกมาเมื่อเดือนกันยายน 2559 นี่เอง

รายงานนี้เป็นผลจากการสำรวจความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นกับ “Active Travel” ในยี่สิบประเทศ  คำว่า Active Travel นี้ยังไม่มีคำศัพท์ไทยที่สั้นกระชับและให้ความหมายตรง แปลออกมาอาจจะได้ว่า “การเดินทางที่ผู้เดินทางได้ขยับเขยื้อนร่างกายอย่างแข็งขัน”  คำนี้ใช้กันมากในยุโรป ลาตินอเมริกา และประเทศในอาฟริกาตะวันตก ให้ความหมายตรงกับ “การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์” (Non-Motorised Transport – NMT) ซึ่ง UNEP ให้นิยามครอบคลุมไว้ตั้งแต่ การเดิน การขี่จักรยานสองล้อและสามล้อ การใช้รถเข็นชนิดต่างๆ การเดินทางด้วยยานพาหนะที่ใช้สัตว์ลากจูง การใช้สัตว์ในการขนส่ง และวิธีเดินทางและการใช้พาหนะอื่นๆที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมไปจนถึงการใช้สเกตบอร์ดด้วย  ยี่สิบประเทศที่เลือกมานี้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง คือมีรายได้ประชาชาติสุทธิต่อหัวต่อปีไม่เกิน 1,025 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,000 บาท) และระหว่าง 1,025 ถึง 12,475 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,000 – 436,000 บาท) ตามลำดับ อยู่ในเอเชีย 6 ประเทศได้แก่ บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล สิงคโปร์ จีน และเกาหลี ไม่มีไทยเราครับ

ผลการสำรวจชี้ออกมาเลยครับว่า การไม่ได้ลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินและการใช้จักรยานนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนนับล้านๆ  มีการคำนวณว่าทั่วโลกมีคนตายบนถนนปีละราว 1.3 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ใช้ถนนที่อยู่ในสภาพอ่อนเปราะที่จะได้รับอันตราย คือคนที่เดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว รวมถึงผู้ขับขี่จักรยานยนต์ด้วย แต่ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงแล้วจะต่างกันมาก คนในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเสียชีวิตบนถนนมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูงถึงเกือบสองเท่า !!!

เปรียบเทียบง่ายๆนะครับ ลองคิดดูว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่แน่ หากประชาคมโลกปล่อยให้ประชาชนทั้งหมดของออสเตรเลีย กานา หรือเนปาล ตายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 15 ปี  แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย เมื่อเราปล่อยให้ประชากรโลกจำนวนมากกว่านั้นเสียอีกตายไปอย่างเงียบๆ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน  เรายอมรับให้อุบัติเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นทั้งๆ ที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการลงทุนให้ถูกต้องและเพียงพอ !!!

ดังนั้นรายงานฉบับนี้จึงไม่เพียงแต่ชี้นิ้วไปที่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางถนนว่าอยู่ตรงไหนบ้าง หากยังเสนอทางออกที่ฟังดูแล้วแสนจะง่ายๆ แต่ก็มีประสิทธิผลอย่างน่าประหลาดใจด้วยไปพร้อมกัน

รายงานย้ำข้อเท็จจริงที่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบาย มักลืมไปว่า ความจริงแล้ว ทั่วโลกคนจำนวนมากใช้การเดินและการ ใช้จักรยานเป็นวิธีการเดินทางอยู่แล้ว และแม้จะใช้วิธีอื่นด้วย แต่ก็ต้องเริ่มต้นและจบการเดินทางแต่ละครั้งด้วยการเดินเสมอ และวิธีการเดินทางขนส่งที่ใช้แรงคนที่ใครๆ ก็ทำได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำมากนี้ ให้ประโยชน์ในทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมมากมายแก่ทั้งเมือง ชนบท และประเทศโดยรวม

การไม่ลงทุนทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินและการใช้จักรยานยังเป็นการพลาดโอกาสที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังจับต้องได้ไปอย่างน่าเสียดาย  ขณะนี้การเดินทางที่ใช้เครื่องยนต์ที่เผาไหม้น้ำมันหรือก๊าซเป็นพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงหนึ่งในสี่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกทีเดียว และเป็นภาคส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย  หากไม่ทำอะไรจริงจังในการหยุดยั้งหรือทวนกระแสนี้ มันจะเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงหนึ่งในสามของทั้งหมดในปี 2593

เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงยังเป็นตัวการสำคัญในการทำให้คุณภาพอากาศเสื่อมโทรม ซึ่งประเมินกันว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนตายก่อนวัยราว 7 ล้านคนในแต่ละปี และสร้างปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น อย่างเช่นโรคหลอดลมอักเสบ หืด โรคหัวใจ และยังสร้างความเสียหายให้แก่สมองด้วย

ดังนั้นรายงานของ UNEP ฉบับนี้จึงบอกว่า ผู้บริหารประเทศและท้องถิ่นจะคิดจะทำแบบเดิมอย่างที่เคยทำกันมาไม่ได้แล้วทั้งในด้านนโยบายและด้านงบประมาณ โดยต้องจัดสรรงบประมาณการคมนาคมขนส่งอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 20 ไปที่การเดินและการใช้จักรยานให้ได้โดยไว  และจะต้องมีการเปลี่ยนนิสัยความเคยชินของประชาชนจากการใช้รถยนต์ไปเป็นการเดินและการใช้จักรยานด้วย

%e0%b8%82%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%9a%e0%b8%99

ผังที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานระดับชาติที่รับผิดชอบการเดินทางขนส่งและมีความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์มีอยู่มากน้อยเพียงใด ในภาพรวมของโลก(ซ้ายบน), ในทวีปเอเชีย(ซ้ายล่าง), ทวีปลาตินอเมริกา(ขวาล่าง) และทวีปอาฟริกา(ขวาบน)  สีน้ำเงินคือมี สีเทาคือไม่มีในวงเล็บด้านล่าง บอกจำนวนประเทศในทวีปนั้นที่มีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์

ท้ายสุด UNEP เรียกร้องให้นานาชาติยุติการพึ่งพารถยนต์และแนะสี่แนวทางให้กับผู้กำหนดนโยบายของประเทศดังนี้

ประการแรก:   ถ้ายังไม่มีนโยบายทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นสำหรับการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ก็ทำขึ้นมา และถ้ามีอยู่แล้วก็นำมาใช้ทันที

ประการที่สอง:  เพิ่มการใช้จ่าย-การลงทุนทำโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยสำหรับการเดินและการใช้จักรยานเป็นอย่างน้อยร้อยละ 20 ของงบประมาณด้านการคมนาคมขนส่ง

ประการที่สาม:  ถามผู้ใช้วิธีเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ว่า พวกเขา โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว-เดินทาง ว่าพวกเขาเดินและขี่จักรยานที่ไหน เพื่อให้สร้างหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ตรงจุด

ประการที่สี่:  ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์อย่างแข็งขัน การมีความมุ่งมั่นทางการเมืองในเรื่องการเดินและการใช้จักรยาน ไม่ใช่แค่เพียงการมีนโยบายเท่านั้น แต่หมายถึงการยกฐานะให้การเดินและการใช้จักรยานมีสถานะเท่าเทียมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลด้วย

 

หากสนใจรายละเอียด อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่ครับ http://www.unep.org/transport/sharetheroad/PDF/globalOutlookOnWalkingAndCycling.pdf

กวิน ชุติมา กรรมการสถาบันการเดินและการจักรยานไทย เก็บความจากข่าวและรายงานของ UNEP

Comments

comments

Check Also

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน