Home / ข่าวและกิจกรรม / ข่าวสาร / ชมรมร่วมสัมมนาจักรยานสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

ชมรมร่วมสัมมนาจักรยานสาธารณะในกรุงเทพมหานคร

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการขึ้นในหัวข้อ “การออกแบบและพัฒนาจักรยานสาธารณะในกรุงเทพมหานคร” ที่ห้องประชุม ๕๐๑ อาคาร สนข. กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗  การสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์(Non-Motorised Transport – NMT) และการการปรับปรุงการเชื่อมต่อการเดินทางระบบซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เดิมมีกำหนดเสร็จในธันวาคม ๒๕๕๗ แต่ เนื่องจาก คสช.เร่งการใช้งบประมาณ สนข.จึงต้องรีบดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนกันยายน นำมาสู่การสัมมนาครั้งที่ ๔ นี้และมีอีกครั้งในวันที่ ๑๔ สิงหาคม

บรรยากาศในห้องสัมมนา คุณอัครวัฒน์ ทรัพย์ทวีวศิน กับ ดร.อรรถวิทย์ อุปโยธิน

หลังจากนายสฤษฏ์พงศ์  บริบูรณ์สุข ผู้อำนวยการสำนักแผนความปลอดภัย สนข. ได้กล่าวเปิดการประชุมแล้ว ดร.อรรถวิทย์ อุปโยธิน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บรรยายสรุป โครงการจักรยานสาธารณะปันปั่นในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นระบบจักรยานสาธารณะแห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชิญคุณอัครวัฒน์ ทรัพย์ทวีวศิน ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ลีโอ ออโต้ แมชชีนส์ จำกัด ผู้ติดตั้งและดำเนินการระบบจักรยานสาธารณะให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มาให้ข้อมูลในรายละเอียดเสริม ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

นับแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ในปัจจุบันโครงการปันปั่นมีสถานีให้บริการ ๕๐ สถานี จักรยาน ๕๐๐ คัน และการใช้ประมาณ ๒,๐๐๐ เที่ยวต่อวัน โดยมียอดรวมสมาชิกกว่า ๑๑,๐๐๐ คนและการเดินทางกว่า ๑๗๐,๐๐๐ เที่ยว  ประชากรวัย ๑๘-๒๕ ปีเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดคือร้อยละ ๔๓  ขณะนี้มีคนจำนวนมากเริ่มใช้เทคนิคขี่ไม่เกิน ๑๕ นาที นำจักรยานไปคืนที่สถานีต่อไป แล้วนำจักรยานคันอื่นออกไป ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ซึ่งทางบริษัทไม่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่กังวล เพราะบริษัทยินดีส่งเสริมการใช้จักรยานเป็นเบื้องแรก  ข้อมูลที่ระบบบันทึกไว้คือจักรยานถูกนำจากสถานีใดไปสถานีใด และใช้เวลาเดินทางเท่าใด แต่มิได้บันทึกระยะที่เดินทาง  ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าควรขยายสถานีใดบ้างหรือไม่จากปริมาณการใช้และความเป็นไปได้ของพื้นที่ ทั้งขนาดและการบดบังอาคารเบื้องหลัง ซึ่งต้องประเมินผลกระทบก่อนเช่นเดียวกับการตั้งสถานีเบื้องแรก เพราะพบว่าสถานที่หลายแห่งที่น่าจะมีสถานีจักรยานก็ไม่อาจตั้งหรือขยายได้

นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ขณะนี้ไทยยังมีระบบจักรยานสาธารณะที่เมืองพิษณุโลกด้วย โดยมีมาราวหนึ่งปีแล้ว ปัจจุบันมีสถานี ๔ แห่งและสมาชิกกว่า ๔,๐๐๐ คน ใช้จักรยานเพื่อออกกำลังกายเป็นหลักที่บริเวณสนามบิน  ทางบริษัทอยากเพิ่มจำนวนรถจักรยานและสถานี แต่ทางเทศบาลนครพิษณุโลกเห็นว่าพอแล้ว  ส่วนเมืองอื่นที่จะดำเนินการต่อไปคืออุดรธานีในปี ๒๕๕๗ นี้และขอนแก่นในปี ๒๕๕๘ ที่สงขลาและหาดใหญ่ก็ไปศึกษาแล้ว อยู่ในการพิจารณาของทางเทศบาล  ในภาคเหนือนั้นยังไม่มีจังหวัดใด ที่เชียงใหม่พบว่าหาที่ตั้งสถานียากมาก

เสวนากลุ่มย่อย เสร็จการสัมมนาถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้สอบถามขอข้อมูลอีกหลายประการ ที่น่าสนใจก็มี เช่น ทางบริษัทประเมินว่าผลตอบแทนการลงทุนจะกลับมาใน ๓-๕ ปีจากการโฆษณาที่จะเพิ่มมากขึ้น สองปีแรกเป็นระยะฟักตัวให้ผู้ประกอบการมั่นใจที่จะมาลงทุนโฆษณา, คงไม่มีการนำรถจักรยานที่มีเกียร์หรือเครื่องยนต์ไฟฟ้ามาใช้เพราะต้นทุนสูง ดูแลยากขึ้น จักรยานที่ใช้ปัจจุบันสั่งทำพิเศษด้วยอะลูมิเนียมให้มีน้ำหนักเบา ราคาคันละ ๘,๐๐๐ บาท, ที่ไม่ติดตั้งตะกร้าใส่ของข้างหน้าตามที่มีผู้ใช้เรียกร้องมามากเพราะการรัดของกับที่วางเล็กๆนั้นไม่สะดวกนั้นก็เพราะแบบของจักรยานรุ่นเก่าทำให้ติดตั้งไม่ได้  แต่จักรยานรุ่นใหม่จะมีตะกร้าแล้ว ส่วนรุ่นเก่าก็จะพิจารณาว่าจะปรับปรุงอย่างใดได้ต่อไป

นอกจากเรื่องตะกร้าใส่ของแล้ว ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดยังได้ข้อเสนอให้ทำอีกหลายประการ เช่น การมีบัตรใบเดียวที่ใช้กับรถไฟฟ้าทุกระบบและจักรยานปันปั่นได้เพื่อความสะดวกสูงสุด, การขอความร่วมมือตำรวจในการบังคับใช้กฎจราจรและการจำกัดความเร็ว, การเพิ่มจำนวนจักรยานปันปั่นและกระจายสถานีออกไปให้ทั่วถึง, การลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการขี่จักรยาน เช่น การเพิ่มทางจักรยานและประกาศให้เป็นทางจักรยานอย่างเป็นทางการ, การพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างระบบขนส่งสาธารณะต่างๆกับระบบจักรยาน และการควบคุมการจดทะเบียนรถสาธารณะ เป็นต้น

สถานีพร้อมจักรยานปันปั่นที่นำมาแสดง คุณกวินกับตู้บัตรสถานีปันปั่น

รายงานโดย  กวิน ชุติมา

กรรมการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

—————————————————————————————————————————————————————————

ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย (TCC) เป็นสมาชิกองค์กรแรกและประเทศแรกในเอเชียของสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานยุโรป (European Cyclists’ Federation – ECF) และเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งพันธมิตรจักรยานโลก (World Cycling Alliance – WCA)ด้วย

Comments

comments

Check Also

ชมรมฯ ร่วมงาน a day BIKE FEST 2016