Home / ประชาคมลำปางสนใจร่วมสร้างชุมชนจักรยาน

ประชาคมลำปางสนใจร่วมสร้างชุมชนจักรยาน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานเทศบาลนครลำปาง ด้วยการช่วยประสานงานของนายศรีสะเกษ สมาน จากสมาคมชีวิตดี ได้มีการประชุมของคนจากภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดลำปาง เพื่อหารือกันถึงการส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 20 คน จากองค์การบริหารส่วนตำบล, ชมรม อสม., ชมรมผู้สูงอายุ, ชุมชน, เครือข่ายประชาชน, โรงเรียน, สำนักงานสาธารณสุข, เทศบาลเมืองเขลางค์นคร และเทศบาลนครลำปาง โดยมีนายสุรพล ตันสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีนครลำปาง ให้เกียรติเป็นประธานการประชุม

ในการประชุมครั้งนี้ นายกวิน ชุติมา เลขาธิการ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ได้อธิบายให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบถึงความเป็นมาของชมรมฯ ซึ่งนำมาสู่การดำเนินงาน “โครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย”ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองของผู้รักการเดินและใช้จักรยาน ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งคือการมีชุมชนของผู้ใช้จักรยานเกิดขึ้นทั่วประเทศ

ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้เห็นทั้งโอกาสหรือปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการส่งเสริมการใช้จักรยานและอุปสรรคหรือปัจจัยลบ เช่น การนำจักรยานใช้แล้วที่ยังมีคุณภาพดีจากญี่ปุ่นเข้ามาทำให้คนขี่จักรยานมากขึ้น ในขณะที่ผู้ใช้จักรยานหลายคนไม่กล้าออกมาขี่ถนนใหญ่หรือในยามค่ำเนื่องจากกลัวอันตรายจากรถสองแถวที่ขับรถแบบไม่เปิดทางไม่ให้โอกาสกับจักรยานเลย (ตรงนี้หลายคนเสริมว่ารถสองแถวทำเช่นนี้กับรถอื่นทุกประเภท ไม่เท่าแต่กับจักรยาน) ความจริงคนจำนวนมากมีจักรยานอยู่แล้ว จะเห็นได้จากการรณรงค์วันปลอดรถมีคนมาร่วมงานมากมาย ถ้าแก้ไขให้คนรู้สึกว่าปลอดภัย ก็จะออกมาขี่จักรยานกันมาก เด็กใช้จักรยานไปโรงเรียนได้เลย

ประเด็นหนึ่งที่มีการคุยกันกว้างขวางคือการขี่จักรยานไปโรงเรียน ข้าราชการท่านหนึ่งกล่าวว่าประสบความสำเร็จในชีวิตราชการมาได้จากการขี่จักรยาน โรงเรียนที่เคยเรียน(ขณะนี้ถูกยุบไปแล้ว)บังคับให้ใช้แต่จักรยานเท่านั้น ไม่ให้ใช้จักรยานยนต์ ได้สร้างนิสัยการใช้จักรยาน จึงคิดว่าการส่งเสริมจักรยานในโรงเรียนอาจทำได้ด้วยการเอาระบบวินัยเข้ามาใช้พร้อมกับการให้ความดีความชอบ ซึ่งความเห็นนี้ได้รับการสนับสนุนจากรองผู้อำนวยการโรงเรียนเขลางค์นคร ซึ่งมีเด็กนักเรียนราว 2,000 คน ขณะนี้มีไม่กี่คนที่ขี่จักรยานมาโรงเรียน ทั้งที่เส้นทางมาโรงเรียนบางเส้นเลียบคลองมีต้นไม้ร่มรื่น โรงเรียนมีพื้นที่กว้างขวางถึง 250 ไร่ เหมาะกับการใช้จักรยาน แต่มีครูบางคนใช้จักรยานยนต์ คิดว่าที่โรงเรียนน่าจะส่งเสริมการใช้จักรยานได้ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติครู ส่วนนักเรียนก็มีการประชาสัมพันธ์ ให้สิทธิพิเศษมีที่จอดให้สะดวกติดอาคารเรียน ทั้งเป็นการทำให้โรงเรียนเป็น “โรงเรียนสีเขียว” ด้วย

ในเรื่องนี้มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นเสริมที่น่าสนใจหลายคน เช่น คนหนึ่งแนะว่าอาจจะเริ่มที่ผู้นำหรือแกนนักเรียนชวนกันมาขี่เป็นทีมให้เกิดกระแส และทำวิจัยการขี่จักรยานไปโรงเรียนของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ส่วนอีกคนหนึ่งที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเปิดเผยว่า รถตู้ที่รับส่งเด็กไปโรงเรียนคิดคนละ 700 บาทต่อเดือนนั้น ร้อยละ 90 อยู่ในสภาพแย่มากทั้งต่อเติมเสริมที่นั่งผิดกฎหมายเป็นอันตราย น่าจะเป็นช่องทางให้แนะนำผู้ปกครองว่าเอาเงินที่จ่ายให้รถตู้มาซื้อจักรยานให้ลูกขี่ไปโรงเรียนจะดีกว่า

ผู้เข้าร่วมประชุมค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่า ที่ต้องทำเป็นหลักคือทำให้คนเห็นว่าขี่จักรยานดีอย่างไรและรณรงค์ให้ออกมาขี่จักรยานกันมากๆ ทำให้เห็นว่าการขี่จักรยานเป็นเรื่องปกติ ผลที่เกิดขึ้นจึงจะยั่งยืนไม่เป็นแค่กระแส การทำทางจักรยานโดยขาดการรณรงค์ให้คนขี่จักรยานจะล้มเหลวดังบทเรียนจากกรณีตัวเมืองตากซึ่งมีทางจักรยานดีมากแต่ไม่มีคนขี่และจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี สำหรับวิธีการรณรงค์ มีผู้เข้าร่วมแนะนำว่าน่าจะใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมซึ่งจะได้ทั้งข้อมูลและการรณรงค์ให้คนมาขี่จักรยานพร้อมกันไป แกนนำแต่ละคนควรจะชวนคนในครอบครัวมาใช้จักรยานและขยายออกไปถึงกลุ่มเพื่อน อีกคนแนะนำว่าให้ใช้วิธีการตรวจสุขภาพเป็นรายเดือน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการขี่จักรยานมีผลดีต่อสุขภาพอย่างไร มีการแจกประกาศนียบัตรให้รู้และรับรองว่าสุขภาพดีขึ้น เรื่องนี้ทางสาธารณสุขจังหวัดจะช่วยได้ นอกจากนั้นก็มีการชี้ให้เห็นการมีศูนย์ซ่อมจักรยานมาให้บริการก็เป็นเรื่องสำคัญ

ในท้ายสุดมีการสอบถามความเห็นของผู้เข้าร่วมว่ามีพื้นที่ใดที่แกนนำจะทำโครงการส่งเสริมการใช้จักรยานบ้าง พบว่ามีในอำเภอเมือง(ห้าตำบล) อำเภอเถิน อำเภอเมืองปาน และอำเภอห้างฉัตร และได้มีการทำความเข้าใจร่วมกันด้วยว่าเอกสารโครงการควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง โดยจะพยายามทำร่างโครงการให้เสร็จในเดือนเมษายนนี้

 

รายงานโดย กวิน ชุติมา 
เลขาธิการชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย

Comments

comments

Check Also

ระดมผู้เชี่ยวชาญช่วยเสริมพลังเมืองที่อยากเป็นมิตรกับการเดินและจักรยาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น